รัฐบาลยก 5 เหตุผล แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต่างจากมาตรการกระตุ้นในอดีต

เงินดิจิทัลวอลเล็ต
ภาพจาก Canva

“เผ่าภูมิ” เลขานุการ รมว.คลัง แจงนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ต่างจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอดีต ลั่นไม่สามารถนำบทวิจัยในอดีตมาประเมินได้

วันที่ 10 ตุลาคม 2566 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากที่มีข้อทักท้วงเกี่ยวกับนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ขอชี้แจงในเชิงวิชาการเพื่อให้เกิดความเข้าใจคือ

1.การเติมเงินในลักษณะนี้ ไม่เหมือนครั้งก่อนในอดีต เพราะครั้งนี้เป็นการเติมเงินที่มีเงื่อนไข แต่อดีตไม่มีเงื่อนไข จึงเปรียบเทียบไม่ได้ในแง่ของมิติผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยการใส่เงื่อนไขรัศมีการใช้งาน กรอบระยะเวลา และ ร้านค้าที่ต้องอยู่ในระบบภาษี ก็เพื่อที่จะให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจในเชิงบวกมากกว่าการกระจายเม็ดเงินแบบเดิม ๆ

นอกจากนี้ การจ่ายเงินในลักษณะนี้ยังทำในมิติของดิจิทัล ที่ไม่ใช่อนาล็อกแบบในอดีต หมายถึงมีความง่ายกว่า เร็วกว่า ปลอดภัยสูงกว่า และมีการทำธุรกรรมที่ง่ายและเร็วกว่า จึงเป็นข้อแตกต่างที่ไม่สามารถนำตัวเลขในอดีต หรือบทวิจัยในอดีตมาประเมินผลกระทบในเชิงบวกของเศรษฐกิจได้

Advertisment

2.การกระจายเม็ดเงินในลักษณะนี้เป็นเม็ดเงินที่สูง 10,000 บาทต่อคน ซึ่งแตกต่างจากการแจกเงินกะปริบกะปรอยในช่วงที่ผ่านมา

3.โครงการนี้เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งนำประเทศไปสู่ Digital Economy ที่มีมูลค่ามหาศาล โดยรัฐบาลมองไปถึงการสร้าง Super application ที่จะรวบรวมความสะดวกต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นรัฐบาลดิจิทัลให้เกิดขึ้น

4.ดิจิทัล วอลเลต ไม่ใช่โครงการเดียวของรัฐบาล แต่จะมีตามอีกหลายมาตรการ ทั้งในเรื่องการดึงดูดนักลงทุน ดึงดูดการลงทุน ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคการบริการสมัยใหม่ ที่จะได้ผลกระทบจากกำลังซื้อที่สูงขึ้น จากดิจิทัลวอลเลต

5.ความแตกต่างเรื่องของเสถียรภาพกับศักยภาพ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยโตแบบเสถียรภาพ แต่โตต่ำและไม่เพียงพอ จนมีคำพูดในทางวิชาการว่า ไทยอาจโตไม่เพียงพอ จนมีปัญหาทางด้านสวัสดิการผู้สูงอายุในระยะยาว

Advertisment

“คำถามคือไทยจะโตแบบนี้จริง ๆ หรือ เพราะฉะนั้นจึงเป็นแนวคิดใหม่ ที่ประเทศไทยจะโตอย่างมีศักยภาพ พร้อม ๆ กับเสถียรภาพ” นายเผ่าภูมิกล่าว