ธนาคารเขย่าแผนปั๊มรายได้ รับศึกเลิกค่าฟี-ลดดอกเบี้ย

ภาพที่เห็นกันว่า บรรดาธนาคารพาณิชย์พาเหรดกัน “ลดค่าธรรมเนียม” การโอน/ถอนเงิน บนช่องทางดิจิทัล หรือโมบายแบงกิ้ง ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เริ่มต้นนำร่องจากธนาคารไทยพาณิชย์ จากนั้นก็ตามมาด้วยค่ายใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ตามต่อด้วยแบงก์ขนาดกลางและขนาดเล็กก็แห่ลดตาม ๆ กันมา

โดยการขยับครั้งนี้ถือเป็นการดิ้นรนปรับตัวรับมือการ “ดิสรัปชั่น” จาก “แพลตฟอร์ม” ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามา ดังนั้นแบงก์จึงต้องเร่งเกมเพื่อรักษาฐานลูกค้า โดยดึงคนไว้กับ “แพลตฟอร์ม” ของตัวเองให้ได้มากที่สุด ซึ่งระยะแรกจำเป็นต้องเร่งชิฟต์ลูกค้าจากการทำธุรกรรมผ่านสาขา หรือตู้เอทีเอ็มไปอยู่บน “แพลตฟอร์ม” จึงต้องจูงใจให้ “ลูกค้ารัก” นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อส่องเข้าไปดู หลายแบงก์ไม่ได้มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้าที่จะลดค่าฟีรอบนี้ มีเพียงธนาคารไทยพาณิชย์เจ้าเดียว ที่เตรียมการมาไม่ต่ำกว่า 5 เดือน

ขณะที่ “ธนาคารกสิกรไทย” ประกาศผ่านที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ว่า การลดค่าฟีครั้งนี้ทำให้แบงก์จำเป็นต้อง “ลดเป้าหมาย” การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย (non-interest income growth) ของปี 2561 ลง 6-8% แย่กว่าก่อนหน้านี้ที่คาดว่ารายได้ส่วนนี้จะทรงตัวจากปีก่อนหน้า

ซึ่งการตัดสินใจ “เฉือนเนื้อ” แบบฉุกละหุกของทางธนาคารกสิกรไทยนี้ น่าจะเป็นการตัดสินใจเพื่อ “กลับสู่เกม” ที่เท่ากันกับคู่แข่งอย่างแบงก์ไทยพาณิชย์ เพราะต้องอย่าลืมว่า ธนาคารกสิกรไทยครอง “เบอร์ 1” ในเรื่องฐานลูกค้าโมบายแบงกิ้งอยู่ก่อนหน้านี้

โดย “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทย ให้สัมภาษณ์หลังประชุมผู้ถือหุ้นว่า คงจะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ว่าในอนาคตจะต้องมีการลดเป้าหมายรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลงอีกหรือไม่ หลังจากปรับลดเป้าหมายรอบนี้แล้ว เพราะนับวันการแข่งขันยิ่งมีมากขึ้น

“การแข่งขันในอุตสาหกรรมธนาคารวันนี้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้รายได้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ถูกบีบตลอดเวลา และยังมีการแข่งขันด้านอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับวงการแบงก์อีกมากมาย ธนาคารจึงทำได้แต่เตรียมด้านเทคโนโลยีให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันให้ได้ในอนาคต” นายบัณฑูรกล่าว

หลังจากนั้นถัดมาอีก 1 วัน การประชุมผู้ถือหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ก็นับว่าระอุไม่แพ้กัน เพราะประเด็นที่ผู้บริหารต้องตอบคำถามผู้ถือหุ้นก็หนีไม่พ้นเรื่องการลดค่าฟี

ซึ่ง “อาทิตย์ นันทวิทยา” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ตอบว่า การลดค่าฟีครั้งนี้กระทบรายได้ธนาคารในระดับ 1,000 ล้านบาท หรือกระทบไม่ถึง 5% ของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยรวม โดยปีก่อนแบงก์มีรายได้ดังกล่าวถึง 3.6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “อาทิตย์” ประกาศว่า ธนาคารจะไม่ปรับลดเป้าหมายการเติบโตของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยปีนี้ลง แต่กลับคาดว่ารายได้ส่วนนี้จะดีขึ้น โดยน่าจะเติบโตได้ 0-5% ไม่ได้ “ติดลบ” เหมือนปีก่อนด้วยซ้ำ เนื่องจากค่าฟีที่หายไปเป็นสิ่งที่ธนาคารคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าอยู่แล้ว ทุกอย่างจึงอยู่ในประมาณการที่คิดไว้ ส่วนการเติบโตก็จะมาจากรายได้ค่าฟีอื่น ๆ ที่ธนาคารจะมีการปั๊มเพิ่ม เช่น รายได้ค่าฟีจากการขายกองทุน, ขายประกัน และจากการให้บริการสินเชื่อนั่นเอง

“การยกเว้นค่าฟีครั้งนี้ถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ในวงการธนาคารไทย และไม่คิดว่าธนาคารอื่น ๆ จะทำตามเรา แต่เรื่องนี้อยู่ในแผนธุรกิจของธนาคาร สิ่งที่ทำวันนี้จะเกิดประโยชน์ในอนาคต และสิ่งที่เราคิดว่าจะชดเชยรายได้ที่หายไปได้ คือการลดต้นทุนของธนาคาร อย่างการลดสาขา ที่ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าลดราว 200 สาขา ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของแบงก์ลดลงเยอะ เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนสาขาสูงมาก” นายอาทิตย์กล่าว

นอกจาก “สงครามค่าฟี” ที่เกิดขึ้นแล้ว ขณะนี้ยังมี “ปัจจัยกดดัน” จากการที่ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง ออกมา “เขย่า” ให้แบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเอสเอ็มอีกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันดอกเบี้ยเงินกู้ที่ให้กับรายใหญ่และรายเล็กมีส่วนต่างกันมาก ซึ่งนอกจากนักวิเคราะห์หุ้นแล้ว หลายฝ่ายต่างก็จับตาว่า การออกมาส่งสัญญาณของขุนคลังรอบนี้จะประสบความสำเร็จเหมือนการออกมาพูดครั้งก่อนหรือไม่

ทุกจังหวะก้าวนับจากนี้ คงต้องจับตาการเอาตัวรอดของธุรกิจแบงก์กันต่อไป