พักหนี้เกษตรกร 3 ปีเริ่ม 1 ต.ค. รัฐจ่ายชดเชยดอกเบี้ย ธ.ก.ส. 3 หมื่นล้าน

เกษตรกร

ครม.เคาะแล้ว ! พักหนี้เกษตรกร 3 ปี รัฐชดเชยดอกเบี้ย 3 หมื่นล้าน เริ่มลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่านแอป ธ.ก.ส. ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ “จุลพันธ์” ลั่นรอบนี้ดีกว่า 13 ครั้งที่ผ่านมา จบโครงการมั่นใจช่วยเกษตรกรแข็งแรงขึ้น เผยลูกหนี้ ธ.ก.ส. ทั้ง “ลูกหนี้ดี-ลูกหนี้เอ็นพีแอล” เข้าข่าย 2.69 ล้านราย มูลหนี้รวม 2.83 แสนล้านบาท เปิดทางกู้เพิ่มได้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรลูกค้ารายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นระยะเวลา 3 ปี ครอบคลุมจำนวน 2.69 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ราว 2.83 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เฉลี่ยปีละ 1.1 หมื่นล้านบาท รวมเป็นเม็ดเงินทั้งสิ้นราว 3 หมื่นล้านบาท

“การพักหนี้รอบนี้ จะแตกต่างจากการพักหนี้ 13 ครั้ง ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาของ ธ.ก.ส. โดยลูกหนี้จะต้องกลับมาแข็งแรง ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะมีการสำรวจลูกค้าทุก ๆ 1 ปี และเป็นมาตรการสมัครใจ (opt in) ซึ่งเราคาดหวังว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการนี้ทั้ง 100%”

สำหรับเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการพักหนี้ดังกล่าว จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ลูกหนี้ปกติ ซึ่งภาครัฐจะช่วยเหลือเรื่องภาระดอกเบี้ย โดยกรณีที่ลูกค้าสามารถชำระหนี้ได้ ธ.ก.ส.จะนำเงินไปตัดชำระเงินต้นให้ครึ่งหนึ่ง และ 2.กลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) หากลูกค้ากลุ่มนี้เข้าร่วมโครงการ และสามารถชำระเงินได้ ธ.ก.ส.ตัดเงินต้นให้ 100% เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับลูกหนี้ และระหว่างทางลูกหนี้สามารถกู้เพิ่มได้ ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ หรือ extended loan รายละไม่เกิน 1 แสนบาท ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ

โดยมาตรการพักหนี้เกษตรกรครั้งนี้ จะมี 5 จุดเด่น คือ 1.คงสถานะลูกหนี้ชั้นเดิมไว้ ไม่เป็นหนี้เสีย 2.พยายามจะตัดเงินต้น เปลี่ยนวิธีการตัดชำระเงิน 3.ให้สินเชื่อเพิ่มเติม จากเดิมไม่เคยกู้ได้ เป็นหากจ่ายชำระหนี้ได้ จะสามารถกู้ได้มากขึ้น โดยดูความสามารถในการกู้

4.เพิ่มความสามารถให้กับเกษตรกร มีการอบรมศักยภาพ มีการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ในการแนะนำการขายสินค้า และเพิ่มมูลค่าผลผลิต และ 5.พักหนี้ เป็นความตั้งใจที่จะพยายามช่วยลดภาระหนี้และหนี้เอ็นพีแอลลงผ่านการปรับโครงสร้างหนี้

“เราได้ฟังความคิดเห็นจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในข้อกังวล เช่น ไม่ควรเป็นมาตรการระยะยาว และไม่ควรหว่านแห จึงเป็นที่มาของการสมัครใจแบบ opt in และลูกหนี้จะต้องมาเจอหน้ากันทุก 1 ปี ไม่ใช่พักยาวหายไป 3 ปี” นายจุลพันธ์กล่าว

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ลูกหนี้ที่เข้าข่าย 2.69 ล้านราย คิดเป็นประมาณ 64% ของฐานลูกค้าทั้งหมดของธนาคาร ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอล 6 แสนราย มูลหนี้ 3.6 หมื่นล้านบาท จากลูกหนี้เอ็นพีแอลทั้งหมดของธนาคารที่มีอยู่ 7.8 แสนราย

“ลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการจะต้องมีหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2566 ไม่เกิน 3 แสนบาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติ หรือเอ็นพีแอล จะได้รับสิทธิในการพักชำระหนี้ ทั้งนี้ จะเริ่มเปิดให้ลูกหนี้ที่จะเข้าร่วมโครงการแสดงความจำนงผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคาร”

ส่วนลูกค้าที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้อีกประมาณ 40% ธ.ก.ส.จะมีโครงการพิเศษ หรือมาตรการเพิ่มเติม เช่น มาตรการช่วยเหลือเกี่ยวกับผลกระทบทางภัยธรรมชาติ หรือลูกค้าชั้นดี จะมีมาตรการแรงจูงใจ (incentive) ให้ลูกค้า เช่น ชำระดีมีโชค เป็นต้น