ระวังตกขบวน ปี 2567 ถึงคราว ‘หุ้นญี่ปุ่น’ ผงาด

บทความโดย "ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์"
CEO Jitta Wealth

 

วันที่ 30 มกราคม 2567 แรงเกินต้านจริง ๆ สำหรับตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่สดใสตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ล่าสุดทั้งดัชนี TOPIX และดัชนี Nikkei 225 ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 34 ปี แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ที่สำคัญเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากปี 2566 สามารถโชว์ฟอร์มหรูให้ผลตอบแทนได้สูงกว่า 28% เป็นหนึ่งในตลาดที่ทำผลงานดีที่สุดของโลกทีเดียว

ก่อนอื่น ผมขอแสดงความยินดีกับนักลงทุนชาว Jitta Wealth ที่กำลังถือ Jitta Ranking หุ้นญี่ปุ่นทุกคนด้วย ยิ่งใครที่ลงทุนตั้งแต่ผมเปิดกองทุนนี้เมื่อปี 2565 มาถึงตอนนี้เชื่อว่ายิ้มออกทุกคนเป็นแน่ ด้วยผลตอบแทน 7.46% ในปี 2566 เพราะในเวลานั้นญี่ปุ่นอยู่ในช่วงที่เพิ่งโผล่พ้นน้ำจาก The lost decade เป็นช่วงที่หุ้นญี่ปุ่นอยู่นอกสายตาใครหลายคน​ แต่สำหรับผมในเวลานั้นที่ตัดสินใจเปิดกองทุนญี่ปุ่นเพราะมองว่าหุ้นญี่ปุ่นกำลังเข้าหลักการ​ VI ที่เน้นให้เลือกหุ้นดีราคาถูก​มาครอบครอง

แล้วปีนี้หุ้นญี่ปุ่นจะติดเครื่องวิ่งไปต่อแรงแค่ไหน ? ที่สำคัญยังมีปัจจัยอะไรบ้าง ที่จะเอื้อต่อแนวโน้มลงทุนในระยะข้างหน้า ตลาดยังมีเซนติเมนต์ดีอยู่ใช่มั้ย

‘เงินเยนอ่อนค่า’ หัวเชื้อหลักดึงเม็ดเงินต่างชาติ

ส่วนตัวผม เป็นนักลงทุนสาย VI ตามรอยปู่ Warren Buffett ขอตอบเลยว่า ผมยังเชื่อมั่นว่า ปีนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มที่จะแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง จากกระแสนักลงทุนต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าซื้ออย่างคึกคัก หลังจากที่ปู่ Buffett ​นำร่องเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ทั่วโลกหันเรดาห์มาหาหุ้นญี่ปุ่น แรงซื้อต่างชาติไหลล้นทะลักจนดันดัชนี TOPIX และดัชนี Nikkei 225 ทำนิวไฮในรอบ 34 ปี กันไปแล้วช่วงต้นปี 2567 นี้เอง

สำหรับปี 2567 ปัจจัยหลัก ๆ ที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ไปต่อได้ แน่นอนว่า ต้องมีหัวเชื้อจาก​ ‘เงินเยนที่อ่อนค่าแรง’ เป็นปัจจัยที่เห็นชัดและจับต้องได้ ในช่วงหลายปีมานี้ ค่าเงินเยนอ่อนช่วยส่งผลบวกต่อภาคส่งออกที่ดีขึ้น

ขณะที่ภาคท่องเที่ยวถือเป็นโอกาสทองของญี่ปุ่น เพราะยังเป็นหมุดหมายที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เลือกเข้ามาเที่ยวได้ในราคาถูก ปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเกินกว่าในช่วงก่อนโควิดแล้ว และเสน่ห์ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่ถูกปู่ Buffett จุดพลุให้เป็นขุมทรัพย์ที่ไม่ลึกลับอีกต่อไป

ปีนี้มุมมองของนักวิเคราะห์หลายค่าย ยังเชื่อว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะดึงดูดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าได้อย่างต่อเนื่อง

ตัวแปรหลักที่เป็นแรงส่งให้เงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง มาจากการคงนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นพิเศษมายาวนาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2567 ผลประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) นัดแรกของปีนี้ คณะกรรมการ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.1% และยังคงกำหนดให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีเคลื่อนไหวที่ระดับราว 0%

ทั้งนี้ BOJ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ที่ระดับ 1.0% และให้ระดับดังกล่าวเป็นระดับอ้างอิง หรือ Reference Point เพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว สามารถปรับตัวขึ้นได้อีก และเพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น

‘คาซูโอะ อุเอดะ’ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับคาดการณ์ว่า โอกาสที่เงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะปรับตัวสู่ระดับเป้าหมายของ BOJ ที่ 2% นั้น กำลังเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นกัน

กลับเข้าสู่ยุคเงินเฟ้อ

ตอกย้ำว่าญี่ปุ่นหลุดยุคเงินฝืด และกลับมาเข้าสู่ยุคเงินเฟ้อ ซึ่งเงินเฟ้อที่เพิ่งเริ่มกลับมายืนเหนือระดับ 2% ในปีที่แล้ว ทำให้ BOJ ยังไม่รีบปรับนโยบายผ่อนคลาย ประกอบกับจำเป็นต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเกิดแผ่นดินไหวเมื่อต้นปีด้วย

แถมยังส่งสัญญาณชัดเจนตั้งแต่ต้นปีนี้ว่า ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนจุดยืนเชิงนโยบายของ BOJ ในทันที ท่ามกลางสัญญาณของภาวะเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงและการเติบโตของค่าจ้างที่ซบเซา ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในช่วงต้นปี คาดว่าจะกระตุ้นให้ BOJ ยังคงรักษาภาวะการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่ามกลางการใช้จ่ายของรัฐบาล ที่มากขึ้นในการเยียวยาและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ

แต่อย่างไรก็ตาม BOJ คาดการณ์ว่าในที่สุดก็จะต้องเริ่มกระชับนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษภายในปี 2567 โดยฉันทามติคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในไตรมาส 2 ปีนี้ ขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจมากขึ้นในการตัดสินใจ ซึ่งหากมีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยใด ๆ ก็ตาม ก็ถือได้ว่าจะเป็นยุคใหม่ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับภาวะการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นทั่วโลก นำโดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ยังคงดอกเบี้ยระดับสูง เพื่อให้มั่นใจว่า มีแนวโน้มเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 2% ได้ชัดเจน

แนวโน้มเงินเยนจะอ่อนค่าไปถึงไหน หลังจากปลายปีที่แล้ว เงินเยนทำสถิติอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 15 ปีที่ 151.905 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในราวต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ขณะที่จุดต่ำสุด (แข็งค่า) ของปีเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2566 โดยเงินเยนแข็งค่าสุดที่ 127.219 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงสูงกว่า 19% ในช่วงเวลา 1 ปี เป็นผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษอย่างต่อเนื่องของ BOJ ทั้งการตรึงดอกเบี้ยติดลบ สวนทางกับดอกเบี้ยโลกที่ขาขึ้นอยู่ และยังเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรรัฐบาลเป็นระยะ ๆ เป็นปัจจัยที่ฉุดให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าอย่างที่เห็นกัน

ค่าเงินเยนปีนี้ 150 เยนต่อดอลลาร์

มุมมองของนักวิเคราะห์ Goldman Sachs เมื่อปลายปีที่แล้ว ได้คาดการณ์แนวโน้มค่าเงินเยนในปีนี้อยู่ที่ระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ

แนวโน้มค่าเงินเยนเป็นปัจจัยหลักที่นักลงทุนในตลาดโลกมองข้ามไม่ได้ ปี 2567 อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น และเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของค่าเงินเยน และตลาดหุ้นในระยะข้างหน้า

จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังโควิด19 ฟื้นตัว ผลงานบริษัทจดทะเบียนสดใส

ประเด็นที่สอง ปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเติบโตได้ในระยะข้างหน้า แน่นอนว่า ต้องมาจากภาพเศรษฐกิจ หลังจากที่เกิดภาวะเงินเฟ้อทำให้เห็นสัญญาณการเติบโตที่ดีขึ้นจากอดีตที่ญี่ปุ่นติดกับดักมานาน Lost Decade

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Morgan Stanley คาดว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้ มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวลง และความท้าทายที่ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเผชิญ คือ สมดุลระหว่างเงินเฟ้อและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งในปีที่แล้ว เงินเฟ้อทะยานสูง และจะค่อย ๆ เริ่มปรับลดลงได้ภายในปี 2568 คาดการณ์ว่า GDP ญี่ปุ่นจะเติบโต 1% ในปีนี้ และ 1.1% ในปี 2568

