คลังย้ายอธิบดี “ยกแผง” จับตาเขย่าบอร์ดรัฐวิสาหกิจ

คลังย้ายอธิบดี “ยกแผง” จับตาเขย่าบอร์ดรัฐวิสาหกิจ

ตื่นเต้นเร้าใจคู่ขนานกันมากับโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็คือ โผแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงการคลัง ทั้งระดับซี 11 และระดับซี 10

อันเนื่องมาจาก เมื่อถึงสิ้นเดือนกันยายน 2566 นี้ คลังจะมีข้าราชการซี 10 และ ซี 11 เกษียณอายุรวมกันทั้งสิ้น 7 คน คนหนึ่งคือ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” ที่ล่าสุดเพิ่งลาออกไปก่อนครบวาระเกษียณ เพื่อไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ส่วนที่เหลือแม้ว่าส่วนใหญ่ที่เกษียณจะไม่ได้นั่งเก้าอี้อธิบดีอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ทำให้ต้องมีการขยับกันลอตใหญ่เลยทีเดียว

ทั้งนี้ แม้ว่าชื่อ “กฤษฎา” บนเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จะไปโผล่ในโควตา รทสช. แต่อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ก็จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และจะเป็นมือไม้สำคัญของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ที่นั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งด้วยภารกิจของนายกรัฐมนตรี คงจะไม่ค่อยมีเวลามาบริหารกระทรวงการคลังอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

โดย “กฤษฎา” นอกจากจะมีเหตุผลมาจากความเข้าใจงานกระทรวงการคลัง สามารถขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดีแล้ว อดีตปลัดป้ายแดงยังมี “เครือข่าย” ผู้บริหารบนแผงอธิบดี ที่พร้อมทำงานเป็นแขนเป็นขาให้อีกด้วย ซึ่งจะสะท้อนออกมาในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่คาดว่าการเสนอชื่อให้ ครม. เห็นชอบ น่าจะเกิดขึ้นได้เร็วหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว

สำหรับตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังคนต่อไป ถูกวางตัวไว้แล้วว่าจะเป็น “ลวรณ แสงสนิท” อธิบดีกรมสรรพากร เพราะนอกจากจะเป็นลูกหม้อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นลูกน้องคลานตามกันมาของ “กฤษฎา” แล้ว ที่สำคัญ ยังรู้จักมักคุ้นกันดีกับ “นายกฯเศรษฐา” อีกด้วย

Advertisment

ขณะที่แคนดิเดตอย่าง “พชร อนันตศิลป์” อธิบดีกรมศุลกากร แม้จะมีคอนเน็กชั่นไม่ธรรมดาเช่นกัน แต่จะค่อนข้างเสียเปรียบ เมื่อมองไปในแผงผู้บริหารคลังระดับอธิบดี ที่ทั้งหมดแน่นแฟ้นอยู่กับ “กฤษฎา” และ “ลวรณ” มากกว่า

นอกจากนี้ คนกระทรวงการคลังทราบกันดีว่า “พชร” กับ “กฤษฎา” นั้น ทำงานด้วยกันไม่ได้ เพราะเส้นทางการเติบโตที่ต้องขับเคี่ยวกัน ทำให้มองหน้ากันลำบาก

ส่วนตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร ที่จะว่างลง ซึ่งตำแหน่งนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของกระทรวงการคลัง เพราะเป็นหน่วยจัดเก็บรายได้อันดับหนึ่ง เป็นไปได้สูงว่า “กฤษฎา” และ “ลวรณ” จะเลือกลูกน้องเก่าที่ สศค. ที่เติบโตตามกันมาอย่าง “กุลยา ตันติเตมิท” อธิบดีกรมบัญชีกลาง

อย่างไรก็ดี ยังมีแคนดิเดตที่น่าจับตา คือ “แพตริเซีย มงคลวนิช” ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งเป็นลูกหม้อกรมสรรพากร ก็ถือว่ามีความเป็นไปได้ แต่น้ำหนักจะไปทาง “กุลยา” มากกว่า และ “แพตริเซีย” จะถูกวางตัวไปเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลางแทน

