ธปท.งัดมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนชุดใหญ่ ลุยหนี้เรื้อรัง 5 แสนบัญชี-ดึงกลุ่มเสี่ยงเข้าระบบ 

ธปท. มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดมาตรการชุดใหญ่ “แก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน” หวังลดหนี้ครัวเรือนสู่ระดับศักยภาพ 80% จากปัจจุบัน 90.6% เตรียมแก้หนี้เรื้อรัง ปิดจบหนี้ 5 ปี คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% พร้อมเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าทดสอบ “คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยง” ไตรมาสที่ 2/67 ด้านมาตรการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) จ่อใช้ 1 ม.ค. 68     

วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวดีขึ้น และรายได้ลูกหนี้กลับมาดีขึ้น ทำให้ ธปท.ทยอยปรับมาตรการเข้าสู่ภาวะปกติ (normalize) แต่จะเห็นว่าภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 16 ล้านล้านบาท หรือ 90.6% ต่อจีดีพี ซึ่งสูงกว่าระดับศักยภาพที่ 80% ต่อจีดีพี 

ดังนั้น ธปท.จึงออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อดูแลหนี้ 4 กลุ่ม ได้แก่ หนี้เสีย ให้สามารถแก้ไขได้, หนี้เรื้อรังให้มีทางจบหนี้ได้, หนี้ใหม่ที่เร่งตัวสูงขึ้น ให้มีคุณภาพและไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต และหนี้นอกระบบ ให้มีโอกาสเข้ามากู้ในระบบได้ โดยดูแลตลอดทั้งวงจรหนี้ 

“มาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับพฤติกรรมของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ช่วยแก้ปัญหาหนี้เดิม ดูแลหนี้ใหม่ และทำให้หนี้ครัวเรือนไทยลดลงสู่ระดับที่ยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้าน”

นายรณดล นุ่มนนท์
นายรณดล นุ่มนนท์

 

แก้หนี้เรื้อรังกลุ่มรายได้ไม้กิน 2 หมื่น จบหนี้ 5 ปี  

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการที่จะเร่งบังคับใช้ก่อน คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 รวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2567 

สำหรับรายละเอียดมาตรการดูแลลูกหนี้ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง เบื้องต้นจะทำในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน (Revolving Loan) มีสถานะเป็นลูกหนี้ปกติ และจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ Persistent debt :PD จะสามารถจบหนี้ภายใน 5 ปี และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) ไม่เกิน 15% ต่อปี 

ซึ่ง ธปท.จะแบ่งกลุ่มลูกหนี้เรื้อรังเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.ลูกหนี้ที่มีสัญญาณเป็นเรื้อรัง (General PD) โดยจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นย้อนหลัง 3 ปี (นับตั้งแต่ 1 เม.ย. 67) กลุ่มนี้จะได้รับข้อความแจ้งเตือนว่ามีสัญญาณหนี้เรื้อรัง แนะนำให้ชำระหนี้ต่อเดือนมากขึ้น เพื่อลดภาระดอกเบี้ยและปิดจบหนี้เร็วขึ้น

2.ลูกหนี้เรื้อรัง (Severe PD) ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นย้อนหลัง 5 ปี โดยกำหนดเกณฑ์ลูกหนี้เบื้องต้นเป็น 2 กลุ่ม คือ ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจการเงิน ที่มีรายได้น้อยกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน และลูกหนี้ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) รายได้ 1 หมื่นบาทต่อเดือน ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อประเมินผลกระทบจากกลุ่มน็อนแบงก์อีกครั้งภายใน 1 ปี เพื่อปรับเงื่อนไขใหม่

อย่างไรก็ดี เงื่อนไขลูกหนี้ที่เข้าโครงการ PD จะไม่สามารถเบิกเงินเพิ่มได้จนกว่าจะปิดหนี้จบ ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน รวมถึงมีรายงานประวัติข้อมูลเครดิตว่าเข้าปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการ PD โดยมาตรการนี้แล้วแต่ความสมัครใจของลูกค้าในการเข้าร่วม 

โดยจากการประเมินผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน มองว่า อาจจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยบ้าง แต่หากดูสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อรายย่อยมีอยู่ 30% และพอร์ตสำคัญเป็นสินเชื่อบ้าน ซึ่งสินเชื่อบุคคลเป็นส่วนน้อย และหากดูสินเชื่อบุคคลประเภทหมุนเวียนมีสัดส่วนเล็กน้อย ประกอบกับดอกเบี้ยที่ปรับลดลง 25% มาอยู่ 15% คิดเฉลี่ยอยู่ที่ 21-22% ซึ่งเป็นอัตราที่สถาบันการเงินรับได้

“ที่เราต้องกำหนดเงื่อนไข จะทำให้แก้ไขหนี้ไม่จบ และกลุ่มนี้เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ดี และต้องการปิดจบหนี้ ขณะที่เลือกทำในกลุ่มรายได้ 2 หมื่นบาท เพราะต้องการช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน หรือเปราะบางก่อน เชื่อว่ากลุ่มรายได้สูงน่าจะมีทางออกมากกว่านี้ ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลจากสถาบันการเงินโดยคร่าว ๆ พบว่ามีลูกหนี้เข้าข่ายหนี้เรื้อรังราว 5 แสนบัญชี”

