ก.ล.ต.-ตลท. ผนึกเรียกความเชื่อมั่น เล็งทบทวนเกณฑ์กำกับชอร์ตเซล

หุ้นไทย

สำนักงาน ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯ ผนึกเรียกความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย หลังภาวะหุ้นไทยผันผวนหนัก “เลขาธิการ ก.ล.ต.” เผยแนวโน้มชอร์ตเซลเพิ่มแต่ยังไม่มีนัย ไตรมาส 3/66 แตะ 3.5 แสนล้าน แจงหากพบชอร์ตเซลเอามาทุบหุ้น กลไกบังคับใช้กฎหมายจัดการทันที

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) วันนี้ค่อนข้างมีความผันผวนแรง โดยแกว่งแดนลบตลอดทาง ปิดตลาดอยู่ที่บริเวณ 1,404.97 จุด ลดลง 6.80 จุด หรือติดลบ 0.48% เมื่อเทียบจากดัชนีวันก่อนหน้า

แต่ปรับตัวลงไปทดสอบจุดต่ำสุดที่บริเวณ 1,389.46 จุด ลดลง 22.31 จุด มีมูลค่าการซื้อขายรวม 49,743.19 ล้านบาท โดยนับจากต้นปีถึงปัจจุบันผลตอบแทนหุ้นไทยปรับตัวลดลงไป 16.3% หรือปรับตัวลดลงกว่า 274 จุด

โดยวันนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้จัดแถลงด่วนเมื่อเวลา 17.00 น. เพื่อชี้แจงเรื่อง “การติดตามสภาวะตลาดทุน”

Advertisment

เรียกความเชื่อมั่น

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการกลับมาสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และช่วยทำให้ความเชื่อที่ไม่มีข้อมูลประกอบไม่กดดันหรือสร้างเซนติเมนต์เชิงลบให้กับตลาดทุนไทย

เพราะตอนนี้สภาวะตลาดทุนค่อนข้างมีความผันผวนมาก โดยมีหลากหลายปัจจัยทั้งเชิงมหภาคที่มาจากภายนอกประเทศ เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคเอเชีย และเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ย่อมมีผลกระทบต่อตลาดทุนทั่วโลก

และช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีการตั้งคำถามถึงปัจจัยกระทบที่ซ้ำเติมตลาดทุนไทยเข้ามานั่นคือ กรณีการชอร์ตเซล (Short Selling) การใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง (Program Trading) หรือการใช้โรบอตมาทำคำสั่งซื้อขายหุ้น จนทำให้เกิดการกระทำที่ไม่เป็นธรรมกับนักลงทุน

Advertisment

แนวโน้มชอร์ตเซลเพิ่ม Q3 แตะ 3.5 แสนล้าน

จึงขอชี้แจงว่า ก.ล.ต. และ ตลท. ในฐานะผู้กำกับดูแลตลาดทุน จะใช้ข้อมูลดาต้าในการคิดนโยบายเพื่อตัดสินใจ ไม่ได้ตามสภาพของอารมย์ ซึ่งที่ผ่านมาทรานแซกชั่นของการชอร์ตเซลในตลาดหุ้นไทยเทียบกับมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด นับจากต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) มีสัดส่วนแค่ 5.6% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด

และแม้มูลค่าชอร์ตเซลจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท แต่ไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบจากปีที่แล้วที่สภาวะตลาดดูดีกว่าปีนี้ และยิ่งถ้าแยกตามประเภทหลักทรัพยที่เกิดการทำชอร์ตเซล ไม่ว่าจะเป็นหุ้นกลุ่ม SET50 และหุ้นเล็ก จะเห็นสัดส่วนอยู่ในระดับเดิม อาจจะมีความแตกต่างเพิ่มขึ้นสำหรับการทำชอร์ตเซลผ่าน ETF ทั้งนี้ขอย้ำว่า ก.ล.ต. ได้มีการติดตามภาวะการทำชอร์ตเซลอยู่ตลอดเป็นรายไตรมาส

แจงแนวทางกำกับชอร์ตเซล

เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ก.ล.ต. ให้ทำชอร์ตเซลได้แบบมีเงื่อนไขคือต้องไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายล่าสุด จะไม่ได้ให้ทำในทุกระดับราคา และช่วงที่มีสถานการณ์ความผันผวนหรือเกิดวิกฤต เช่น วิกฤตโควิด ก.ล.ต. ได้มีการกำกับดูแลให้เข้มงวดมากขึ้น ในลักษณะให้ทำชอร์ตเซลได้ในราคาที่สูงกว่าหรือไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายล่าสุด (Uptick)

