ผู้ว่าฯ ธปท.ส่งสัญญาณ ขึ้นดอกเบี้ยต่อ-ยุติอุ้ม “ลูกหนี้โควิด”

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แถมยังมีปัจจัยท้าทายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อาจนำไปสู่การถดถอยของเศรษฐกิจ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ฯลฯ และปัจจัยภายใน

โดยเฉพาะการยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อเข้ามาขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจได้ มองไปข้างหน้า การบริหารนโยบายการเงินจะเป็นอย่างไร “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มาสะท้อนทิศทางเหล่านี้ ในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ พบสื่อมวลชน Meet the Press 2/2566” เมื่อเร็ว ๆ นี้

หวังการเมืองไม่กระทบชิ่งเศรษฐกิจ

“ดร.เศรษฐพุฒิ” กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขณะนี้ยังเป็นการฟื้นตัว โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ 4.2% ดีกว่าครึ่งปีแรกที่น่าจะโตได้ 2.9% โดยหัวใจสำคัญ คือ ภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 29 ล้านคน ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกดีกว่าคาด แม้ว่านักท่องเที่ยวจีนไม่ได้มาตามคาด แต่ถูกชดเชยจากนักท่องเที่ยวชาติอื่นแทน

ขณะที่ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ธปท.ได้มีการใส่ไว้ในการประมาณการเศรษฐกิจ แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะล่าช้า และมีผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณให้ล่าช้าออกไป 1 ไตรมาส จากเดิมเบิกจ่ายในไตรมาส 4 ปี 2566 แต่จะเลื่อนไปเป็นไตรมาส 1 ปี 2567

“ภาพดังกล่าว จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจให้มีการเปลี่ยนไป ยกเว้นกรณี หากมีสถานการณ์รุนแรงจนกระทบต่อภาคท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้”

เงินเฟ้อไม่จบ-ส่งซิกขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ แม้ว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เงินเฟ้อจะออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ แต่น่าจะปรับลดลงจากปัจจัยชั่วคราว ทั้งฐานที่สูงในปีก่อน มาตรการลดค่าไฟของภาครัฐ รวมถึงราคาพลังงานและอาหารที่ทยอยลดลง

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าเงินเฟ้อมีโอกาสขยับขึ้น จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ส่งผลต่อการบริโภคในหมวดบริการเพิ่มขึ้น รวมถึงโอกาสที่ธุรกิจมีการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภค และแรงกระตุ้นจากนโยบายของรัฐบาลใหม่

“ส่วนเงินเฟ้อต่อนัยในการดำเนินนโยบายการเงินนั้น จะเห็นว่า ธปท.พยายามพูดเสมอว่าการประเมิน จะมองไปข้างหน้า หรือ outlook dependent ไม่ใช่ data dependent ที่ดูเพียงข้อมูลในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา หรือที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า”

โดยภายใต้บริบทเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่เงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงที่จะขยับขึ้น ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ (policy normalize) ในลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป ยังมีความจำเป็น โดยเป้าหมายยังเน้น 3 หลักการ คือ 1.เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพ 3-4% ไม่สะดุด 2.เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 1-3% ได้อย่างยั่งยืน และ 3.ไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จะเห็นว่าการเพิ่มกันชน (buffer) ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะในช่วงที่ความไม่แน่นอนสูง และเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ดีมาก จึงต้องคำนึงเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เพื่อรองรับช็อกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“การ normalize ของเราไม่ต้องรุนแรงเหมือนต่างประเทศ เพราะเศรษฐกิจเขาโตร้อนแรงต้องเหยียบเบรก แต่ของเรายังเป็นการฟื้นตัวช้า จึงเป็นการถอนคันเร่ง เพราะถ้าเราขึ้นดอกเบี้ยเร็วจะซ้ำเติมเรื่องหนี้ ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายเราต่ำมานาน และดอกเบี้ยที่แท้จริง (real interest rate) ติดลบเป็นเวลานาน หากต่ำนานเกินไปจะมีผลต่อเสถียรภาพระบบการเงิน จึงต้องให้ดอกเบี้ยกลับมาสู่สมดุลระยะยาวได้”

จ่อออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน

ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มองไปข้างหน้าหลังหมดมาตรการฟ้า-ส้มของ ธปท.ที่ออกมาช่วงโควิด เชื่อว่าจะไม่เห็นหน้าผาเอ็นพีแอล (NPL cliff) แม้ว่าทิศทางจะขยับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ ธปท.ไม่ได้ชะล่าใจ เพราะสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ระดับสูงเกินระดับ 90% ของ GDP ซึ่งเกินระดับความยั่งยืนที่กำหนดไว้ที่ 80%

โดยที่ผ่านมา ธปท.พยายามแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดอยู่ระหว่างการออกมาตรการเพิ่มเติม ภายใต้การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (responsible lending) ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2567 เพื่อปรับพฤติกรรมของผู้ให้สินเชื่อและผู้กู้ ตลอดวงจรหนี้

นอกจากนี้ จะมีแนวทางการช่วยลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) กลุ่มลูกหนี้ที่จ่ายได้ปกติ แต่ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ โดยจ่ายดอกเบี้ยสะสมมากกว่าเงินต้นเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งจะกำหนดให้เจ้าหนี้แปลงหนี้จากสินเชื่อหมุนเวียน (revolving) เป็นสินเชื่อผ่อนชำระเป็นรายงวด (term loan)

และคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 15% และเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ซึ่งมาตรการนี้จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย. 2567 ภายหลังจาก ธปท.ออก consultation paper ในไตรมาส 3 นี้

“แม้ว่าทิศทางหนี้เสียจะขยับเพิ่มขึ้นบ้างในระยะข้างหน้า แต่เชื่อจะไม่เห็น NPL cliff แบบสึนามิ เพราะถ้าหากดูสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) โอกาสไหลเป็นไปหนี้เสีย หรือ migration rate มีสัญญาณลดลง เช่น สินเชื่อรถเพียง 12% บ้าน 22% บัตรเครดิต 57% และสินเชื่อส่วนบุคคล 54% ซึ่งบ้านเคยสูงสุด 33% และหากดูกลุ่ม SM ที่มีโอกาสกลับมาเป็นหนี้ปกติ มีสัญญาณเพิ่มมากขึ้น เช่น สินเชื่อบ้าน มีโอกาสกลับมาเป็นหนี้ดี 30%”

เพิ่มผู้เล่นใหม่ “Virtual Bank”

“ผู้ว่าการ ธปท.” กล่าวด้วยว่า ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้จะออกร่างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา (virtual bank) เสนอกระทรวงการคลัง คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2568 ซึ่ง ธปท.อยากเห็นผู้เล่นรายใหม่เข้าให้บริการกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน อย่างไรก็ดี ในระยะแรกการเปิดให้จัดตั้ง 3 ราย

ถือเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงเทียบกับจำนวนธนาคารที่มีอยู่ในระบบ เช่นเดียวกับการกำหนดวงเงินทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท เพื่อให้มีขนาดใหญ่พอที่จะแข่งขันกับธนาคารรายเดิม และรองรับผลขาดทุนในช่วงปีแรกที่คาดว่าจะสูงถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี

“การมีแบงก์เยอะไม่ได้ช่วยให้ดอกเบี้ยถูกลง เพราะการกำหนดดอกเบี้ยขึ้นกับความเสี่ยงลูกค้า และหากเปิดเยอะเกินไปทำให้การแข่งขันรุนแรงจนบางรายอยู่ไม่ได้และปิดตัวลง จะกระทบความเชื่อมั่น” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว