BITE SIZE : พักหนี้เกษตรกร 2566 พักต้น-ดอก 3 ปี แถมกู้เพิ่มได้

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

มาตรการพักหนี้เกษตรกรรอบใหม่ เป็นหนึ่งในมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลเศรษฐา และได้ผ่านการเห็นชอบเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเป็นการพักหนี้ให้กับเกษตรกร เป็นเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

แต่เงื่อนไขการพักหนี้ครั้งนี้ มีรายละเอียดหลายอย่างที่เปลี่ยนไป เพราะเกษตรกรไทยที่เข้าร่วมมาตรการพักหนี้รอบนี้ เรียกว่าได้ 2 เด้ง ทั้งการพักหนี้ 3 ปี และสามารถกู้เพิ่มได้ระหว่างการพักหนี้

Prachachat BITE SIZE สรุปทุกเรื่องสำคัญที่ควรรู้ ก่อนลงทะเบียนร่วมมาตรการพักหนี้เกษตรกร

ที่มาที่ไป “พักหนี้เกษตรกร” รอบใหม่

การพักหนี้เกษตรกร เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย มีเป้าหมายเพื่อลดภาระในการทำมาหากินของเกษตรกร มุ่งสร้างรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มขึ้น 3 เท่าภายใน 4 ปี ผ่านหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”

และทันทีที่พรรคเพื่อไทยได้ขึ้นมาเป็นแกนนำรัฐบาล ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะผลักดันทันที พร้อม ๆ กับการลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมัน และการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรไทยได้รับการพักหนี้มาแล้ว 13 ครั้ง ในช่วง 9 ปี ซึ่งพักหนี้ได้ก็จริง แต่เกษตรกร ไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะชำระหนี้ แถมรายจ่ายปาดหน้าแซงไปเยอะมาก ทำให้เกิดหนี้สะสมเรื้อรัง

สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้คิดใหม่ ในการพักหนี้ครั้งนี้ จึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการ สามารถกู้เพิ่ม เพื่อนำไปสร้างรายได้เพิ่ม และมีศักยภาพเพียงพอในการชำระหนี้เก่า

เปิดเงื่อนไข “พักหนี้เกษตรกร”

มาตรการพักหนี้เกษตรกร ในครั้งนี้ ให้สิทธิกับเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. ทุกคนที่มีหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ไม่เกิน 300,000 บาท และมีรายละเอียดอื่น ๆ สรุปได้ดังนี้

  • เป็นลูกหนี้รายคน (เกษตรกรและบุคคล)
  • มีต้นเงินเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท
  • มีสถานะเป็นหนี้ปกติ และหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0-3 เดือน และหนี้ NPL)
  • สัญญาเงินกู้ที่ไม่สามารถร่วมมาตรการได้ ดังนี้
    • สัญญาเงินกู้ตามโครงการนโยบายรัฐ / สัญญาเงินกู้ที่ไม่ใช่แหล่งเงินทุนธนาคาร
    • สัญญาเงินกู้ OD (Over Draft) P/N (ตั๋วสัญญาใช้เงิน) หรือสัญญาเงินกู้ตามข้อบังคับ ธ.ก.ส. ฉบับที่ 35
    • สัญญาเงินกู้ที่อยู่ในโครงการที่ได้รับการช่วยเหลือ หรือมีเงื่อนไขพิเศษตามมาตรการอื่น

หากอ้างอิงตามเงื่อนไขเหล่านี้ เท่ากับว่าจะมีเกษตรกรและบุคคลที่สามารถร่วมโครงการนี้ได้ จำนวน 2.698 ล้านราย รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท และจากจำนวนดังกล่าว เป็นลูกหนี้ NPL ประมาณ 6 แสนราย มูลหนี้รวม 3.6 หมื่นล้านบาท

ส่วนการเข้าร่วมโครงการ จะเป็นแบบสมัครใจ โดยลงทะเบียนตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566-31 มกราคม 2567 ผ่านแอป BAAC Mobile ของ ธ.ก.ส. หรือกรณีที่เกษตรกรไม่สะดวกลงทะเบียนด้วยตนเอง สามารถติดต่อแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการที่สาขาใกล้บ้านทั่วประเทศ โดยพนักงานจะอำนวยความสะดวกในการแจ้งความประสงค์ผ่าน BAAC Mobile เพื่อเข้าสู่ระบบการประมวลผลและตรวจสอบสิทธิ์เช่นเดียวกัน