นอกจากนี้การทำชอร์ตเซลจะมีข้อห้ามตามกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ห้ามทำ Naked Short Sell ไม่ว่าจะมาจากโปรแกรมเทรดดิ้งหรือการซื้อขายปกติ เพื่อไม่ต้องการให้เกิดการผิดนัดในการหาหุ้นมาส่งมอบ ซึ่งด้วยกลไกดังกล่าว ก.ล.ต.และ ตลท.ค่อนข้างมั่นใจในการตรวจสอบที่จะเอาผิดและฟ้องร้องได้หากพบการทำ Naked Short Sell

และยืนยันว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องแบนชอร์ตเซลเพราะมีประโยชน์อยู่ และที่ผ่านมาได้มีการสอบทานเป็นปกติอยู่แล้ว โดย ตลท.จะเป็นหน้าด่านในการสอบทานจึงมั่นใจกลไกดังกล่าวได้

“การที่เราไม่แบนชอร์ตเซล เพราะเรายังไม่เห็นการทำชอร์ตเซลเป็นผลลบมากกว่าผลบวก ต้องยอมรับว่าข่าวที่เข้ามาไม่จำเป็นต้องมีแต่ข่าวดีเสมอไป เช่น ผลกระทบสงครามที่ส่งผลต่อการคาดการณ์ราคาพลังงานสูงขึ้น มีผลในเชิงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ดังนั้นเมื่อตลาดไม่มีชอร์ตเซล แปลว่าตลาดจะมีกลไกไปอั้นในเรื่องการปรับราคา นั่นหมายถึงราคาตลาดไม่เป็นไปตามกลไกที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตามหากการทำชอร์ตเซลเป็นไปในเชิงการชี้นำให้เกิดการซื้อขายผิดปกติหรือเอามาทุบหุ้น ซึ่งกลไกการบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) ต้องตามมา ซึ่งปกติดำเนินการอยู่แล้ว ขอให้ความมั่นใจ เพราะเป็นหน้าที่ต้องจัดการอยู่แล้ว” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

ทั้งนี้ถ้าจะขันนอตการกำกับชอร์ตเซล เบื้องต้น ก.ล.ต.มีแนวทางคือชะลอในภาวะที่ตลาดผันผวน แบบที่มีข้อมูลยังไม่สามารถสอบทานกลั่นกรองได้ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งไม่อยากให้เกิดการเก็งกำไร รวมทั้งจะใช้หลายมาตรการ อาทิ การปรับ ceiling-floor เป็นต้น และติดตามกำกับชอร์ตเซลสภาพปัจจุบันว่ามีแนวทางอื่นหรือไม่ด้วย

“ไม่ปฏิเสธว่าจะทบทวนกฎเกณฑ์ทางเลือก (Alternative Rules) คือมาตกลงร่วมกัน ไม่ต้องเห็นชอบเป็นรายกรณีไป แต่ต่อให้นำมาใช้ก็ต้องมีการบอกล่วงหน้า ถึงจะเป็นการจัดการสภาพตลาดทุนได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรมกับผู้ร่วมตลาด” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

หวั่น ‘อัลกอริทึมเทรด’ เพิ่มผันผวนตลาด

แต่ทั้งนี้อัลกอริทึมเทรดดิ้ง (Algorithmic Trading) ถือว่ามีความท้าทายในอนาคตที่ต้องจับตามอง 3 เรื่องคือ 1.ความซับซ้อนของอัลกอริทึม ที่ใช้ในการส่งคำสั่งซื้อขายในอนาคตจะมีความซับซ้อนขึ้น จากคำสั่งที่ในปัจจุบันเป็นแบบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (Rule-based) อาจะมีการพัฒนาให้ใช้อัลกอริทึมประเภท Machine Learning ในการส่งคำสั่งซื้อขาย ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบรูปแบบใหม่ ๆ ตามมา

2.ความเร็วในการส่งคำสั่งซื้อขายที่สูงขึ้น จากเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้น จะทำให้เกิดการใช้อัลกอริทึม สั่งคำสั่งแบบ High Frequency Trading : HFT มากขึ้นในอนาคต ทำให้ต้องเพิ่มการใช้เทคโนโลยีในการกำกับดูแล

