สรรพากรชี้ “ภาษีปีมังกร” ท้าทาย บี้ค้าออนไลน์หนุนเป้าจัดเก็บ 2 ล้านล.

ภาษีปีมังกร

อธิบดีสรรพากรกางเป้าเก็บภาษีกว่า 2.27 ล้านล้าน รับปี’67 เก็บรายได้ยังท้าทาย ทั้งจาก “ต้นทุนธุรกิจที่สูง” จาก “ดอกเบี้ย-ราคาพลังงาน” เผย 2 เดือนแรก เก็บเกินเป้าอยู่ 1.29 หมื่นล้าน เดินหน้าขยายฐาน “แพลตฟอร์มดิจิทัล” ล่าสุด จี้ส่งข้อมูลผู้ค้าออนไลน์

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.-พ.ย. 66) กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ 288,400 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 12,700 ล้านบาท หรือ 4.6% เป็นไปตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งแนวโน้มปี 2567 ก็ประเมินว่าเศรษฐกิจยังคงปรับตัวดีขึ้น โดยได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว

“เรายังจัดเก็บรายได้ตามเป้า ซึ่งสรรพากรเป็นกําลังสําคัญ เพราะว่ามีสัดส่วนรายได้รัฐอยู่ถึง 75-80% ค่อนข้างสูง ล่าสุด ในเดือน พ.ย. เราจัดเก็บได้ 146,400 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วเกือบ 6,000 ล้านบาท ที่สำคัญก็มาจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ดูจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เก็บได้สูงกว่าปีที่แล้ว 2.8% ทั้งนี้ ก็ได้ประชุมมอบนโยบายสรรพากรภาคไปแล้ว ว่า 2 เดือนทำได้ดี และขอให้รักษาความแรงนี้ต่อไป”

“ต้นทุนธุรกิจพุ่ง” ปัจจัยท้าทาย

สำหรับปีงบประมาณ 2567 กรมสรรพากรได้รับเป้าหมายจัดเก็บรายได้ที่ 2.2767 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 3% สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างท้าทาย จากภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างผันผวน

“ปีนี้ เศรษฐกิจก็ยังมีความท้าทาย อย่างธุรกิจก็มีพวกต้นทุนดอกเบี้ยที่ยังสูง พวกนี้เป็นต้นทุนของธุรกิจทั้งนั้น แล้วยังมีความท้าทายด้านราคาพลังงานอีก ดังนั้น หลายอย่างเป็นเรื่องของต้นทุน ก็จะมากระทบกับเรื่องการจัดเก็บของกรมบ้าง แต่ว่าก็คิดว่า เราจะสามารถทําได้ตามเป้า ในช่วงที่เหลือ ถ้ามองความท้าทายอย่างที่บอก ยังมีอยู่พอสมควร”

ขยายฐาน “แพลตฟอร์มดิจิทัล”

ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไปสู่ดิจิทัล ทําให้มีธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่ท้าทายการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะพวกแพลตฟอร์มอะไรต่าง ๆ กรมจึงต้องเข้าไปดูตรงนี้มากขึ้น ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่มีการทำข้อตกลงกันไว้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศ โดยมีประเทศสมาชิกอยู่ราว 130 ประเทศ

ADVERTISMENT

“ตอนนี้ ต่างประเทศก็เริ่มให้ข้อมูลเรามาแล้ว และเราก็ต้องให้ข้อมูลเขาตามนั้นเช่นกัน ก็จะเอาข้อมูลไปแมตชิ่งกัน ว่ามีคนที่อยู่ต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีอย่างไร ซึ่งต่างประเทศ เขาสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น จากข้อมูลที่เราส่งไป ส่วนของเรา ก็บอกเจ้าหน้าที่ว่า ต่อไปนี้พอข้อมูลเริ่มส่งมา ซึ่งจะเริ่มเห็นตั้งแต่ปี 2567 นี้เป็นต้นไป ก็ต้องนำมาแมตช์กับข้อมูลคนเสียภาษีของเรา ก็น่าจะเพิ่มประสิทธิภาพได้มากขึ้น”

