พักหนี้เกษตรกร 2.8 ล้านคน รับ 2 เด้งกู้เพิ่มได้-SME คิวต่อไป

แกะรอยนโยบาย “พักหนี้เกษตรกร-เอสเอ็มอี” รัฐบาลเทหมื่นล้านเดิมพันฟื้นฟูศักยภาพเกษตรกร ปิดจุดอ่อนมาตรการในอดีต บอร์ด ธ.ก.ส.ประชุมนัดพิเศษลงมติ เผยลูกหนี้เกษตรกรรับ 2 เด้ง ได้ “พักหนี้” ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปี แถมกู้เพิ่มได้ ขีดเส้นเกษตรกรเข้าโครงการเป็นหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท เข้าข่าย 2.8 ล้านราย ขณะที่พักหนี้เอสเอ็มอีส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้แบงก์ออมสิน ฟากแบงก์พาณิชย์ค้านหวั่นผลกระทบสภาพคล่อง สถาบันป๋วยชำแหละ “พักหนี้เกษตรกร” แก้ปัญหาไม่ยั่งยืน

บอร์ด ธ.ก.ส.เคาะกรอบพักหนี้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แทน กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. (นัดพิเศษ) 22 กันยายน มีมติเห็นชอบตามกรอบที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯเสนอมา โดยกรอบที่เสนอไม่ใช่แค่การพักหนี้เหมือนที่ผ่านมา

แต่จะรวมกระบวนการเข้าไปฟื้นฟูเกษตรกรด้วย เพื่อจะยืนยันได้ว่าเมื่อเกษตรกรพักหนี้ 3 ปีแล้วจะกลับไปแข็งแกร่งขึ้น มูลหนี้ลดลงโดยในวันจันทร์ 25 กันยายนนี้จะมีการขอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมเรื่องเข้า ครม.ในวันอังคารที่ 26 กันยายน โดยหลังจาก ครม.เห็นชอบก็จะเริ่มมาตรการให้เร็วที่สุด

สำหรับการฟื้นฟูมีทั้งการช่วยเกษตรกรที่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) รวมถึงลูกหนี้ดี เพื่อให้ทุกกลุ่มได้ประโยชน์จากมาตรการ โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งจะอยู่ภายใต้กรอบมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังภาครัฐ คาดใช้เงินกว่าหมื่นล้านบาท

โดยเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเดินเข้ามาที่ ธ.ก.ส. เพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ และเข้าร่วมแบบไหน เพราะในอดีตพักหนี้ 3 ปี มาเจอหน้ากันครั้งเดียว หนี้ไปไกลแล้ว ดังนั้นจะเป็นการทำงานต่อเนื่องกับธนาคาร

“แนวนโยบายช่วยเหลือของรัฐบาลตามนโยบายนายกรัฐมนตรี เรื่องไหนทำได้ก่อนจะทำทันที ส่วนกลุ่มอื่น ๆ จะตามมา เกษตรกรก็เช่นกัน ในครั้งแรกอาจจะไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่อนาคตก็จะมีกลไกเพิ่มเติม สำหรับพักหนี้เอสเอ็มอีจะมีอีกที ซึ่งไม่ใช่เฉพาะลูกหนี้ธนาคารเอสเอ็มอี จะมีธนาคารอื่น ๆ ด้วย ส่วนที่ไม่ได้อยู่ในกำกับของกระทรวงการคลังก็ต้องขอความร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย” นายจุลพันธ์กล่าว

พักหนี้เกษตรกรได้ 2 เด้ง

นายจุลพันธ์กล่าวว่า การพักชำระหนี้ของเกษตรกรครั้งนี้จะแตกต่างจากอดีต คือ แม้จะเข้าโครงการพักหนี้แล้ว แต่เกษตรกรยังกู้ยืมเงินเพิ่มเติมจาก ธ.ก.ส.นำไปประกอบอาชีพได้ ซื้อปัจจัยการผลิต เพื่อให้หลังจากพ้นระยะเวลาการพักหนี้เกษตรกรจะกลับมาแข็งแกร่งขึ้น

รวมทั้งระหว่างการพักหนี้ ธ.ก.ส.จะเปิดโอกาสให้เกษตรกรชำระหนี้เข้ามาได้ โดยเงินชำระหนี้จะนำไปตัดเงินต้นเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้หลังพ้นระยะเวลาการพักชำระหนี้ เกษตรกรจะได้มีภาระหนี้ลดลง

