แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท “ศิริกัญญา” ตั้งข้อสังเกต กฎหมายออมสินให้กู้ไม่ได้

ศิริกัญญา ตันสกุล Digital Wallet ดิจิทัลวอลเล็ต เงินดิจิทัล แจกเงินดิจิทัล

“ศิริกัญญา” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกต กฎหมายออมสินปล่อยกู้ให้รัฐบาลไม่ได้ แถมออก พ.ร.ก.กู้เงินก็ยาก เหตุไม่จำเป็นเร่งด่วน ชี้นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจถึงทางตัน

วันที่ 24 ตุลาคม 2566 นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า หรือว่า digital wallet จะถึงทางตัน…? พร้อมชี้ว่า ธนาคารออมสินที่ยืนหนึ่งเป็นแหล่งที่มาของงบฯที่จะใช้สำหรับดิจิทัลวอลเลต 5.6 แสนล้านบาท อาจจะใช้ไม่ได้เสียแล้ว ไม่ใช่แค่ว่าออมสินมีสภาพคล่องไม่พอ แต่เป็นเรื่องข้อจำกัดของกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ออมสินปล่อยกู้ให้รัฐบาลได้

โดยตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ออมสิน กำหนดวัตถุประสงค์เอาไว้ว่า ให้ทำกิจการใดบ้าง ซึ่งก็เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ รับฝากเงิน ปล่อยกู้ ซื้อขายพันธบัตร ลงทุน ไม่มีข้อไหนที่ให้รัฐบาลกู้เงินได้ แต่หากจะทำกิจการอื่นต้องตราเป็น พ.ร.ฎ.

ซึ่งเมื่อไปดูใน พ.ร.ฎ.กำหนดกิจการพึงเป็นงานธนาคาร ระบุกิจการไว้ 13 ข้อ ลงรายละเอียด ไปจนถึงธุรกิจเงินตราต่างประเทศ การออกบัตรเครดิต ที่ปรึกษาการเงิน แต่ก็ไม่มีข้อไหนเลยที่เข้าข่ายจะตีความว่านำเงินให้รัฐบาลกู้ยืมได้

“ถ้าไม่เชื่อลองถามกฤษฎีกาดูก็ได้ ความหวังที่จะใช้เงินออมสินมาเป็นแหล่งเงินของโครงการดิจิทัลวอลเลตก็คงต้องจบลงแค่นี้ ยกเว้นแต่ว่าจะมีการแก้กฎหมาย ซึ่งไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เสียทีเดียว แต่ก็ไม่ควรทำ”

Advertisment

น.ส.ศิริกัญญาระบุอีกว่า สมัยประยุทธ์ทำรัฐประหารใหม่ ๆ ก็เคยออกคำสั่ง คสช. แก้ พ.ร.บ.กสทช. ว่าด้วยวัตถุประสงค์ กองทุนวิจัยและพัฒนาของ กสทช. ให้เพิ่มว่ากองทุนสามารถให้กระทรวงการคลังกู้ยืมเงินได้ ซึ่งต่อมากระทรวงการคลังก็มากู้ไปจริง ๆ 14,300 ล้านบาท (ที่ตลกก็คือ มีการออกคำสั่ง คสช.อีกฉบับเพื่อแก้ พ.ร.บ.กลับไปเป็นเหมือนเดิม พร้อมยกหนี้หมื่นล้านนี้ให้กระทรวงการคลังด้วย)

“เราก็ต้องมาวัดใจกันดูว่าจะถึงขั้นแก้กฎหมายเพื่อให้รัฐสามารถกู้เงินออมสินได้หรือไม่ ถ้าไม่แก้กฎหมาย เหลือทางเลือกอะไรอยู่บ้าง เหลือแค่ใช้เงินงบประมาณ กับออก พ.ร.ก.กู้เงินเหมือนช่วงโควิด”

น.ส.ศิริกัญญายังระบุอีกว่า Update ข้อมูลงบฯ 2567 ที่ปรับปรุงใหม่ ถึงจะขยายงบฯเป็น 3.48 ล้านล้านบาท แต่ก็ต้องจ่ายหนี้เพิ่ม ลงทุนเพิ่มตามไปด้วย เมื่อหักรายจ่ายที่ยังไงก็ต้องจ่าย ทั้งเงินเดือนสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ งบใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เงินชดใช้เงินคงคลัง งบฯท้องถิ่น และสวัสดิการตามกฎหมาย

งบฯที่เหลือมาจัดสรรใหม่ได้จริง เพิ่มมาเป็น 476,000 ล้านก็จริง แต่ขอย้ำว่านี่คือรายจ่ายประจำที่ต้องแชร์กับพรรคร่วมรัฐบาล 20 กระทรวง ถ้าใช้หมดนี่ก็หมายความว่า แต่ละกระทรวงได้เงินแค่พอจ่ายเงินเดือน กับงบฯลงทุน โครงการอื่น ๆ ไม่ต้องทำกันแล้ว จะตั้งกองทุน soft power ก็ไม่ได้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพิ่มงบฯไม่ได้

Advertisment

งบฯอุดหนุนบรรเทาภัยแล้งก็ไม่ได้ งบฯอุดหนุนดับไฟป่าแก้ PM 2.5 ก็ไม่ได้ โครงการฝึกอบรม upskill-reskill อะไรก็ทำไม่ได้ทั้งหมด ไม่ต้องพูดถึงค่าตอบแทน อสม. กำนันผู้ใหญ่บ้าน ก็หายหมดเช่นเดียวกัน ซึ่งเท่ากับว่าทางเลือกนี้ก็คงเป็นไปไม่ได้เหมือนเดิม

“หรือ… จะให้ผู้ประกอบการเก็บเหรียญดิจิทัลไว้ ยังไม่ให้แลกคืน รออีกซักปี 2 ปี ให้มีงบประมาณพอ ก็อาจเป็นอีกทางเลือก แต่ก็เสี่ยงที่จะทำให้ไม่มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการ ทางเลือกสุดท้าย คือออกเป็น พ.ร.ก.เงินกู้แบบที่ทำช่วงโควิด ก็จะถือเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมืองชัด ๆ ซึ่งก็ทำไม่ได้อีก เพราะไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนตามรัฐธรรมนูญ น่าคิดนะคะ ว่าอาจจะถึงทางตันจริง ๆ”