ดอลลาร์แข็งค่า ขานรับเฟดส่งสัญญาณ ขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้

dollar
REUTERS/Mohamed Azakir

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ขานรับเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง สู่ระดับ 5.1% ในช่วงสิ้นปี 2567

วันที่ 21 กันยายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/9) ที่ระดับ 36.30/32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (20/9) ที่ระดับ 36.06/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.30% อยู่ที่ระดับ 105.48

หลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเมื่อคืนนี้ (21/9) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 2565

เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้

ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (dot plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง สู่ระดับ 5.6% ภายในสิ้นปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งสู่ระดับ 5.1% ในช่วงสิ้นปี 2567 และแตะ 3.9% ในช่วงสิ้นปี 2568 ขณะที่แตะ 2.9% ในช่วงสิ้นปี 2569

ขณะที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 2.5% ส่วนการคาดการณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐนั้น เฟดปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวสู่ระดับ 2.1% ในปี 2566 จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 1.0% และคาดว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว 1.5% 1.8% และ 1.8% ในปี 2567 2568 และ 2569 ตามลำดับ ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8%

นอกจากนี้ เฟดปรับลดคาดการณ์อัตราว่างงานสู่ระดับ 3.8% ในปีนี้ และอยู่ที่ 4.1% ทั้งในปี 2567 และ 2568 ส่วนในปี 2569 อยู่ที่ระดับ 4.0% ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.0% ส่วนการคาดการณ์เกี่ยวกับเงินเฟ้อนั้น เฟดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสู่ระดับ 3.7% ในปี 2566 และอยู่ที่ 2.6% และ 2.3% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ส่วนในปี 2569 อยู่ที่ระดับ 2.0%

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผย สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 2.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 700,000 บาร์เรล ส่วนสต๊อกน้ำมันเบนซินลดลง 800,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 2.9 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 91 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปรับตัวลงหลังเฟดส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาดน้ำมันบดบังปัจจัยบวกจากรายงานสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐ ที่ลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว

ทั้งนี้ระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 36.07-36.31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ADB คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3.5%

สำหรับปัจจัยในภูมิภาค ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 3.5% ในปีนี้ หลังจากเดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.3% อย่างไรก็ดี ADB ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียลงสู่ระดับ 4.7% ในปี 2566 จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.8%

โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียประกอบด้วย 46 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย แต่ไม่รวมญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อย่างไรก็ดี ADB ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียในปี 2567 ขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 4.8% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.7% ADB ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2566

โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนและอินเดียจะขยายตัว 4.9% และ 6.3% ในปีนี้ตามลำดับ ซึ่งลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 5.0% และ 6.4% ตามลำดับ แต่ได้คงตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจจีนและอินเดียในปี 2567 ไว้ที่ 4.5% และ 6.7% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ADB ระบุในรายงานว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนทำให้เศรษฐกิจเอเชียมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับช่วงขาลงและอาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/9) ที่ระดับ 1.06.30/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (20/9) ที่ระดับ 1.0697/1.0701 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.061-1.0664 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0656/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (21/9) ที่ระดับ 148.43/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (20/9) ที่ 147.98/148 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันนี้ (21/9) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะเริ่มการประชุมนโยบายการเงิน

ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า คณะกรรมการ BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษ (Ultralow Rates) ในการประชุมครั้งนี้เพื่อประเมินพัฒนาการของเศรษฐกิจและตลาดการเงิน นับตั้งแต่ที่ BOJ ได้ทำการปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.25/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (21/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (EIA) (21/9), ดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาส 2/2566 ของสหรัฐ (21/9), ดัชนีการผลิตเดือนกันยายนจากเฟดฟิลาเดลเฟียของสหรัฐ, ยอดขายบ้านมือสองเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (21/9) และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนสิงหาคมจาก Conference Board ของสหรัฐ (21/9) และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนสิงหาคมจาก Conference Board ของสหรัฐ (21/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.85/9.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.5/4.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