พักหนี้ แค่แก้ระยะสั้น ? “เช่าซื้อ” ลุยปรับโครงสร้างแทนยึดรถ

หนี้เสียพุ่ง

หนี้เสียรถยนต์เป็นอีกหนึ่งต้นตอที่สำคัญของปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยช่วงที่ผ่านมา สินเชื่อรถยนต์มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก รวมถึงหนี้ที่ค้างชำระ 1-3 เดือน ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ทำให้บรรดาธนาคารและผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ต้องหาทางรับมือแก้ปัญหาตรงนี้ ซึ่งระยะหลังจะเห็นการเข้มงวดปล่อยสินเชื่อมากขึ้นด้วย

“ศรัณย์ ทองธรรมชาติ” ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยกล่าวว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ของสินเชื่อเช่าซื้อยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ฟื้นตัวในเฉพาะภาคบริการและท่องเที่ยวเท่านั้น ส่งผลต่อกำลังซื้อและรายได้ของคนที่ยังไม่กลับมาเต็มที่ กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

ทำให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อเร่งดำเนินนโยบายการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก เพื่อป้องกันไม่ให้ SM ไหลเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารถเช่า หรือรถยนต์ที่ใช้ในกิจการ (fleet finance) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทนิติบุคคล มีการใช้วงเงินซื้อรถจำนวนมาก จึงเห็นสัญญาณเร่งปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น

“จะเห็นว่าสัญญาณการปรับโครงสร้างหนี้ยังมีต่อเนื่อง เพราะทุกคนไม่อยากให้ลูกหนี้ไหลเป็นเอ็นพีแอล ช่วงนี้เราจะเห็นผู้ประกอบการเร่งปรับโครงสร้างในกลุ่ม fleet ค่อนข้างเยอะ เพราะถ้าเสียจะเสียหายในพอร์ตเยอะ ถ้าปล่อยให้เป็นหนี้เสียแล้วไปยึดรถจะขาดทุน

เนื่องจากขายไม่ได้ราคา ขณะที่กลุ่มลูกค้ารายย่อยจะเป็นการปรับโครงสร้างเป็นรายกรณี แต่ยังคงทำต่อเนื่อง ส่วนที่มีข่าวว่าภาครัฐจะให้พักหนี้กลุ่มรถยนต์ คงต้องดูว่าจะมีการชดเชยอย่างไร”

ปรับโครงสร้างหนี้แทนยึดรถ

ขณะที่ “เตชินท์ ดุลยฤทธิรงค์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ธนาคารมีนโยบายในการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกมากขึ้น ซึ่งจากเดิมจะเป็นการยึดรถ แต่ปัจจุบันหากลูกค้ายังพอชำระหนี้ไหว และต้องการเก็บรักษารถไว้ ธนาคารจะปรับโครงสร้างหนี้ให้ เช่น เดิมลูกค้าผ่อน 1 หมื่นบาทต่อเดือน อาจเหลือ 7,000 บาท เพื่อให้ผ่อนสบายและยืดหยุ่นมากขึ้น

โดยปัจจุบัน ณ ไตรมาสที่ 2/2566 ธนาคารได้ปรับโครงสร้างหนี้สินเชื่อรายย่อย (รถยนต์ บ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล) ไปแล้วกว่า 4% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยที่อยู่ที่ 2.72 แสนล้านบาท เพื่อลดเอ็นพีแอลจากไตรมาสที่ 2/2566 ที่อยู่ที่ 3%

สำหรับนโยบายการพักหนี้รถยนต์ มองว่าจะเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่การปรับโครงสร้างหนี้น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า ประกอบกับการพักหนี้จะกระทบสถาบันการเงิน เพราะมีต้นทุนในการบริหารจัดการ หากหยุดรับรู้รายได้จะกระทบระบบได้

“เราจะปรับโครงสร้างแบบ pro active มากขึ้น ถ้าลูกค้ายังพอไหวและอยากเก็บรถไว้ เราจะปรับให้ค่างวดผ่อนสบายขึ้น ซึ่งแนวโน้มการปรับโครงสร้างจะมีมากขึ้น เพราะเรามองว่าการปรับโครงสร้างเป็นการช่วยเหลือลูกค้าตลอดรอดฝั่งมากกว่าการพักหนี้”

