ธปท.ลุยตัดตอน “หนี้เรื้อรัง” น็อนแบงก์ตั้งรับหั่นดอกเบี้ย

ธนาคาร-น็อนแบงก์ ตั้งรับมาตรการแก้ “หนี้เรื้อรัง” กลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล ธปท. ดีเดย์ 1 เม.ย. 67 ลูกหนี้เข้าโครงการได้สิทธิพิเศษดอกเบี้ย 15% ต่อปี “อิออน” ชี้ลูกหนี้คิดหนักห้ามก่อหนี้ใหม่ 5 ปี คาดลูกหนี้เข้าร่วมไม่ถึง 5% “เคทีซี” สะเทือนรายได้ดอกเบี้ย 18 ล้านบาทต่อเดือน ปรับระบบคำนวณดอกเบี้ยใหม่ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ประเมินลูกหนี้เรื้อรัง 1 แสนราย วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือน (ณ ไตรมาส 1/2566) ที่มีการปรับปรุงใหม่อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP ขยับเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 15.2 ล้านล้านบาทคิดเป็น 86.3% ต่อ GDP

โดย ธปท.ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการที่จะเร่งบังคับใช้ก่อน คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 และมาตรการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt) มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2567

ธปท.คาดหนี้เรื้อรัง 5 แสนบัญชี

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt : PD) จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2567 โดยเบื้องต้นจะทำในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน ที่มีสถานะเป็นลูกหนี้ปกติ แต่มีการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้เรื้อรัง จะสามารถจบหนี้ภายใน 5 ปี และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี โดยผู้ที่มีคุณสมบัติ “ลูกหนี้เรื้อรัง” คือมีการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นย้อนหลัง 5 ปี โดยกรณีเป็นลูกหนี้ของธนาคารต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือน

แต่กรณีเป็นลูกหนี้ของ “น็อนแบงก์” ต้องมีรายได้ 1 หมื่นบาทต่อเดือน ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลจากสถาบันการเงินโดยคร่าว ๆ พบว่ามีลูกหนี้เข้าข่ายหนี้เรื้อรังราว 5 แสนบัญชี

นอกจากนี้ ธปท.ยังมีกลุ่มลูกหนี้ที่มีสัญญาณเป็นเรื้อรัง (general PD) คือมีการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นย้อนหลัง 3 ปี (นับตั้งแต่ 1 เม.ย. 67) กลุ่มนี้จะได้รับข้อความแจ้งเตือนว่ามีสัญญาณหนี้เรื้อรัง แนะนำให้ชำระหนี้ต่อเดือนมากขึ้น เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและปิดจบหนี้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขลูกหนี้ที่เข้าโครงการ PD จะไม่สามารถเบิกเงินเพิ่มได้จนกว่าจะปิดหนี้จบ ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน รวมถึงมีรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าเข้าปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการ PD โดยมาตรการนี้แล้วแต่ความสมัครใจของลูกค้าในการเข้าร่วม

ทั้งนี้ สินเชื่อบุคคลภายใต้กำกับของ ธปท. ณ เดือนพฤษภาคม 2566 มีจำนวน 16.67 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อ 787,611 ล้านบาท

KTC กระทบ 18 ล้านต่อเดือน

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายงานสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังจาก ธปท.ออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง ซึ่งเคทีซีพร้อมดำเนินตามเกณฑ์ดังกล่าว

หากเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่เข้าข่ายมีสัญญาณเป็นหนี้เรื้อรัง คือในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น กลุ่มนี้เคทีซีจะดำเนินการส่งจดหมายหรือติดต่อเพื่อให้ลูกค้าชำระเงินเพิ่มเติมเพื่อตัดเงินต้นเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี หากพ้นระยะ 3 ปี จนเข้าสู่ 5 ปี ลูกค้าไม่สามารถชำระเพิ่มได้ และเข้าข่ายหนี้เรื้อรังรุนแรง เคทีซีจะชี้แจงลูกค้าให้รับทราบอีกรอบเพื่อให้เข้าร่วมโครงการ PD แปลงสินเชื่อหมุนเวียน เป็นสินเชื่อแบ่งชำระรายงวด(term loan) โดยเงื่อนไขปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี จากปกติ 25% ต่อปี

จากการประเมินผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ต่อรายได้ดอกเบี้ยที่ปรับลดลง เคทีซีคาดว่าจะอยู่ที่ราว 18 ล้านบาทต่อเดือน ภายใต้ลูกค้าที่เข้าข่ายหนี้เรื้อรังเข้าร่วมโครงการ PD ทุกราย ซึ่งถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ดอกเบี้ยทั้งปี เฉลี่ยอยู่ที่ราว 7,000 ล้านบาท

เนื่องจากเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดลูกหนี้เข้าเกณฑ์จะมีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท ซึ่งเคทีซีมีสัดส่วนพอร์ตไม่เยอะมาก เพราะบริษัทเน้นลูกค้ารายได้สูงกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน แม้ว่าเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำจะอยู่ที่ 1.2 หมื่นบาทต่อเดือน

“ก่อนมาตรการจะบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2567 เคทีซีจะต้องมีการปรับระบบการคำนวณอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนดที่ 15% ต่อปี จากเดิม 25% ต่อปี รวมถึงมีการทดสอบระบบการคำนวณความถูกต้องแม่นยำ โดยจะใช้เวลาในการปรับระบบประมาณ 6 เดือน

ซึ่งสอดคล้องกับประกาศของ ธปท.ที่จะมี consultation paper ในเดือน ส.ค.-ก.ย. 66 และเปิดเฮียริ่งอีก 1 เดือนก่อนจะประกาศในเดือน พ.ย. 66 ซึ่งมีเวลาให้เคทีซีปรับระบบการดำเนินงาน”

เงื่อนไขเข้มลูกหนี้เมิน

ด้านนายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการดูข้อมูลลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน ที่เข้าเกณฑ์และสามารถเข้าโครงการลูกหนี้เรื้อรัง เพื่อแปลงเป็นสินเชื่อแบ่งชำระให้สามารถจบหนี้ได้ 5 ปี ดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี

จากการประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะมีลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 5% ของลูกหนี้ที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้งหมด โดยกระทบรายได้ดอกเบี้ยไม่มาก เนื่องจากการที่ ธปท.ให้คิดอัตราดอกเบี้ย 15% ถือเป็นอัตราที่บริษัทกำหนดให้ลูกหนี้ในกลุ่มมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ก่อนหน้าอยู่แล้ว ประกอบกับเป็นมาตรการภาคสมัครใจ ซึ่งเชื่อว่าลูกค้าไม่น่าจะเข้าโครงการมากนัก

ส่วนหนึ่งเพราะเงื่อนไขค่อนข้างเข้ม ที่กำหนดให้ลูกค้าที่เข้าโครงการไม่สามารถกู้สินเชื่อได้ในช่วง 5 ปี แม้ว่าจะเปิดช่องให้สามารถกู้กรณีฉุกเฉินได้ แต่เชื่อว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่จะกังวลในส่วนนี้ ทำให้ไม่อยากเข้าร่วมโครงการ

“ตอนนี้กำลังดูข้อมูลลูกค้า คาดว่าลูกค้าจะเข้าไม่เยอะ เพราะเกณฑ์ที่จะต้องถูกบล็อกสินเชื่อ 5 ปี ทำให้ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไม่เยอะ ยังพอรับได้ เพราะถ้าหากเป็นมาตรการบังคับทุกคน เชื่อว่าจะอิมแพ็กต์ต่อรายได้บริษัทแน่นอน ประกอบกับ ธปท.จะมีการรีวิวมาตรการหลังใช้ไป 1 ปี เพื่อดูผลกระทบ ซึ่งระหว่างนี้บริษัทก็จะเตรียมระบบ และการสื่อสารไปยังลูกค้า เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจ และขั้นตอนกระบวนการในการเข้าโครงการ”

กดดันตลาดสินเชื่อบุคคล

นายนันทวัฒน์กล่าวว่า ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลในปีนี้มองว่า การเติบโตจะน้อยกว่าคาดการณ์ไว้เดิมที่เฉลี่ยทั้งระบบจะขยายตัวอยู่ที่ราว 5-10% ส่วนหนึ่งมาตรการแก้หนี้เรื้อรังน่าจะกดดันการเติบโต เพราะหากกรณีมีลูกค้าเข้าโครงการ PD จำนวนมาก ทำให้การหาลูกค้าใหม่จะยากขึ้น

ประกอบกับภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวทั่วถึง รายได้ครัวเรือนยังไม่กลับมาเต็มที่ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ถูกกระทบ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินคงเพิ่มความระมัดระวังในการเติบโต โดยเฉพาะในสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันมากขึ้น

กรุงศรีฯลูกหนี้เรื้อรังแสนราย

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประเมินข้อมูลพบว่ามีลูกค้าที่เข้าข่ายโครงการแก้หนี้เรื้อรัง ที่มีรายได้ 10,000 บาท และชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น 5 ปี มีอยู่ประมาณ 100,000 คน คิดเป็นวงเงินสินเชื่อคงค้างราว 5,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี คาดว่าจะมีลูกค้าให้ความสนใจตอบรับเข้าร่วมโครงการเพื่อปิดจบหนี้ภายใน 5 ปีประมาณ 10% เพราะมีข้อจำกัดเงื่อนไขในเรื่องของการห้ามกู้เพิ่มในระหว่างทางปิดจบหนี้ อาจทำให้ลูกค้าบางรายลังเลที่จะเข้าร่วมโครงการ

“เราพยายามสื่อสารและให้ความรู้ว่าหากมีกำลังในการชำระหนี้ให้ลูกค้าชำระมากขึ้นหรือโปะวงเงินกู้ได้ และลูกค้าที่ดีเราก็จะให้ดอกเบี้ยลดลงอยู่แล้ว ซึ่งโครงการแก้หนี้เรื้อรังอาจจะเห็นลูกค้าเข้าโครงการไม่ได้ทั้งหมด เพราะมีเงื่อนไขล็อกในการกู้เพิ่มที่เป็นข้อจำกัด หรืออาจจะหันไปกู้นอกระบบเพิ่ม ซึ่งตรงนี้ต้องให้ความรู้กับลูกค้าดี ๆ ในการแก้ปัญหา”

ด้านนายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมระบบและโปรแกรมสำหรับรองรับลูกค้าที่เริ่มมี “สัญญาณเป็นหนี้เรื้อรัง” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชำระดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

โดยระบบจะดึงข้อมูลลูกค้าที่คาดว่าจะเข้าข่าย และจะสื่อสารไปยังลูกค้าผ่านข้อความ SMS หรือจดหมายแนะนำลูกค้าให้ชำระเงินมากขึ้นถ้ามีกำลังในการชำระ เพื่อให้เงินไปตัดต้นมากขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่ากระทบบริษัทค่อนข้างน้อย เนื่องจาก LINE BK เพิ่งเปิดดำเนินธุรกิจมาราว 2-3 ปี ทำให้ยังไม่มีลูกค้าที่เข้าข่ายนิยามหนี้เรื้อรังกลุ่ม 5 ปีของ ธปท. ที่จะต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาไม่เกิน 15% อย่างไรก็ดี หากลูกค้าเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ บริษัทมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง

“หนี้เรื้อรัง” กลุ่มแบงก์ไม่เยอะ

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประเมินพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลที่เข้าข่ายเกณฑ์กลุ่มที่ส่งสัญญาณเป็นหนี้เรื้อรัง และกลุ่มหนี้เรื้อรัง ข้อมูลเบื้องต้นมีประมาณ 500 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี แนวปฏิบัติต้องรอดูหลักเกณฑ์รายละเอียดของ ธปท.อีกครั้ง ที่จะมีคำสั่งออกมาว่าให้ดำเนินการอย่างไรภายในไตรมาสที่ 3/2566 นี้ และจากเกณฑ์ที่ ธปท.ให้ปรับลดดอกเบี้ยจาก 25% เหลือ 15% ต่อปี สำหรับลูกค้าที่เข้าโครงการ คาดว่ากระทบรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณ 25 ล้านบาทต่อปี

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการประเมินลูกค้าที่เข้าข่ายกลุ่มหนี้เรื้อรัง ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน ส่วนหนึ่งมาจากทีทีบีเพิ่งเริ่มเข้ามารุกตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลไม่นานในช่วง 2-3 ปี ทำให้มีลูกค้าที่จะเข้าร่วมโครงการน้อยมาก และยังไม่สามารถประเมินเป็นผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยได้

อย่างไรก็ดี ธนาคารพร้อมสนับสนุนในมาตรการดังกล่าว รวมถึงช่วยลูกค้าในการปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่อง

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) กล่าวว่า ภาพรวมลูกหนี้เรื้อรัง สำหรับในกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนไม่มากนัก อย่างไรก็ดี สมาคมและธนาคารสมาชิกพร้อมสนับสนุนมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนของ ธปท.

ซึ่งหากดูสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 36% ของจีดีพี จากปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 90.6% หรือราว 16 ล้านล้านบาท โดย TBA ได้บรรจุเรื่องการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมด้วย