ในปี 2567 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 17 ล้านล้านเยนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เมื่อบวกกับการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่นและเงินกู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ขนาดของมาตรการแพ็กเกจนี้จะมีมูลค่ารวม 21.8 ล้านล้านเยน (ราว ๆ 5.2 ล้านล้านบาท)

โดยแพ็กเกจของมาตรการนี้จะมีทั้งการ ‘ลดภาษีเงินได้’ เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ และกระตุ้นการลงทุนของภาคธุรกิจ ด้วย ‘มาตรการจูงใจทางภาษี‘ เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการผลิตสินค้ายุทธศาสตร์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ นอกจากนั้นยังมีแผนการจัดตั้งกองทุนระยะเวลา 10 ปี มูลค่า 1 ล้านล้านเยน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศโดยภาคธุรกิจและมหาวิทยาลัย

รวมไปถึงการบรรลุการเพิ่มค่าจ้างสร้างอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการลงทุนผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมกันนี้รัฐบาลจะสร้างวิสัยทัศน์ความร่วมมือใหม่กับอาเซียนสำหรับอีก 5 ทศวรรษข้างหน้า

ญี่ปุ่นกำลังเดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในรอบ 30 ปี ขณะที่คนรุ่นใหม่เป็นผู้บริโภคมากขึ้น มีความกล้าในการใช้จ่าย และเริ่มมีบทบาทต่อเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นเติบโตได้ดีขึ้นอย่างค่อนข้างชัดเจนในระยะหลังมานี้ เศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นชุดนี้คาดการณ์ว่า แผนการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะเพิ่ม GDPโตเฉลี่ยประมาณ 1.2% ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า

นักวิเคราะห์เห็นพ้อง ตลาดหุ้นญี่ปุ่นพุ่งต่อ แล้วหุ้นกลุ่มที่วิ่งแรง

ในปีนี้ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาที่คาดว่า จะสดใสกว่าประเทศหลักๆ ที่กำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจนถึงภาวะถดถอย

ผลสำรวจนักวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์สเมื่อปลายปี 2566 พบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นายมาซายูกิ คิชิกาวะ นักวิเคราะห์จากบริษัทซูมิโตโม มิตซุย ดีเอส แอสเซต แมเนจเมนต์ในกรุงโตเกียวระบุว่า อุปสงค์ในด้านการลงทุนและอุปสงค์ในกลุ่มผู้บริโภคเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นญี่ปุ่น พร้อมกับคาดการณ์ว่า ดัชนีนิกเกอิอาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 39,500 จุด ในเดือน มิ.ย. 2567 และอาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 40,900 จุด ภายในช่วงสิ้นปี 2567 ซึ่งถือเป็นการคาดการณ์ที่สดใสที่สุดในการสำรวจครั้งนี้

ส่วนมุมมองของ Nomura ระบุว่า ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น คือ เศรษฐกิฐกิจญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัว โดยคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องจนถึงปี 2568 แต่อาจจะเติบโตช้าลงนับตั้งแต่ครึ่งปีหลังนี้ การเติบโตของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนจะเป็นแรงขับเคลื่อนตลาดหุ้นญี่ปุ่น

โดยคาดว่า กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น ผู้ผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ ที่จะได้ประโยชน์จากการมีสินค้าคงคลังอยู่ในระดับต่ำสุด และอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่กำลังผ่านจุดสูงสุด ส่วนกลุ่มที่ขึ้นกับความต้องการในประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับระบบ และแอปพลิเคชั่น จะได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นราคาและความต้องการที่แข็งแกร่ง ท่ามกลางการขาดแคลนแรงงาน ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และอาหาร จะได้ประโยชน์จากราคาที่ปรับขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว

แม้ว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 แต่หุ้นญี่ปุ่นยังคงแข็งแกร่งเนื่องจากสกุลเงินยังคงค่อนข้างถูก และรายได้ของบริษัทก็อ่อนแอต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศน้อยลง นักลงทุนในต่างประเทศยังชื่นชมการผลักดันของญี่ปุ่น

อีกมุมมองที่น่าสนใจ ‘มาซาชิ อาคุสึ’ หัวหน้านักยุทธศาสตร์ด้านตราสารทุนของ BofA Securities ในโตเกียว ระบุว่า “นักลงทุนนอกเอเชีย เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง ก็สนใจหุ้นของญี่ปุ่นเช่นกัน หากพวกเขาเชื่อมั่นจริงๆ ว่าญี่ปุ่นจะดีขึ้น พวกเขาจะปรับอันดับเครดิตขึ้น

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ปรับขึ้นในปีที่แล้ว ได้แก่ ธุรกิจการค้าที่ไต่ระดับขึ้นหลังจากมหาเศรษฐี Warren Buffett เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มนี้ ในบรรดาดัชนีย่อย 33 รายการของ TOPIX บริษัทยาเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ลดลงในปีนี้ หลังจากพบความล้มเหลวในการทดลองทางคลินิกหลายครั้งหลายครา

ด้านบลูมเบิร์กระบุว่าภาคธุรกิจที่โดดเด่น ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ นำโดย หุ้นของ Screen Holdings Co. เพิ่มขึ้น 172% ในปีที่แล้ว ทำให้เป็นหนึ่งในหุ้นที่มีผลงานดีที่สุดของ Nikkei 225 ขณะที่ หุ้นของ Advantest Corp. และ Renesas Electronics Corp. พากันปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เนื่องจาก Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. ยักษ์ใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์จากไต้หวันสนใจสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ในญี่ปุ่น ซึ่งจะผลักดัน ให้ใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานของชิป นักวิเคราะห์ระบุว่า หุ้นชิปของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์จากสัญญาณความต้องการที่ฟื้นตัว

ภาคผู้ผลิตรถยนต์ ภาคยานยนต์ติดรายชื่อกลุ่มที่มีผลการดำเนินงานอันดับต้น ๆ เนื่องจากเงินเยนอ่อนค่าลง ช่วยให้ผู้ส่งออกมีรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ ดัชนีย่อย Topix สำหรับบริษัทรถยนต์เพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบเป็นรายปี Toyota Motor Corp. เติบโต 40% ถือเป็นปีที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556

กลุ่มการค้า บริษัทการค้า 5 แห่งที่ปู่ Warren Buffett ชื่นชอบเมื่อต้นปี 2566 ได้แก่ Mitsubishi Corp., Mitsui & Co., Sumitomo Corp., Marubeni Corp. และ Itochu Corp. ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 35% นับตั้งแต่รายงานในเดือนเมษายน ระบุว่าได้เพิ่มการถือครองหุ้น ส่งผลให้ดัชนีการค้าขายส่งของ Topix ซึ่งรวมถึงบริษัทเหล่านั้น ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 37% ในปีนี้

ตั้งแต่ต้นปีมานี้ดัชนี Nikkei 225 ทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 34 ปี โดยเริ่มทำสถิติสูงสุดครั้งแรก วันที่ 9 ม.ค. 2567 จากนั้นก็ยังทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องจนถึงวันที่ 17 ม.ค. 2567

นอกจาก บริษัทจดทะเบียนในญี่ปุ่นมีแนวโน้มผลประกอบการ (Earning) ที่เติบโตตามโมเมนตัมเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะข้างหน้าแล้ว บริษัทส่วนใหญ่ยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง หรือมีเงินสดมากกว่าหนี้สิน ทำให้มีแนวโน้มจะเห็นการเข้ามาซื้อหุ้นคืนของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ ROE ปรับตัวดียิ่งขึ้น

เลือกหุ้นรายตัวให้ปัง จากขุมทรัพย์ที่แรงข้ามปี

อีกหนึ่งแรงสนับสนุนให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีโอกาสไปต่อ นั่นคือ รัฐบาลได้ปรับปรุงโปรแกรม Nippon Individual Saving Account (NISA) ซึ่งเป็นบัญชีเพื่อการลงทุน สำหรับนักลงทุนที่เปิดและลงทุนตามเงื่อนไข จะได้รับยกเว้นภาษีเงินปันผล ส่วนต่างราคา และดอกเบี้ยรับ

โดยเพิ่มขนาดการลงทุนให้ใหญ่ขึ้นเป็น 3.6 ล้านเยน/คน/ปี และเพิ่มการลงทุนในโครงการ รวม 18 ล้านเยน/คน เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 ซึ่งเป็นการดึงเงินออมของคนญี่ปุ่น ให้ออกมากระจายการลงทุนหาผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงิน

ขณะเดียวกันยังมีการปฏิรูปตลาดหุ้นญี่ปุ่น ให้เน้นเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น สนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีการปรับโครงสร้างอย่างจริงจัง ซึ่งจะยิ่งเพิ่มมูลค่าหุ้นและส่งผลดีในระยะยาวให้หุ้นญี่ปุ่นยังมีอัพไซด์ได้สำหรับนักลงทุน