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์

 

Q2/67 เปิดทดสอบ Sandbox ปลดล็อกเพดานดอกเบี้ย 

นางสาวสุวรรณี กล่าวว่า ภายในไตรมาสที่ 2/2567 ธปท.จะเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าทดสอบโครงการ Sandbox ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing: RBP) ซึ่งขอบเขตจะเริ่มจากสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และนาโนไฟแนนซ์ 

โดยมาตรการ RBP จะเป็นกลไกช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีประวัติการชำระหนี้ดี จะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบัน 

ทั้งนี้ คุณสมบัติผู้ที่เข้าร่วมทดสอบ คือ 1.ผ่านเกณฑ์ประเมินตามเกณฑ์ Responsible Lending 2.เป็นสมาชิก NCB 3.มีระบบประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ที่แยกความเสี่ยงได้จริง และ 4.มีแผนธุรกิจ กลุ่มเป้าหมาย และการกระจายตัวของดอกเบี้ยแต่ละกลุ่ม โดย ธปท.จะเปิดรับสมัครเข้าทดสอบทุก 6 เดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะใช้เวลา 1-2 ปี 

หากการทดสอบเป็นไปตามที่ ธปท.กำหนด ผู้ประกอบการสามารถให้บริการในวงกว้างได้ และสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับลูกหนี้ได้ อย่างไรก็ดี หากการทดสอบไม่สำเร็จตามแผนจะต้องยุติและกลับไปคิดดอกเบี้ยภายใต้เพดานปัจจุบัน  

“เราไม่ได้มีเพดานกำหนด แต่ถามว่ามีในใจไหม มีในใจ แต่ต้องขอดูโมเดลของผู้ที่จะเข้าร่วมทดสอบก่อน เพราะโครงสร้างธุรกิจแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ซึ่งผู้ประกอบการภายใต้กำกับมีเป็น 100 ราย เราจะต้องเลือกผู้ประกอบการที่พร้อม และบางรายก็มองว่าไม่คุ้มกับต้นทุนการติดตามหนี้ จากผลตอบแทนที่ได้รับ อาจไม่ร่วมก็ได้” นางสาวสุวรรณีกล่าว

 

กำชับแบงก์ไม่กระตุ้นลูกค้าก่อนหนี้เกินตัว 

นางสาวสุวรรณี กล่าวว่า สำหรับการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ผู้ให้บริการต้องให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ ได้แก่ 

1.ก่อน/กำลังจะเป็นหนี้ ต้องโฆษณาและเสนอขายผลิตภัณฑ์ โดยให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ชัดเจน ไม่กระตุ้นให้ลูกหนี้เป็นหนี้เกินตัว 

2.ระหว่างเป็นหนี้ ส่งเสริมการให้ข้อมูลเงื่อนไขและคำเตือนที่ลูกหนี้ควรรู้ เพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกหนี้ (nudge) รวมถึงสร้างเครื่องมือช่วยสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน เช่น ทำระบบอัตโนมัติให้ลูกหนี้จ่ายชำระมากกว่าขั้นต่ำ เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ย

3.เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ ต้องมีแนวทางช่วยเหลือที่เหมาะกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ 

4.เมื่อจะดำเนินคดีและโอนขายหนี้ ต้องแจ้งสิทธิและข้อมูลสำคัญแก่ลูกหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ ตลอดจนผู้รับโอนหนี้ต้องกำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้อย่างเหมาะสม 

 

จ่อกำหนด DSR 1 ม.ค.68 รายได้ต่ำ 3 หมื่น ไม่เกิน 60% 

นางสาวสุวรรณี กล่าวว่า สำหรับการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) ถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (macroprudential policy) เพื่อดูแลการก่อหนี้ใหม่ ลดการก่อหนี้เกินตัว ให้ลูกหนี้มีรายได้หลังชำระหนี้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มใช้กับสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่มีหลักประกัน (เช่น บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของปัญหาหนี้ครัวเรือนก่อน

โดย ธปท.กำหนดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ในกลุ่มรายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน จะกำหนด DSR ต้องไม่เกิน 60% และรายได้มากกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน กำหนด DSR 70% และสามารถยืดหยุ่นได้ถึง 90% และสินเชื่อที่ปล่อยให้ลูกหนี้กลุ่มนี้จะต้องมียอดไม่เกิน 15% ของสินเชื่อใหม่ 

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ธปท. มีแผนจะบังคับใช้มาตรการนี้ในปี 1 มกราคม 2568 โดยจะประเมินสถานการณ์และบริบททางเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งการบังคับใช้มาตรการ จะต้องสื่อสารล่วงหน้าให้ประชาชนและผู้ให้บริการมีเวลาในการปรับตัว