“คงสิน คงคา” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กรุงศรี ออโต้ ยังเห็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยยังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือในพอร์ตสินเชื่อไปแล้วกว่า 7.85 แสนราย และยังคงมีมาตรการช่วยเหลือเชิงรุกผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ ลดค่างวด หรือลดอัตราดอกเบี้ย และโซลูชั่นเฉพาะเจาะจงตามปัญหาของแต่ละกลุ่ม

“เรายังเห็นความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตโควิด-19 เราจึงมีมาตรการช่วยเหลือเชิงรุกและยั่งยืนผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ จากการที่ภาครัฐมีแผนต้องการขยายมาตรการพักชำระหนี้ให้ครอบคลุมถึงธุรกิจเช่าซื้อรถ กรุงศรี ออโต้ พร้อมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของหน่วยงานกำกับดูแล และ ธปท.อย่างเคร่งครัด”

แบงก์คุมคุณภาพหนี้ 3 ปี

ด้าน “ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมการปรับโครงสร้างหนี้ และการตัดขายหนี้ของระบบธนาคารพาณิชย์ยังเป็นภาพต่อเนื่องในช่วง 1-3 ปีหลังจากนี้ ซึ่งเป็นวิธีการบริหารจัดการหนี้ และการรักษาคุณภาพหนี้ เพราะปัญหายังไม่ได้หมดไป ทำให้ภาพการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารไม่ได้ลดลงเร็ว

“การปรับโครงสร้างหนี้เป็นวิธีการที่ธนาคารทำค่อนข้างเยอะในช่วงที่ผ่านมา โดยในปี 2565 ธนาคารมีการปรับโครงสร้างไปแล้วกว่า 1.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 อยู่ที่ 9.15 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้สูงกว่าสถานการณ์ปกติ

และในปี 2566 ยังคงเห็นการปรับโครงสร้างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปีมีการปรับโครงสร้างไปแล้วกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท และแนวโน้มจะมีการปรับโครงสร้างเยอะขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการเร่งทำเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือกำลังจะครบกำหนด”

ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปีจะมีการปรับโครงสร้างอยู่ที่ระดับ 9 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท แม้ว่าตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้จะย่อตัวลงจากปี 2565 แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงสถานการณ์ปกติ

โดยในส่วนของการปรับโครงสร้างหนี้สินเชื่อรายย่อย พบว่ามีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2564 มีการปรับโครงสร้างอยู่ที่ 2.81 หมื่นล้านบาท และในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 3.47 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ปรับโครงสร้างไปแล้วกว่า 1.32 หมื่นล้านบาท

“พักหนี้รถยนต์” ไม่ตอบโจทย์

อย่างไรก็ดี กรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดพักชำระหนี้กลุ่มเช่าซื้อรถยนต์ มองว่า หากไม่มีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยรองรับ เช่น การจัดชั้นหนี้ เป็นต้น เชื่อว่ากลุ่มสถาบันการเงิน ทั้งในส่วนธนาคารพาณิชย์และน็อนแบงก์อาจได้รับผลกระทบ เนื่องจากหยุดการรับรู้รายได้ของธุรกิจ

“กลุ่มลูกหนี้รหัส 21 เป็นอีก 1 ในตัวอย่างเรื่องของโจทย์คุณภาพสินเชื่อที่ไม่ดีขึ้น แต่เราคงไม่ได้เห็นหนี้เสียจนกลายเป็นหน้าผาเอ็นพีแอล เพราะหนี้เสียยังอยู่ในกรอบ 3% โดยหนี้รหัส 21 คิดเป็นประมาณ 1% ของหนี้ 3% จึงไม่ใช่ทั้งหมด แต่หนี้รหัส 21 เป็นตัวหนึ่งที่ต้องมอง ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ก็เป็นวิธีการจะช่วยให้ลูกหนี้หายใจได้ และยังเป็นสิ่งที่แบงก์ยังทำต่อเนื่องหลังจากนี้ไปอีก” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าว