นายกฯเรียกผู้ว่าการ ธปท. หารือวันจันทร์นี้ หลังขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

“เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าการ ธปท. เผยนายกฯนัดคุยวันที่ 2 ต.ค. 66 หลังมีกระแสข่าวเรื่องการปรับดอกเบี้ย พร้อมตอบทุกคำถาม ยันนโยบายการเงิน 2.50% ถือเป็นระดับเหมาะสมกับศักยภาพเศรษฐกิจระยะยาว เข้าสู่ Neutral Rate

วันที่ 29 กันยายน 2566 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่มีข่าวนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นัดพบหลังจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 27 กันยายน 2566 จากระดับ 2.25% เป็น 2.50% ต่อปีที่ผ่านมานั้น ซึ่งนายกฯ มีการนัดพบจริงในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 นี้ อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถบอกได้ว่า นายกฯจะมีการพูดคุยในเรื่องอะไร แต่พร้อมจะตอบทุกคำถาม

“ท่านนายกฯนัดพบจริง ซึ่งจะนัดกันวันจันทร์ที่ 2 ต.ค.นี้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะมีการพูดคุยเรื่องอะไร หรือถามอะไร แต่ก็พร้อมตอบทุกคำถาม”

นายเศรษฐพุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ ธปท.พยายามจะสื่อสารมาโดยตลอดในเรื่องของการดำเนินนโยบายการเงิน จะแบ่งเป็น 2 เฟสคือ 1.Smooth Take off การดำเนินนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่ให้สะดุด จึงจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะถ้าไม่ขึ้นจะไม่สามารถยึดเหนี่ยวอยู่ และหากปล่อยไปมีการคาดการณ์เงินเฟ้อจะยิ่งกระทบต่อความเป็นอยู่ของคน ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า “Gradual and Measured” หรือการปรับทิศทางนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อรักษา Smooth Take off

และหลังจากนั้น โจทย์มีการเปลี่ยนไปเข้าสู่ เฟส 2.Landing การดำเนินนโยบายเข้าสู่สมดุลหรือเหมาะสมศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยเป็นการถอนคันเร่ง แต่ไม่ใช่การเหยียบเบรก จึงเป็นการถอนคำว่า “Gradual and Measured” และไม่ได้ดูแค่ปัจจัยระยะสั้น แต่ดูอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมระยะยาว หรือการเข้าสู่ Neutral Rate เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจระยะยาว

Advertisment

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินจะดูให้สอดคล้องระยะยาว ภายใต้ 3 ปัจจัยหลักคือ 1.เศรษฐกิจเติบโตตามศักยภาพ 3-4% และ 2.อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบอย่างยั่งยืน 1-3% และ 3.ไม่สร้างความไม่สมดุลทางด้านการเงิน เพราะดอกเบี้ยต่ำมานาน และสร้างพฤติการณ์แสวงหาผลตอบแทน (Search for Yield) และการก่อหนี้ครัวเรือนระดับสูง

“อาจจะเกิดคำว่าจีดีพีลดลง แต่ทำไม ธปท.ขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเราจำเป็นต้องดูเรื่องระยะยาวที่ใช้คำว่า ทำนโยบายการเงินคำนึงถึงเรื่องระยะข้างหน้า เพราะนโยบายการเงินจะมีผลต้องใช้เวลา เป็น Outlook Dependent ไม่ใช่ Data Dependent เพื่อดูภาพข้างหน้า เพราะ Data Dependent จะมีเสียงรบกวน และข้อมูลจะล่าช้า ซึ่งหากดู Statement จะเขียนค่อนข้างชัดว่า นโยบายการเงินที่ผ่านมาจนถึงวันนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือ Pause for White เป็นการพักดอกเบี้ยระยะหนึ่ง เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ และเป็นระดับ Neutral Rate ที่พูดมาโดยตลอด”