เกษตรกรพักหนี้ กู้เพิ่มได้

การพักหนี้เกษตรกรในรอบนี้ มีรูปแบบการพักหนี้ที่เปลี่ยนไป โดยการพักหนี้ครั้งนี้ จะเริ่มพักหนี้ก่อนเป็นเวลา 1 ปี จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2567 จากนั้นจะสำรวจลูกค้าและต่อสัญญาการพักหนี้แบบปีต่อปี พร้อมทั้งประเมินผลโครงการ เพื่อปรับปรุงโครงการระยะต่อ ๆ ไป

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดของการตัดหนี้เมื่อผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ชำระหนี้ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีลูกหนี้สถานะปกติ

หากจ่ายหนี้ระหว่างร่วมการพักหนี้ ธ.ก.ส. จะนำเงินไปตัดหนี้สัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง แบ่งเป็น เงินต้นครึ่งหนึ่ง และดอกเบี้ยอีกครึ่งหนึ่ง

กรณีลูกหนี้สถานะหนี้เสีย (NPL)

หากลูกค้ากลุ่มนี้เข้าร่วมโครงการ และสามารถชำระเงินได้ ธ.ก.ส. จะทำการตัดเงินต้นให้ 100% เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับลูกหนี้

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถกู้เพิ่มได้ ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ (Extended Loan) โดยให้กู้เพิ่มรายละไม่เกิน 1 แสนบาท และอัตราดอกเบี้ยต่ำ

สำหรับเกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ประมาณ 3 แสนราย และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาศักยภาพ โดยการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ ซึ่งมีงบประมาณตรงนี้ 1 พันล้านบาท

แล้วรัฐบาลจะต้องจ่ายอะไรสำหรับมาตรการนี้ ? รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เข้าร่วมมาตรการในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี คิดเป็นตัวเลขงบประมาณอยู่ที่ 11,096 ล้านบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ลูกค้าที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้อีกประมาณ 40% ธ.ก.ส.จะมีโครงการพิเศษ หรือมาตรการเพิ่มเติม เช่น มาตรการช่วยเหลือเกี่ยวกับผลกระทบทางภัยธรรมชาติ หรือลูกค้าชั้นดี จะมีมาตรการแรงจูงใจ (incentive) ให้ลูกค้า เช่น ชำระดีมีโชค เป็นต้น

ออกจากการพักหนี้ ไม่ต้องรอ 3 ปีได้

การพักหนี้เกษตรกร สามารถเข้าแล้วออกได้ ก่อนเวลา 3 ปี โดยจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

1) ต้องเป็นลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี
2) ลูกหนี้ที่ประสงค์จะใช้บริการสินเชื่อตามปกติกับ ธ.ก.ส.

สำหรับ 2 กรณีดังกล่าว สามารถแจ้งความประสงค์ต่อ ธ.ก.ส. ได้ตามช่องทางที่กำหนด โดยหากเป็นกรณีที่ 2 จะต้องสละสิทธิการเข้าร่วมมาตรการก่อนการยื่นขอสินเชื่อ ซึ่งจะได้รับการพิจารณาวงเงินตามศักยภาพ

แต่หากกรณีลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการ เช่น ไม่เข้าร่วมการประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ประจำปี หรือไม่เข้าร่วมการอบรมและฟื้นฟูการประกอบอาชีพที่ ธ.ก.ส. กำหนด หรือก่อภาระหนี้เพิ่มขึ้นกับสถาบันการเงินอื่นระหว่างเข้าร่วมมาตรการ จะถูกพิจารณาให้ออกจากมาตรการดังกล่าวทันที

ติดตามกันต่อไปว่า 1 ปีข้างหน้าหลังจากเริ่มการพักหนี้เกษตรกรรอบใหม่ จะประสบความสำเร็จและช่วยเกษตรกรได้มาก-น้อยขนาดไหน

ชมรายการ Prachachat BITE SIZE EP.22 ได้ที่ https://youtu.be/EQQJ4Z4TDkA