เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือน จับตา 4 ปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า

เงินบาท ธนบัตร
Thai baht notes REUTERS/Athit Perawongmetha

เงินบาทยังคงอ่อนค่า แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ระดับ 35.88 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่หุ้นไทยยังร่วงลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ผลประชุมเฟด (30-31 ม.ค.) รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือน ธ.ค. 2566 ของ ธปท. รวมถึงผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของ บจ.ไทย

วันที่ 28 มกราคม 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนที่ 35.88 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์

เงินบาทอ่อนค่าลงตามเงินเยนและสกุลเงินเอเชียบางส่วนช่วงต้นสัปดาห์ก่อนการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งตลาดคาดว่า BOJ น่าจะคงนโยบายการเงิน และอาจจะยังไม่ส่งสัญญาณมากนักเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดี เงินบาทแกว่งตัวในกรอบอ่อนค่าในช่วงต่อมาท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย แม้เงินเยนจะเริ่มฟื้นตัวกลับ

หลังถ้อยแถลงของผู้ว่าการ BOJ ถูกตลาดตีความว่าเป็นสัญญาณเชิงคุมเข้ม และ BOJ ใกล้ที่จะถอนตัวออกจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินแบบพิเศษแล้ว

นอกจากนี้ เงินบาทยังอ่อนค่าลงตามแรงขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องของต่างชาติ สวนทางเงินดอลลาร์ ที่มีแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดี อาทิ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือน ม.ค. และจีดีพีไตรมาส 4/66 ซึ่งหนุนโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นเฟดจะยืนอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงเป็นเวลานาน

Advertisment

อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามแรงขายเงินดอลลาร์ เพื่อปรับโพซิชั่นก่อนตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ในคืนวันศุกร์ (26 ม.ค.) และก่อนการประชุมของธนาคารกลางสหรับ (เฟด) ในวันที่ 30-31 ม.ค. นี้

กราฟค่าเงินบาท 12-26 jan 2024

ในวันศุกร์ที่ 26 ม.ค. 2567 (ก่อนช่วงตลาดนิวยอร์ก) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.58 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 ม.ค. 2567) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 22-26 ม.ค. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย 11,413 ล้านบาท และ 1,619 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (29 ม.ค.-2 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.30-36.15 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (30-31 ม.ค.) และรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือน ธ.ค. 2566 ของ ธปท.

Advertisment

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือน พ.ย. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือน ธ.ค. ดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิต ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือน ม.ค. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOE จีดีพีไตรมาส 4/2566 ของยูโรโซน และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนม.ค. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน

กราฟ set-12-26 jan 2024

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวน แต่ยังคงปรับตัวลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน

ทั้งนี้หุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ และแตะจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี 3 เดือนที่ 1,352.48 จุด โดยเผชิญแรงขายต่อเนื่องจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มแบงก์หลังผลประกอบการไตรมาส 4/66 ออกมาต่ำกว่าคาด

ประกอบกับมีปัจจัยลบจากข่าว สศค. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 และ 2567 ลง หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้น ๆ กลางสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากการเตรียมตั้งกองทุนพยุงหุ้นและออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน และจากปัจจัยทางการเมืองในประเทศ

อย่างไรก็ดีหุ้นไทยย่อตัวลงอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากความกังวลเรื่องผลประกอบการ และแรงขายเพื่อลดความเสี่ยงก่อนการประชุมเฟดในสัปดาห์หน้า (30-31 ม.ค.)

ในวันศุกร์ที่ 26 ม.ค. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,368.15 จุด ลดลง 1.04% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 48,684.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.22% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.89% มาปิดที่ระดับ 408.82 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (29 ม.ค.-2 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,360 และ 1,350 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,380 และ 1,390 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (30-31 ม.ค.) ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และผลประกอบการงวดไตรมาส 4/66 ของ บจ.ไทย

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือน ม.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2566 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ม.ค. ของยูโรโซน และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ม.ค. ของจีน ญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษเดือน ม.ค.