“เราจะสร้างสภาวะที่เขาจะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพิ่มเติม แต่แน่นอนว่าอันนี้อยู่ที่ศักยภาพในการชำระคืนด้วย” นายจุลพันธ์กล่าว

ส่วนการพักหนี้เอสเอ็มอี นายจุลพันธ์ระบุว่า มาตรการพักหนี้กลุ่มเอสเอ็มอี จะใช้ข้อมูลกลุ่มลูกหนี้ ตามรหัส 21 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และค้างชำระเกิน 90 วัน กลุ่มนี้มีวงเงินสินเชื่อประมาณ 3 แสนล้านบาทลูกหนี้ประมาณ 3 ล้านบัญชี

ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสินเป็นส่วนใหญ่ ลูกค้าของ ธ.ก.ส.ส่วนน้อย โดยจะพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 1 ปี แต่จะต้องขอเวลาทำรายละเอียดและเสนอคณะรัฐมนตรีอย่างช้าสุดภายใน 1 เดือน

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะตั้งคณะทำงานเรื่องนี้ โดยเชิญตัวแทนของธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. เพื่อกำหนดแนวทางในการพักหนี้ให้กลุ่มเอสเอ็มอี ให้มีข้อสรุปโดยเร็วที่สุด

เคาะเกษตรกรมีหนี้ไม่เกิน 3 แสน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องพักหนี้เกษตรกรและเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้มีการเสนอกรอบโครงการพักหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 3 ปี ให้แก่เกษตรกรรายย่อยที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท โดยมีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.เข้าข่ายราว 2.8 ล้านราย

“การพักหนี้รอบนี้ จะมีมาตรการเสริมด้วย เป็นแรงจูงใจให้ลูกหนี้ ทั้งที่เป็นหนี้เสียแล้ว และลูกหนี้ดี มีมาตรการจูงใจให้จ่ายหนี้ โดยตัดเงินต้นได้มากขึ้น โดยรัฐช่วยจ่ายดอกเบี้ยคงค้าง เพื่อให้ปลดหนี้ แล้วกู้ใหม่ได้วงเงินมากขึ้น รวมถึงคนที่เข้ามาตรการพักหนี้ ระหว่างพักหนี้ก็ยังสามารถกู้เพิ่มได้ เพราะไม่ต้องการให้ไปกู้นอกระบบ แต่กู้ได้ไม่มาก เน้นดูตามความสามารถการชำระ โดยคาดว่าจะเริ่มมาตรการได้ 1 ตุลาคมนี้” แหล่งข่าวกล่าว

ปิดจุดอ่อนมาตรการในอดีต

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า มาตรการพักหนี้รอบนี้จะไม่เหมือนกับการพักหนี้ 13 ครั้ง ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา โดยจะทำบน 2 แนวทาง คือ มุ่งลดภาระให้เกษตรกร โดยพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปี โดยรัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ขณะเดียวกันจะเร่งฟื้นฟูศักยภาพให้เกษตรกร สร้างรายได้ระหว่างอยู่ในมาตรการพักหนี้ 3 ปี

โดยรัฐบาลให้นโยบายชัดเจนว่า ให้ ธ.ก.ส.ไปทำมาตรการพักหนี้รอบใหม่ให้รอบด้าน โดยปิดจุดอ่อนของมาตรการในอดีตให้มากที่สุด ตอบโจทย์ 3 ประเด็น คือ 1.ลดภาระ 2.ฟื้นฟูศักยภาพ และ 3.ระมัดระวังการเสียวินัยชำระหนี้ (moral hazard)

ออมสินอ่วมแบกลูกหนี้รหัส 21

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับการพักหนี้เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียช่วงโควิด หรือลูกหนี้รหัส 21 นั้น ยังไม่เสนอเข้า ครม. พร้อมกับพักหนี้เกษตรกร เนื่องจากมีรายละเอียดค่อนข้างซับซ้อน อย่างไรก็ดี จากการหารือที่ผ่านมา การพักหนี้เอสเอ็มอี จะมีลูกหนี้ที่เข้าข่ายราว 3 ล้านราย จากยอดสินเชื่อ 3 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ของธนาคารออมสินเป็นหลัก แต่ก็มีลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ด้วย ซึ่งคงต้องขอความร่วมมือผ่านทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ลูกหนี้รหัส 21 คือ กลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีการค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีจำนวนลูกหนี้ 3.4 ล้านคน มูลหนี้ 3.7 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนลูกหนี้รหัส 21 เป็นลูกหนี้สถาบันการเงินของรัฐประมาณ 60% ลูกหนี้กลุ่มน็อนแบงก์ 30% และลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ 10%

