คลังถกโจทย์ยากพักหนี้ SMEs มติ ครม.ส่อไม่ครอบคลุมถึง “NPLโควิด“

พักหนี้

“จุลพันธ์” ถกคณะทำงานแก้หนี้ เดินหน้าพักหนี้เอสเอ็มอี 1 ปี นัดแรก เจอโจทย์ยาก เหตุยังไม่ชัดเจนเรื่องปมแก้หนี้เสียโควิด รหัส 21 สั่ง สศค. คุยนอกรอบรวบรวมตัวเลขแต่ละแบงก์ วงในชี้คลังต้องสร้างความชัดเจนว่ามติ ครม. ครอบคลุม “รหัส 21” หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการประชุมคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 1/2566

ซึ่งมีตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) เข้าร่วม

แหล่งข่าวจากผู้เข้าร่วมประชุมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้การพักหนี้เอสเอ็มอี ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการขยายไปถึงเรื่องการช่วยเหลือลูกหนี้รหัส 21 (หนี้เสียจากโควิด-19) ด้วย

จากเดิมที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 เห็นชอบไว้เพียงแต่ว่า ให้ดำเนินโครงการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี และพักหนี้เอสเอ็มอี 1 ปี ดังนั้น ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะต้องไปหารือนอกรอบ เพื่อให้แต่ละแบงก์ไปทำตัวเลขมาให้ชัดเจนก่อน

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

“เจตนาของมติ ครม. วันที่ 13 ก.ย. คือ ต้องการให้พักหนี้เกษตรกร 3 ปี ซึ่งทำไปแล้ว และพักหนี้เอสเอ็มอี 1 ปี แต่ตอนนี้บานปลายไปถึงลูกหนี้รหัส 21 ด้วย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ช่วงโควิด ดังนั้นจึงต้องกลับไปดูว่า แต่ละแบงก์มียอดตรงนี้เท่าไหร่กันบ้าง

ซึ่งอาจจะต้องแยกการดูแลพักหนี้ให้เอสเอ็มอี กับการช่วยลูกหนี้รหัส 21 ออกจากกัน เพราะถ้าจะเอาหมด จะต้องดูว่ามติ ครม.ครอบคลุมหรือไม่ หรือทำได้เลย ตรงนี้กระทรวงการคลังต้องสรุปให้ชัดเจน” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ลูกหนี้รหัส 21 ยังมีลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ด้วย ซึ่งแบงก์ไม่อยากให้มีการพักหนี้แล้ว เพราะที่ผ่านมาก็ได้ปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการของ ธปท.มาอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า มาตรการฟ้า-ส้ม

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการพูดถึงตัวเลขลูกหนี้รหัส 21 ว่ามีอยู่ประมาณ 3 ล้านราย วงเงินสินเชื่อประมาณ 3 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยอดหนี้เสียยังไหลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่าจะทะลุ 5 ล้านล้านบาท

โดยมีการคาดการณ์จากข้อมูลของเครดิตบูโร คาดว่าภายในไตรมาสที่ 3/2566 น่าจะเห็นเป็นหนี้เสียส่วนนี้เพิ่มขึ้นทะลุ 5 ล้านบัญชี หรือราว 4 แสนล้านบาท จากไตรมาส 2/2566 ที่อยู่ที่ 4.9 ล้านบัญชี หรือราว 3.7 แสนล้านบาท

ขณะที่นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต ได้มีการออกประกาศ “การสิ้นสุดการใช้รหัสสถานะบัญชี 21 และ 021 กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” โดยเป็นการ “ยุติการใช้รหัสหนี้เสีย 21” ตั้งแต่หลังเดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า หลังจากพักหนี้เกษตรกรแล้ว รัฐบาลจะพิจารณาช่วยเหลือกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการพักหนี้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หนี้รถ รวมถึงหนี้ส่วนตัว จะค่อย ๆ มีนโยบายออกมา เพื่อดูแลปัญหาปากท้องของประชาชน

ฟาก “ออมสิน” เดินหน้าออกมาตรการ “พักหนี้เงินต้น” พร้อมเปิดทางเลือกจ่ายดอกเบี้ย 25-100% อุ้มลูกหนี้เจอผลกระทบโควิด เปิดให้แจ้งความประสงค์เข้าโครงการถึง 30 ธ.ค.นี้

ล่าสุดรายงานจากธนาคารออมสินแจ้งว่า เพื่อเป็นการขานรับนโยบายตามที่รัฐบาลมอบหมายให้ทุกภาคส่วนเร่งช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน ธนาคารจึงได้จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันนวมินทรมหาราช วันที่ 13 ต.ค. 2566

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล

โดยออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ประสบปัญหาการผ่อนชำระ และลูกหนี้บางส่วนที่มีสถานะเป็น NPLs จากผลกระทบดังกล่าว โดยจะเปิดให้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. ไปจนถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2566

ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขหนี้ดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยสินเชื่อธนาคารออมสิน ด้วยการให้พักชำระเงินต้น และมีทางเลือกจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่ 25-100% แล้วแต่กรณี ตามเงื่อนไขธนาคารและสถานะของลูกหนี้
แต่ละราย เมื่อสามารถผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไขของมาตรการ ธนาคารจะยกเว้นดอกเบี้ยค้างชำระก่อนเข้ามาตรการให้

รวมถึงลูกหนี้ที่มีสถานะ NPLs อยู่ก่อนวันที่ 30 ธ.ค. 2565 ธนาคารจะชะลอกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยไม่ฟ้อง ไม่ยึดทรัพย์ ไม่ขายทอดตลาด 
และไม่ฟ้องล้มละลาย แล้วแต่กรณี โดยให้ผ่อนชำระได้สูงสุด 10 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษตามเงื่อนไขธนาคาร

โดยลูกหนี้ที่ประสงค์เข้าร่วมมาตรการ ต้องติดต่อธนาคารออมสินสาขาเจ้าของบัญชีเงินกู้ หรือสาขาที่สะดวกได้ถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2566