จุลพันธ์ ชี้ ธปท. ขึ้นดอกเบี้ย “เร็ว-แรง” ยันที่ผ่านมาคลังสั่งแบงก์รัฐตรึงเต็มที่

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์

จุลพันธ์ รมช.คลัง ระบุ ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงเกิน ทำเงินเฟ้อติดลบ ยันแบงก์รัฐพยายามตรึงดอกเบี้ยนานที่สุด ยอมรับนายกฯ คุยกับผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นระยะ

วันที่ 8 มกราคม 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ มีนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด โดยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 แบงก์รัฐทุกแห่งก็มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และในช่วงต้นปี 2567 ก็มีการปรับขึ้นเล็กน้อย อย่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR แค่ 25 สตางค์ ก็จะพยายามตรึงกันอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบ

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ส่วนของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีการปรับขึ้นมาจากในภาพรวม และตลาดเป็นการแข่งขันสมบูรณ์ มันก็มีความจำเป็นที่ธนาคารต่าง ๆ จะต้องอยู่ภายใต้การแข่งขันเดียวกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

ต่างจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ด้วยความที่เป็นธนาคารเพื่อประชาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อความช่วยเหลือเป็นหลัก ก็พยายามตรึงให้ได้มากที่สุดและยาวนานที่สุด ทั้งนี้ ตนเองมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผ่านมาเร็วและแรง ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

“ตัวอย่างง่าย ๆ เลย อย่างตอนนี้อัตราเงินเฟ้อติดลบมา 2-3 เดือน ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นสถานการณ์ที่กระทรวงการคลังจับตาดูใกล้ชิด” นายจุลพันธ์กล่าว

Advertisment

รมช.คลังกล่าวต่อว่า ส่วนโอกาสในการหารือกับ ธปท. ในประเด็นนี้หรือไม่ เป็นภารกิจของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะมีการพูดคุย เท่าที่ทราบมีการพูดคุยกันเป็นระยะในประเด็นเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับนายกฯ จะมีโอกาสพบผู้ว่าการแบงก์ชาติหรือไม่ ยอมรับว่าเป็นห่วงสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน คลังก็มีหน้าที่ทำในกรอบหน้าที่ภารกิจที่มีตามกฎหมาย แน่นอนว่าภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อติดลบส่อไปในทางที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวได้

แต่กลไกของรัฐก็มีหน้าที่ที่จะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจให้ประชาชนสามารถอยู่ได้ มีเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่เพียงพอ เป็นกลไกที่เรามีหลาย ๆ ตัว ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ที่ต้องเร่งผลักดันให้ได้เร็วที่สุด กลไกในการใช้งบประมาณไปพลางก่อน ก็เป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะต้องดำเนินการ เพราะนี่เป็นเครื่องมือทางการคลังที่เราใช้ได้

“อัตราเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบจนเกิดภาวะเงินฝืดหรือไม่นั้น ก็อยู่ในการจับตาดูของคลังเหมือนกัน ว่ามีความเสี่ยงในระดับนั้นหรือไม่ ณ ขณะนี้ยังไม่อาจชี้ชัดได้ ส่วนหนึ่งที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ 2 เดือน ส่วนหนึ่งจากกลไกเรื่องการช่วยเหลือราคาพลังงาน แต่ถ้าดึงราคาพลังงานออกจากเงินเฟ้อเดือนล่าสุด ก็น่าจะลบ 1.5% ก็ยังติดลบอยู่ แต่ไม่ได้อยู่ในจุดที่เป็นความเสี่ยงขนาดนั้น” รมช.คลังกล่าวเพิ่มเติม