Advertisment

ส่วนตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร คงต้องจับตาว่า “พชร” จะถูกย้าย “เข้ากรุ” ตามกระแสข่าวช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ ซึ่งก็มีโอกาสทั้งเป็นไปได้ และไม่ได้ เพราะทราบกันดีกว่า “พชร” นับว่าเป็น “สายแข็ง” อีกคนหนึ่งเลยทีเดียว และหากสุดท้าย หากไม่ได้อยู่ที่เดิม “พชร” อาจจะเลือกข้ามห้วยไปนั่งเป็น “ปลัดพลังงาน” ซึ่งก็มีโอกาส เพราะที่ผ่านมาก็มีคนกระทรวงการคลังข้ามห้วยไปนั่งเก้าอี้นี้มาแล้วถึง 2 ราย คนล่าสุด ที่เพิ่งเกษียณ ก็คือ “กุลิศ สมบัติศิริ”

ทั้งนี้ หาก “พชร” ไม่ได้อยู่ที่เดิม ก็จะเป็น “เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพสามิต จะเข้าป้ายเป็นอธิบดีกรมศุลกากรแทน ทยอยเก็บประสบการณ์-โปรไฟล์ให้ครบทั้ง 3 กรมจัดเก็บรายได้ เพราะยังอยู่ในเส้นทางมีโอกาสขึ้นสู่ตำแหน่งปลัดได้อีก และผู้ที่คาดว่าจะไปนั่งเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิตแทน ก็คือ “ธีรัชย์ อัตนวานิช” รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่เป็นลูกน้องเก่าแก่ของ “กฤษฎา” มาก่อน ที่จะมีการแยกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ออกจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังนั่นเอง

ด้านกรมธนารักษ์ “พรชัย ฐีระเวช” ผู้อำนวยการ สศค. และโฆษกกระทรวงการคลังในปัจจุบัน ยังต้องลุ้นว่าจะได้ไปนั่งแทน “จำเริญ โพธิยอด” อธิบดีกรมธนารักษ์ ที่เหลืออีก 1 ปีจะเกษียณหรือไม่ หากไม่ได้ก็อาจจะต้องอยู่ที่เดิมก่อน

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่ว่างลง เนื่องจาก “ปานทิพย์ ศรีพิมล” ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน จะเกษียณสิ้นเดือน ก.ย.นี้ คาดว่าจะได้ “ชาญวิทย์ นาคบุรี” ผู้ตรวจราชการกระทรวง ที่เป็นลูกหม้อ สคร. กลับมานั่งเก้าอี้นี้ก่อนเกษียณปีหน้า

นอกจากนี้ แน่นอนว่า หลังจากมี ครม. และโยกย้ายข้าราชการเรียบร้อยแล้ว ก็จะตามมาด้วยการจัดสรรโควตาเก้าอี้กรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ซึ่งจะต้องเกลี่ยโควตากันใหม่ ล่าสุด “กฤษฎา” ก็เพิ่งลาออกจากประธานกรรมการและกรรมการ ธนาคารกรุงไทย และต่อไป ก็คงจะขยับ “ลวรณ” ที่เป็นกรรมการอยู่แล้วขึ้นเป็นประธานบอร์ด

เช่นเดียวกับรัฐวิสาหกิจ “เกรดเอ” อื่น ๆ ก็ต้องจัดสรรกันใหม่ ไม่ว่าจะเป็น บมจ.ปตท., บมจ.บางจาก, บมจ.ท่าอากาศยานไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), บมจ.การบินไทย, สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ฯลฯ

ทั้งโควตาผู้แทนกระทรวงการคลัง และโควตาจากฝ่ายการเมืองที่อยู่ในรูปของกรรมการอิสระ… ฝุ่นตลบแน่นอน !