ผมเชื่อว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ยังเป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่ยังมีเสน่ห์ให้ลงทุนได้ จากปัจจัยบวกข้างต้น

แต่คุณก็ยังต้องระวังความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทั้งจากเศรษฐกิจโลก ความเสี่ยงจากดอกเบี้ยโลกที่อาจเปลี่ยนทิศเร็วกว่าคาด ซึ่งจะกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน และเงินเยนจะได้รับผลกระทบมากเนื่องจากสัมพันธ์กับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และยังต้องจับตาความเสี่ยงทางการเมือง ที่จะมาจากการเลือกตั้งผู้นำพรรค LDP ในเดือนกันยายนนี้ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นจะผันผวนได้ในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติของตลาดหุ้นย่อมมีขึ้นและมีลงในระหว่างทาง แต่หากสถานการณ์ผ่านไป ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สิ่งสำคัญในการลงทุน คือ สร้างเรือให้แข็งแกร่ง เพื่อฝ่ามรสุมต่าง ๆ ได้ การเลือกเฟ้นหุ้นดีมีคุณภาพในราคาเหมาะสม ยังเป็นหลักการที่นักลงทุน VI ยึดมั่นเสมอมา เพื่อให้พอร์ตยังแข็งแกร่ง

พร้อมกันนี้ คุณต้องหมั่นติดตามหุ้นที่ลงทุนว่า โมเดลธุรกิจยังมีอนาคตการเติบโตมากหรือน้อยแค่ไหน ความสามารถในการทำกำไรเมื่อเกิดตัวแปรเปลี่ยนแปลง เช่น ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน กฎเกณฑ์การลงทุนหรือข้อกฎหมายทางธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้คุณได้รับคำตอบที่ดีและมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุน

สำหรับใครที่ยังต้องการหาแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมในการเลือกหุ้นญี่ปุ่นเพื่อลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาว คุณสามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลหุ้นญี่ปุ่นได้ง่าย ๆ ที่ Jitta.com ที่มีการจัดอันดับ (Ranking) ไว้ เลือกหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ยังมีการเติบโต หรือหุ้นที่มีโมเดลธุรกิจแข็งแรง หุ้นที่ได้ประโยชน์จากธีมดอกเบี้ย หรือการลงทุน ซึ่งมีตั้งแต่หุ้นขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็กที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาว

และแน่นอน ผมขอย้ำให้คุณติดอาวุธการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการกระจายการลงทุน ด้วยการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ให้บาลานซ์ความเสี่ยง และการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย หรือ DCA อย่างสม่ำเสมอด้วย

เพราะนี่เป็นเพียงไม่กี่สิ่งในโลกการลงทุนที่คุณสามารถควบคุมได้ครับ ไม่เหมือนสภาวะตลาด เศรษฐกิจ หรือราคาหุ้น ค่าเงิน ที่คุณไม่สามารถควบคุมหรือคาดการณ์ได้เลย

อย่างน้อยก็ทำให้คุณอุ่นใจในยามที่สินทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งปรับตัวลดลง ก็ยังมีสินทรัพย์อื่น ๆ ในพอร์ตที่ยังมีกำไรให้ชื่นใจ และนอนหลับและตื่นขึ้นมามีความสุขทุกวัน

ผมย้ำว่าการลงทุนในสินทรัพย์ที่ดีช่วงที่ตลาดไม่น่าสนใจมันอาจจะฝืนใจในช่วงสั้น แต่ให้ผลตอบแทนที่หอมหวานในระยะยาว วันนี้คุณอาจจะเห็นว่า คนที่มีหุ้นญี่ปุ่นไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงลูกค้า Jitta Ranking หุ้นญี่ปุ่นกำลังยิ้มหวานได้ในเวลานี้

แต่นั่นก็เพราะเขาเหล่านั้นตัดสินใจฝืนอารมณ์ตลาด ลงทุนหุ้นญี่ปุ่นในเวลาที่ไม่มีคนสนใจมากนัก เป็นหลักการหนึ่งของนักลงทุนสาย VI ในการเลือกหุ้นดีราคาถูกนั่นเอง ยังไม่สายนะครับที่คุณจะเลือกเดินบนเส้นทางสาย VI ที่แม้จะฝ่าลมต้านความรู้สึกที่ต้อง ‘กลัวเมื่อคนอื่นกล้า และกล้าเมื่อคนอื่นกลัว‘ แต่ปลายทางที่ได้เห็นมันสวยงามจริง ๆ