และ 3.การมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบใหม่เกิดขึ้น ซึ่ง ก.ล.ต.ต้องติดตามให้เท่าทัน เพื่อทราบถึงความเสี่ยงและวางแนวทางคุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างเหมาะสม

“เพราะจะมีความเสี่ยง 3 เรื่องคือ 1.จำนวนคำสั่งที่อาจมีจำนวนมากเกินกว่าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะรับได้ 2.ตลาดถูกรบกวนโดยคำสั่งที่ซ้ำซ้อนหรือผิดพลาด และ 3.เพิ่มความผันผวนให้ตลาดและพฤติกรรมที่อาจเอาเปรียบผู้เล่นในตลาด”

HFT สัดส่วนแค่ 10% ไม่ได้กดดันตลาด

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ขอย้ำว่าวันนี้ตลาดหุ้นไม่ได้ถูกปั่นให้เกิดราคาเคลื่อนไหวจากการชอร์ตเซล และขอให้มั่นใจว่า ก.ล.ต.และ ตลท.ใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ติดตามดูตลอด โดยข้อมูลนักลงทุนต่างชาติมีการทำชอร์ตเซลในหุ้น SET100 เฉลี่ยที่ 10% สูงกว่านักลงทุนรายย่อยที่ 2% แต่ไม่มีนัยต่อการกดดันราคาหุ้นให้ลดลง ในทางกลับกันพบว่าการทำชอร์ตเซลโดยนักลงทุนรายย่อยมีนัยต่อราคาหุ้น SET50 โดยหุ้นที่มีเปอร์เซ็นต์ชอร์ตเซลจากนักลงทุนรายย่อยสูงพบว่าราคาหุ้นลดลงสูงตามไปด้วย

ขณะที่โปรแกรมเทรดดิ้ง ไม่ใช่ HFT ทั้งหมด โดยมูลค่าการซื้อขาย HFT คิดเป็นเพียง 10% เท่านั้น ไม่ได้กดดันตลาด ซึ่ง HFT และ non-HFT Program ซื้อขาย 70% ใน SET 50 ขณะที่นักลงทุนรายย่อยซื้อขายมากกว่า 57% ใน nonSET50

“สัดส่วนมูลค่าซื้อขายหุ้น แบ่งตามประเภทนักลงทุนในช่วงไตรมาส 2/2566 พบว่า 34% เป็นนักลงทุนรายย่อย รองลงมา 24% เป็น non-HFT Program และตามมาด้วย 16% นักลงทุนต่างชาติ non program และ 16% จากนักลงทุนสถาบันและบัญชีหลักทรัพย์ ที่เหลือ 10% เป็นนักลงทุนต่างชาติ HFT โดย HFT มักปิด Position รายวัน ส่งผลให้ขายสุทธิส่วนใหญ่มาจาก non-HFT program ดังนั้นที่มีข่าวว่า HFT ขายไล่ตลาดไปนั้นไม่ถูกต้อง” นายภากร กล่าว

เชื่อโฟลว์ต่างชาติไหลกลับหุ้นไทย

ผู้จัดการตลาดหุ้นไทย กล่าวอีกว่า ปีนี้เป็นปีท้าทาย เซนติเมนต์ไม่ดีจากปัจจัยเชิงลบรอบโลก ฟันด์โฟลว์ไหลออก โดยดัชนี SET Index เป็นดัชนีตัวแปรชี้ภาวะเศรษฐกิจล่วงหน้า (Leading Indicators) ถ้าเกิดนักลงทุนต่างชาติมองว่าเศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวดีขึ้น จะสะท้อนกับความต้องการอยากเข้ามาลงทุน เพราะฉะนั้นต้องติดตามต่อไปว่าทำไมนักลงทุนไม่ได้มองว่าดัชนี SET ควรปรับตัวขึ้นทั้งที่มีบริษัทจดทะเบียนที่มีความสามารถในการทำกำไรได้ดี

เชื่อว่าถ้าสามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเศรษฐกิจไทยและบริษัทจดทะเบียนไทย เซนติเมนต์จะเปลี่ยนแปลงไป และคาดว่าจะเห็นโฟลว์ต่างชาติไหลกลับเข้ามา

“ปีนี้ตลาดหุ้นไทยลงแรงกว่าตลาดหุ้นอื่นจริง แต่ถ้ามองปีที่แล้วตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเรื่องเหล่านี้ต้องพิจารณาประกอบกับปัจจัยที่ทำให้ตลาดลงแรงกว่าตลาดหุ้นอื่น”