ครม.ไฟเขียวพักหนี้เกษตรกร 2.7 ล้านราย เริ่ม 1 ต.ค. 66-30 ก.ย. 67

เกษตรกร เงิน

รัฐบาลอนุมัติพักหนี้เกษตรกรรายย่อย 2.7 ล้านราย มูลหนี้ 3 แสนบาท ใครมีเงินสามารถชำระ เพื่อตัดยอดเงินต้นได้ ส่วนรัฐจ่ายดอกเบี้ยให้

วันที่ 26 กันยายน 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566-30 กันยายน 2567 (1 ปี) ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล จำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมาย เกษตรกรและบุคคลตามข้อบังคับ ธ.ก.ส. ฉบับที่ 44 และ 45 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติ และหรือเป็นหนี้คงค้างชำระ จำนวน 2.698 ล้านราย รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท

วิธีดำเนินโครงการ เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์พักชำระหนี้สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566-31 มกราคม 2567 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่เข้าร่วมมาตรการในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาเห็นชอบการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส. งบประมาณ 1,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ประมาณ 3 แสนราย และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาศักยภาพ โดยการจัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ

“การพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกร ประมาณ 2.7 แสนล้านดังกล่าว เน้นกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มากที่สุด แต่คงไม่ใช่ทุกรายที่ไม่มีความสามารถดำเนินการชำระหนี้ได้ บางรายที่พร้อมจะชำระหนี้ รัฐบาลมีมาตรการจูงใจ พูดง่าย ๆ เมื่อชำระหนี้ก็ตัดเงินต้นทั้งหมด ส่วนดอกเบี้ยรัฐบาลจ่ายให้ และยังแถมทุก ๆ 1 พันบาท ก็จะมีสลากให้ ใครถูกสลากก็เอาไปตัดยอด ใครที่มีวินัยการเงินการคลังดีมากก็จะได้รับประโยชน์จากนโยบายรัฐบาล” โฆษกรัฐบาลกล่าว

นายชัยกล่าวว่า รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนด มาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลา 3 ปี และ 1 ปี ตามลำดับ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นฝ่ายเลขานุการ