แบงก์พาณิชย์ค้านพักหนี้รอบใหม่

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากนโยบายพักหนี้ลูกหนี้รหัส 21 ขณะนี้ทางสมาคมธนาคารไทยก็ได้รับการประสานจากกระทรวงการคลัง ที่จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อดูเรื่องพักหนี้เอสเอ็มอี ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง ธปท. สมาคมธนาคารไทย ตัวแทนธนาคารพาณิชย์ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และตัวแทน เพื่อหารือร่วมกันว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ในกรณีที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมพักหนี้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือกลุ่มลูกหนี้รหัส 21 เป็นระยะเวลา 1 ปี

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ต้องให้ ธปท.เป็นคนสั่งการ และหามาตรการความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ เพราะรัฐบาลจะบังคับให้ทำคงยาก เนื่องจากมีผลกระทบต่อธนาคารหลายเรื่อง เช่น 1.พักหนี้ ทำให้ธนาคารเกิดปัญหาสภาพคล่อง กระแสเงินสดของธนาคารหายไป 2.เมื่อธนาคารมีปัญหาสภาพคล่อง ธนาคารจะไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าสู่ระบบ เพราะหนี้เดิมไม่สามารถเรียกเก็บได้

และ 3.เมื่อธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ จะทำให้เม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ระบบหายไป ซึ่งจะซ้ำเติมให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) หายไปด้วย ไม่ได้เป็นไปตามนโยบายที่ต้องการหนุนให้จีดีพีโตเฉลี่ย 5% ตามที่รัฐบาลต้องการ และ 4.หากธนาคารทำตามนโยบาย จะเป็นการทำตามการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อราคาหุ้น และนักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่น อาจเทขายหุ้นกลุ่มธนาคาร ส่งผลให้เงินบาทยิ่งอ่อนค่า และนำไปสู่การหั่นเรตติ้งได้

“ตอนนี้ถามว่ามีใครอยากทำหรือไม่ แบงก์พาณิชย์ทุกรายไม่มีใครอยากทำ ค้านชนฝา เพราะมีผลกระทบหลายด้าน เพราะเป็นการทำตามการเมือง และจะลามไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ไม่เป็นผลดีต่อราคาหุ้น และภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลเชิงลบมากกว่าเชิงบวก และที่ผ่านมาธนาคารก็ช่วยเหลือลูกค้าอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี คาดว่าคณะทำงานน่าจะมีการนัดประชุมในเร็ว ๆ นี้ เพราะต้องรอหนังสือจากรัฐบาลก่อน”

“พักหนี้” แก้ปัญหาไม่ยั่งยืน

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการวิจัย และ ดร.ลัทธพร รัตนวรารักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศึกษาผลกระทบของมาตรการพักหนี้เกษตรกรในช่วงที่ผ่านมา โดยใช้ข้อมูลสินเชื่อรายสัญญาของลูกหนี้ตัวอย่าง 1 ล้านคนที่สุ่มจากลูกหนี้รายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ใ

นช่วงปี 2557-2566 พบว่าตลอด 9 ปีที่ผ่านมา มีการพักหนี้เกษตรกรมากถึง 13 มาตรการใหญ่ มีเกษตรกรเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และกว่า 42% อยู่ในมาตรการพักหนี้นานเกิน 4 ปี

ผลการศึกษาพบว่า มาตรการพักหนี้เกษตรกรในอดีตไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน เห็นได้จากเกษตรกรที่เข้ามาตรการพักหนี้มียอดหนี้สูงขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เข้ามาตรการอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเกิดจาก 1) 77% ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ ได้รับสินเชื่อใหม่ระหว่างการพักหนี้ และ 2) 50% ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ ขาดการจ่ายภาระดอกเบี้ยที่ยังเดินอยู่

นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้ามาตรการพักหนี้มีแนวโน้มเป็นหนี้เสียสูงขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากวินัยทางการเงินที่ลดลง อีกทั้งมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะกลับเข้าไปพักหนี้ซ้ำ กลายเป็นติดกับดักหนี้ในที่สุด ซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นหากเกษตรกรเข้าร่วมมาตรการเป็นเวลานาน นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้ามาตรการพักหนี้ไม่ได้มีการออมเงินหรือลงทุนทำการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