รู้จัก ธนาคารไทยเครดิต หุ้น CREDIT แบงก์ IPO น้องใหม่ในรอบ 10 ปี

ธนาคารไทยเครดิต Thai Credit Bank

รู้จัก ธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) ธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบน้องใหม่ของไทย ในมือของ “วานิช ไชยวรรณ” เตรียมขายหุ้น IPO ครั้งแรกในรอบทศวรรษ

จากกรณีที่ ธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของ “วานิช ไชยวรรณ” เตรียมเสนอขายหุ้น IPO แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก ในวันที่ 23-26 มกราคม 2567 โดยธนาคารไทยเครดิต เป็นธนาคารล่าสุด ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ยกระดับจากธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย เป็นธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ และถือเป็นธนาคารน้องใหม่ล่าสุดที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในรอบทศวรรษ

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนย้อนดูเส้นทางของธนาคารแห่งนี้ให้มากขึ้น ก่อนเข้าสู่ตลาดหุ้นอย่างเป็นอย่างทางการ

“ไทยเครดิต” เริ่มต้นจาก “เครดิตฟองซิเอร์”

ธนาคารไทยเครดิต เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2513 ในชื่อ บริษัท กรุงเทพสินทวี จำกัด ทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 40,000,000 บาท ประกอบธุรกิจให้บริการทางการเงิน รูปแบบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งมีขอบเขตการให้บริการ คือ

  • รับฝากเงินหรือรับเงินจากประชาชนที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือเมื่อครบกำหนดระยะเวลา
  • ให้สินเชื่อ/ให้กู้ยืมเงิน โดยมีเงื่อนไขการรับจำนองอสังหาริมทรัพย์
  • รับซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยวิธีขายฝากเท่านั้น

จากนั้น ได้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทอีก 3 ครั้งคือ

Advertisment
  • 28 มีนาคม 2523 – บริษัท เครดิตฟองซิเอร์กรุงเทพสินทวี จำกัด
  • 2 กรกฎาคม 2524 – บริษัท เครดิตฟองซิเอร์ไพบูลย์เคหะ จำกัด
  • 27 ธันวาคม 2526 – บริษัท เครดิตฟองซิเอร์ไทยเคหะ จำกัด

โดยยังคงดำเนินธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกัน ตามขอบเขตธุรกรรมของธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

กระทั่งวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 ได้มีการแปรสภาพเป็น บริษัทมหาชนจำกัด ในชื่อ “บริษัท เครดิตฟองซิเอร์ ไทยเคหะ จำกัด (มหาชน)” ทุนจดทะเบียน 330,000,000 บาท ก่อนจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,000,000,000 บาท เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2548

เริ่มต้นเป็น “ธนาคารเพื่อรายย่อย”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 บริษัท เครดิตฟองซิเอร์ไทยเคหะ จำกัด ได้ขออนุญาตดำเนินการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย และกระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ตามหนังสือ ที่ กค.1004/364 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2547

จากนั้นวันที่ 22 ธันวาคม 2549 บริษัท เครดิตฟองซิเอร์ไทยเคหะ จำกัด (มหาชน) ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ และใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ เกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินต่างประเทศจากกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย

Advertisment

และเริ่มดำเนินการธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยอย่างเป็นทางการ เมื่อ 18 มกราคม 2550 ในชื่อ “ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)” เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันกับสถาบันการเงินอื่น และมีเป้าหมายในการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อย

อีกทั้ง ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย เป็นธนาคารไทยแห่งแรกและแห่งเดียวที่มุ่งเน้นให้บริการสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (MSME) และสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) แก่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ

โดยกลุ่มลูกค้าครอบคลุมตั้งแต่ เจ้าของกิจการแผงลอย ร้านค้าขนาดเล็กและขนาดกลาง จนถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี

นอกจากการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อยแล้ว ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ยังได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตและใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันให้กับลูกค้าสินเชื่อ ลูกค้าเงินฝาก และลูกค้าทั่วไป

และเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2552 ได้รับได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จากกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ แบบ ง ทำให้สามารถเป็นตัวแทนจำหน่ายกองทุนรวมได้

รวมถึงมีการลงทุนเข้าซื้อกิจการทั้งหมดของบริษัท ธนบรรณ จำกัด เมื่อปี 2552 เพื่อขยายธุรกิจการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ก่อนจะขายหุ้นที่ถือทั้งหมดออกไปเมื่อปี 2557 เนื่องจากต้องการขับเคลื่อนตามแผนการดำเนินธุรกิจในการเน้นให้บริการสินเชื่อสำหรับรายย่อย

ขยายการเติบโต

ปี 2555 ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทีมบริหาร โดยให้ นายวิญญู ไชยวรรณ ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานธุรกิจการเงินมานานนับ 20 ปี เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตมุ่งสู่ “ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยที่ดีที่สุด”

จากนั้นได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ตั้งแต่การเริ่มให้บริการสาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อย เน้นการให้บริการด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อย จนถึงการให้บริการสินเชื่อรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสินเชื่อไมโครและนาโนเครดิตเพื่อคนค้าขาย สินเชื่อที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างปลอดภัยและเป็นธรรม โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน

และสินเชื่อบ้านแลกเงิน ให้ลูกค้าสามารถเลือกนำเงินสินเชื่อไปปิดบัญชีสินเชื่อประเภทอื่น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย หรือเป็นการรวมหนี้อื่น ๆ มาไว้ที่เดียว

และในปี 2561 ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ได้ก่อตั้งบริษัท ไทยไมโคร ดิจิทัล โซลูชั่นส์ จำกัด (“TMDS”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคาร ที่ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ของทุนชำระแล้วทั้งหมด เพื่อให้บริการด้านธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปพลิเคชั่น “ไมโครเพย์” (Micro Pay e-Wallet)

โดยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินภายใต้การกำกับจากธนาคารแห่งประเทศไทย และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2562 เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคไปยังสังคมไร้เงินสด และเพิ่มประสิทธิภาพของสาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อยและการจัดการเงินสด

ขณะเดียวกัน ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ได้รับรางวัลการันตีความสำเร็จ โดยได้รับรางวัลธนาคารเพื่อรายย่อยที่เติบโตเร็วที่สุดในประเทศไทย (Fastest Growing Retail Bank in Thailand) ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน (ปี 2560-2562) จากนิตยสาร Global Banking & Finance Review ประเทศอังกฤษ จากการทำผลกำไรสุทธิเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่ปี 2557-2561

เดินหน้าเป็นแบงก์พาณิชย์เต็มตัว

เมื่อวันที่ 2 พฤษาภาคม 2566 นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้มีการยื่นแบบ Filing ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อจะเสนอขายหุ้น IPO ไปแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ

  1. เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคาร เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ
  2. ปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure)
  3. เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และวัตถุประสงค์อื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยว่า ธนาคารได้ยื่นขอกระทรวงการคลังยกฐานะจาก “ธนาคารเพื่อรายย่อย” เป็น “ธนาคารพาณิชย์” เต็มรูปแบบ ซึ่งเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบธนาคาร ดำเนินการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์

โดยธนาคารมีเวลา 1 ปี เพื่อดำเนินการตามแผนที่เสนอกระทรวงการคลังไว้ อาทิ แผนทดสอบระบบงานและความเสี่ยงต่าง ๆ เงินกองทุน และเกณฑ์การให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ที่จะต้องทำให้เป็นไปตามแผน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566

ทั้งนี้ การยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์นั้น ธนาคารไทยเครดิต มีแผนที่จะขยายการให้บริการไปยังสินเชื่อการค้าต่างประเทศ (Trade Finance) รวมถึงการให้บริการสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกรรมการค้าต่างประเทศ

นอกจากแผนการยกระดับธนาคารไทยเครดิต ให้เป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบแล้ว ในปีเดียวกัน ธนาคารไทยเครดิต ได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งในชื่อ “alpha by Thai Credit” เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านมือถือ

กระทั่งเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ธนาคารไทยเครดิต ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 จากกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ และเปลี่ยนสถานะเป็น “ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน)” ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ระบุว่า ธนาคารไทยเครดิต มีจำนวนลูกค้าและช่องทางการให้บริการดังนี้

จำนวนลูกค้า

  • พอร์ตสินเชื่อ 138,435 ล้านบาท
  • จำนวนสัญญาสินเชื่อทั้งหมด 371,699 สัญญา
  • ลูกค้าสินเชื่อไมโครเอสเอ็มอี 24,254 สัญญา
  • ลูกค้าสินเชื่อไมโครและนาโนไฟแนนซ์ 253,289 สัญญา

ช่องทางบริการ

  • สาขารับฝากเงิน 27 สาขา
  • สาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อยและสำนักงานนาโนเครดิต 500 สาขา
  • แอปพลิเคชั่น Micro Pay e-Wallet
    • บัญชีที่ดาวน์โหลดและผ่านการยืนยันตัวตน (E-KYC) แล้ว 428,927 บัญชี
    • จำนวนผู้ใช้งาน (Active user) 30.4%
    • จำนวนธุรกรรมเข้าออก 13,997 ล้านบาท
  • แอปพลิเคชั่น alpha by Thai Credit

แบงก์น้องใหม่ IPO เข้าตลาดหุ้นในรอบ 10 ปี

นายกนต์ธีร์ ประเสริฐวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยในงาน IPO Public Roadshow ของธนาคารไทยเครดิต เมื่อ 22 มกราคม 2567

โดยระบุว่า ปัจจุบันธนาคารเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกและเสนอขายโดยธนาคาร และหุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม จำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 5.00 บาท/หุ้น คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 28.2 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคาร กำหนดช่วงราคาขายเบื้องต้นที่ 28.00-29.00 บาทต่อหุ้น

โดยเตรียมเปิดให้จองซื้อสำหรับนักลงทุนรายย่อย ระหว่างวันที่ 23-26 มกราคม 2567 และเตรียมเปิดให้นักลงทุนสถาบันจองซื้อในวันที่ 31 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2567 ผ่านช่องทางบริษัทหลักทรัพย์ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย 3 ราย คือ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จํากัด บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ ตามเอกสารนำเสนอในงาน IPO Public Roadshow ธนาคารไทยเครดิต คาดการณ์ว่า จะเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567

ข้อมูลจาก เอกสารไฟลิ่ง และร่างหนังสือชี้ชวน, เอกสารประกอบการเสนอ งาน IPO Public Roadshow, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (บริษัท เครดิตฟองซิเอร์ไทยเคหะ จำกัด, ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน)), ประวัติธนาคาร