ธปท.บี้ระบบ “โมบายแบงกิ้ง” ห้ามล่มนาน-กู้คืนใน 2 ชั่วโมง

โมบายแบงกิ้ง

ธปท.จ่อออกเกณฑ์ห้ามระบบโมบายแบงกิ้งล่มเกิน 8 ชั่วโมงต่อปี รวมถึงตีกรอบระยะเวลากู้คืนต้องไม่เกิน 2 ชั่วโมง คาดลงประกาศเกณฑ์ในราชกิจจาฯ เร็ว ๆ นี้ ให้เวลาแบงก์ปรับตัวเตรียมความพร้อม 1 ปี “ไทยพาณิชย์” เผยที่ผ่านมาทุ่ม 800 ล้าน อัพเกรดระบบ SCB Easy ยันภาพรวมระบบแบงก์ “น่าพอใจ” ฟาก “ทีทีบี” เร่งพัฒนาระบบรับธุรกรรมเพิ่มเท่าตัว

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจาก ธปท.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) ของสถาบันการเงินในเรื่องของระบบแบงก์ล่ม

โดยมีการกำหนดเกณฑ์ Service Level Agreement (SLA) จะต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับระยะเวลาการแก้ไขระบบขัดข้องและการให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะช่องทางโมบายแบงกิ้งเป็นหลัก

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป คาดว่าขั้นตอนกระบวนการจะเสร็จภายในปลายไตรมาส 3 นี้ โดยหลักเกณฑ์ระบบแบงก์ล่ม 8 ชั่วโมงต่อปีนี้ จะมีระยะเวลาให้สถาบันการเงินมีเวลาปรับตัวและพัฒนาระบบรองรับภายใน 1 ปี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จริงภายในสิ้นปี 2567

“ในเร็ว ๆ นี้น่าจะลงราชกิจจาฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป แต่เรายังคงให้เวลาแบงก์เตรียมความพร้อม 1 ปี และแม้ว่าเรากำหนด 8 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งถ้าดูตอนนี้จะเห็นว่ามีแบงก์บางแห่งก็ล่มน้อยกว่า 8 ชั่วโมง หรือบางแห่งก็ยังเกินอยู่ แต่เชื่อว่าเกณฑ์กำหนดดังกล่าวไม่น่าจะมีปัญหา”

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา
สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา

ทั้งนี้ หากดูสถิติระบบแบงก์ล่ม จะพบว่าแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในไตรมาส 1/2566 จะเห็นว่ามีธนาคารพาณิชย์ที่มีระบบขัดข้องเพียง 1-2 แห่งเท่านั้น และสัญญาณในไตรมาส 3 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าในไตรมาส 2 แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ระบบพร้อมเพย์ล่ม แต่หากดูระยะเวลาขัดข้องและใช้เวลาในการแก้ไขถือว่าไม่นานนัก จึงทำให้ภาพรวมทั้งไตรมาสน่าจะทรงตัวหรือดีขึ้น

อย่างไรก็ดี จากประเด็นระบบพร้อมเพย์ขัดข้องดังกล่าว เร็ว ๆ นี้ ธปท.จะมีการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (CIO) ภายหลังจากการตรวจสอบถึงสาเหตุระบบขัดข้อง

รวมถึงการรับมือและบริหารจัดการระบบหลังบ้านเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างไรให้ราบรื่น ส่วนจะมีการแยกธุรกรรมพิเศษอาจจะต้องมีการพิจารณารายละเอียดของข้อมูลก่อน ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนใหม่ทุกธนาคาร

“วันที่ระบบพร้อมเพย์ล่มเพราะเครื่องเสีย 1 เครื่อง ทำให้ต้องปรับสวิตช์เครื่องไปยังอีกเครื่องที่เหลือ แต่ในตอนนั้นธุรกรรมค่อนข้างเยอะกว่าปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 รายการต่อวินาที แต่วันนั้นขึ้นไปถึง 4,000 รายการต่อวินาที แต่ไม่ได้เกินศักยภาพในการรองรับปริมาณธุรกรรม (capacity) ที่สามารถรองรับได้ 10,000 รายการต่อวินาที โดยอาทิตย์หน้า ธปท.จะมีการพูดคุยกับ CIO ว่าหลังตรวจสอบเป็นอย่างไรบ้าง”

นายชาลี อัศวะธีระธรรม รองผู้จัดการอาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธปท.ได้หารือเรื่องเกณฑ์แบงก์ล่มไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี และระยะเวลากู้คืนระบบ (recovery time) แต่ละครั้งไม่เกิน 2 ชั่วโมงตั้งแต่ปลายปีก่อน โดยธนาคารได้พัฒนาระบบในโครงการ SCB Easy Hygiene Project ซึ่งลงทุนไปแล้วมากกว่า 800 ล้านบาท ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมเสถียรภาพของระบบธนาคารในปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 มีระยะเวลาที่ระบบขัดข้อง (downtime) รวมทั้งสิ้นเพียง 60 นาที และ availability เฉลี่ยที่ 99.97% สูงกว่าเกณฑ์ ธปท.กำหนดไว้ที่ 99.90%

ขณะที่ความสามารถในการรองรับธุรกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 5,100 รายการต่อวินาที หรือเฉลี่ยที่ 1,500 ล้านธุรกรรมต่อเดือน และมีความสามารถในการรองรับธุรกรรมสูงสุดที่ 2,820 ล้านธุรกรรมต่อเดือน

“เรามีการพูดคุยเรื่องนี้ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน ทำให้เราหันมาโฟกัสเรื่องของเสถียรภาพของระบบแทนการออกฟีเจอร์ใหม่ เพราะปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นทำลายสถิติทุกเดือน และเกณฑ์ ธปท.ค่อนข้างท้าทาย แต่โดยภาพรวมน่าจะทำได้”

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารพัฒนาระบบให้สามารถป้องกัน และรับมือกับปริมาณธุรกรรมที่คาดว่าจะสูงขึ้น และหากเกิดเหตุขัดข้องต้องสามารถกลับขึ้นมาให้เร็วที่สุด ซึ่งในปีที่ผ่านมาธนาคารสามารถรักษาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนดได้

“ระบบแบงก์ล่มแต่ละครั้งมาจากคนละสาเหตุ วิธีแก้ปัญหาก็ต่างไป แต่เราพยายามไม่ให้เกิน 15 นาที ระบบต้องมาแล้ว เพราะเกณฑ์ภายในเองก็ตั้งไว้เข้ม เตรียมพร้อมรับมือปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว”