BITE SIZE : รู้จัก “หนี้เรื้อรัง” หนี้ที่หาทางมูฟออนไม่ได้

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

“หนี้ครัวเรือน” โจทย์ใหญ่ของแบงก์ชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงิน และกำลังหาทางแก้ไขเร่งด่วน ทั้งการแก้ปัญหาหนี้เก่า และกำกับดูแล

หนึ่งในปัญหาสำคัญของหนี้ครัวเรือนที่ต้องแก้ปัญหา คือปัญหา “หนี้เรื้อรัง” ซึ่งเป็นปัญหาหนี้ที่กระทบในเชิงรายได้ และทำให้การปิดจบหนี้นั้น หาทางปิดไม่ได้ หรือหาทางปิดได้ยาก

หนี้เรื้อรัง คืออะไร?

หนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) คือหนี้ที่ยังมีสถานะปกติ ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่ปัญหาคือ หาทางปิดจบหนี้ไม่ได้ เช่น กู้หนี้ใหม่ไปปิดหนี้เก่า จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น จ่ายหนี้แบบขั้นต่ำมาตลอด หรือที่เรียกว่า “ภาวะดอกท่วมต้น” และไม่มีวันสิ้นสุด

โดยเป้าหมายหลักของแบงก์ชาติ ที่จะแก้ปัญหาหนี้กลุ่มนี้ เพื่อให้ลูกหนี้เรื้อรังสามารถปิดหนี้ได้เร็วขึ้น และมีเงินเหลือใช้ ผ่านการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มหนี้เรื้อรัง

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลจากสถาบันการเงินโดยคร่าว ๆ พบว่ามีลูกหนี้เข้าข่ายหนี้เรื้อรังราว 5 แสนบัญชี จากจำนวนสินเชื่อบุคคลภายใต้กำกับของ ธปท. ณ เดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 16.67 ล้านบัญชี

ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

แก้หนี้เรื้อรัง 2 กลุ่ม

สำหรับมาตรการที่จะเกิดขึ้นนี้ คุณสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการดูแลหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt : PD) จะแบ่งกลุ่มลูกหนี้เรื้อรังเป็น 2 ประเภท ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่มีสัญญาณเป็นเรื้อรัง (General PD)

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นย้อนหลัง 3 ปี (นับตั้งแต่ 1 เม.ย. 67) โดยธนาคารหรือเจ้าหนี้ จะส่งข้อความแจ้งเตือนลูกหนี้ที่เป็น General PD ว่า มีสัญญาณหนี้เรื้อรัง แนะนำให้ชำระหนี้ต่อเดือนมากขึ้น เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและปิดจบหนี้เร็วขึ้น

กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้เรื้อรัง (Severe PD)

ลูกหนี้กลุ่มนี้ จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นย้อนหลัง 5 ปี โดยกำหนดเกณฑ์ลูกหนี้เบื้องต้นเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ

  • ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจการเงิน ที่มีรายได้น้อยกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน
  • ลูกหนี้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) รายได้ 1 หมื่นบาทต่อเดือน

สำหรับรูปแบบของการแก้หนี้กลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง จะใช้วิธีแปลงสินเชื่อหมุนเวียน เป็นสินเชื่อแบ่งชำระรายงวด (Term Loan) โดยเงื่อนไขปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี ลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 15% ต่อปี จากปกติ 25% ต่อปี

ส่วนเงื่อนไขสำคัญของลูกหนี้ที่เข้าโครงการแก้หนี้เรื้อรัง คือ จะไม่สามารถกู้เพิ่มได้จนกว่าจะปิดหนี้จบ ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน รวมถึงมีรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าเข้าปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการนี้ โดยมาตรการนี้แล้วแต่ความสมัครใจของลูกค้าในการเข้าร่วม

สำหรับมาตรการเหล่านี้ แบงก์ชาติระบุว่า เป็นการดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อประเมินผลกระทบจากกลุ่มน็อนแบงก์ภายใน 1 ปี เพื่อปรับเงื่อนไขใหม่

แก้หนี้เรื้อรัง กระทบตลาดสินเชื่อ?

มาตรการแก้หนี้เรื้อรังของแบงก์ชาติ แม้จะเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยลูกหนี้ได้ แต่ภาคการเงิน ตั้งแต่ธนาคาร จนถึงบริษัทสินเชื่อ มองว่ามาตรการนี้ อาจกระทบกับรายได้ที่มาจากดอกเบี้ย

พิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อบุคคล เคทีซี เปิดเผยว่า จากการประเมินผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ต่อรายได้ดอกเบี้ยที่ปรับลดลง โดยเคทีซีคาดว่าจะอยู่ที่ราว 18 ล้านบาทต่อเดือน ภายใต้ลูกค้าที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรังเข้าร่วมโครงการทุกราย ซึ่งถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ดอกเบี้ยทั้งปี เฉลี่ยอยู่ที่ราว 7,000 ล้านบาท

อีกด้านหนึ่ง นันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) มองว่า การเติบโตของตลาดสินเชื่อบุคคลในปีนี้ จะน้อยกว่าคาดการณ์ไว้เดิมที่เฉลี่ยทั้งระบบจะขยายตัวอยู่ที่ราว 5-10%

ส่วนหนึ่งมาจากการที่มาตรการแก้หนี้เรื้อรังน่าจะกดดันการเติบโต เพราะหากกรณีมีลูกค้าเข้าโครงการฯ จำนวนมาก ทำให้การหาลูกค้าใหม่จะยากขึ้น

นอกจากเชิงรายได้ดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่บางรายวิเคราะห์ว่า จะมีลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการนี้ไม่มาก

นันทวัฒน์ จากอิออน ธนสินทรัพย์ ระบุว่า จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าจะมีลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 5% ของลูกหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้งหมด

เช่นเดียวกับ ณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ระบุว่า คาดว่าจะมีลูกค้าให้ความสนใจตอบรับเข้าร่วมโครงการเพื่อปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี ประมาณ 10%

ทั้งอิออน และกรุงศรี คอนซูมเมอร์ วิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการจะอยู่ในสัดส่วนที่น้อย

ปัจจัยสำคัญ คือ เงื่อนไขที่กำหนดให้ลูกค้าที่เข้าโครงการไม่สามารถกู้สินเชื่อใหม่ได้ในช่วง 5 ปีที่กำลังปิดจบหนี้ ยกเว้นกู้กรณีฉุกเฉินได้

แบงก์ชาติยังระบุเพิ่มเติมว่า ทุกสถาบันการเงินที่มีลูกค้าสินเชื่อบุคคล ต้องออกแบบมาตรการรองรับการแก้หนี้เรื้อรัง ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2567

จากนี้ต้องติดตามกันว่า มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีหนี้เรื้อรัง สางไม่ออก ตามนโยบายหัวหอกของแบงก์ชาติ จะสำเร็จมาก-น้อยขนาดไหน และได้รับผลตอบรับไปในทิศทางไหน

ชมรายการ Prachachat BITE SIZE EP.14 ได้ที่ https://youtu.be/VaZFp51B1sA