ขันนอตภาษีเงินได้ต่างประเทศ

นางสาวกุลยากล่าวว่า กรณีคนไทยมีเงินได้ในต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ปลัดกระทรวงการคลัง ตอนที่เป็นอธิบดีกรมสรรพากรเคยระบุว่า หากนำเงินได้กลับเข้ามาในปีใดก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีในปีนั้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี แต่อนาคต เนื่องจากมีข้อมูลจากต่างประเทศที่มากขึ้น ก็จะมีการแก้กฎหมายกำหนดว่า เงินได้เกิดขึ้นเมื่อใด จะนำเข้ามาหรือไม่ ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการทันที ซึ่งจะเร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมายต่อไป

ADVERTISMENT

ชูระบบดิจิทัลช่วยขยายฐาน

สำหรับการขยายฐานภาษีนั้น อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า นโยบายที่กรมสรรพากรพยายามผลักดันต่อเนื่องก็คือ “ONE RD” ทำให้การบริการภาษี เป็นเรื่องที่ง่ายไร้รอยต่อ เป็นมิตรกับประชาชน เพื่อให้กรมสรรพากรถูกมองว่าเป็นผู้แนะนําในการเสียภาษี ไม่ใช่ถูกมองแบบไล่ตรวจเก็บภาษี แต่เป็นพันธมิตรกับบริษัทต่าง ๆ มีการแนะนําให้ทําเรื่องภาษีอย่างถูกต้อง กิจการจะได้เติบโตไปได้อย่างเข้มแข็ง

“ด้านนวัตกรรม เราก็จะต่อยอดที่ทำไปแล้ว ก็คือ แชตบอต “น้องอารี” ก็จะเอาพวกเอไอมาพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมันต้องเรียนรู้คําถาม-คําตอบ ให้เป็นไปในแพตเทิร์นเดียวกันมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เรามองว่า ถ้าสร้างความเข้าใจแล้ว เด็กรุ่นใหม่ ก็ไม่ได้อยากหนีภาษี เขาต้องการที่จะจ่ายให้มันถูกต้อง”

นอกจากนี้ ก็ยังมีในเรื่องใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่พยายามจูงใจคนเข้ามาอยู่ในระบบนี้มากขึ้น ล่าสุด ก็ทำผ่านมาตรการ Easy E-Receipt ที่ให้ลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 50,000 บาท โดยจูงใจผู้ประกอบการร้านค้าให้มาใช้ระบบ e-Tax Invoice มากขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้าให้ถึง 10,000 ราย จากปัจจุบันมีประมาณ 4,100 ราย

“เราก็มีทำหลายแบบ พยายามที่จะใช้โซเชียลมีเดียอะไรมากขึ้น ทำให้คนเข้าใจ ในที่สุดคนก็จะมาเข้าระบบมากขึ้น รวมถึงดูเรื่องแรงจูงใจ อย่างที่รัฐบาลเพิ่งออกมาตรการมา การให้ใช้ e-Tax Invoice ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะดึงให้คนมาเข้าระบบมากขึ้น จริง ๆ ร้านค้าเหล่านี้ก็อยู่ในระบบ VAT อยู่แล้ว แต่ถ้ามาเป็น e-Tax Invoice ก็จะได้ประโยชน์จากมาตรการด้วย”

จี้แพลตฟอร์มส่งข้อมูล

ล่าสุด กรมสรรพากรได้ออกประกาศ กำหนดให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจัดทำบัญชีพิเศษ เพื่อนำส่งข้อมูลรายรับของผู้ประกอบการให้กับกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไปนั้น อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า ประกาศจะครอบคลุมในส่วนแพลตฟอร์มในประเทศ อย่างไรก็ดี แพลตฟอร์มต่างประเทศ ทางกรมก็จะได้ข้อมูลมาเช่นกัน