ตลท. ชง ก.ล.ต. อนุมัติเกณฑ์คุม “ชอร์ตเซล-บอตเทรด” โบรกฯคาดฟื้นเชื่อมั่นได้

ชอร์ตเซล

“ภากร” ผู้จัดการตลาดหุ้นไทยเผย ตลท. เตรียมชง ก.ล.ต. อนุมัติเกณฑ์คุม “ชอร์ตเซล-บอตเทรด” หลังบอร์ดเคาะ 4 มาตรการ คาดเปิดเผยรายละเอียดให้สาธารณชนได้รับทราบโดยเร็วที่สุด มั่นใจมีมาตรการครอบคลุมแก้ไขทั้งระยะสั้น-ระยะยาว ด้าน “บล.เอเซีย พลัส” คาดฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนทยอยกลับมาได้ หนุน SET แกว่งทรงตัวในขาขึ้นในระยะถัดไป

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้เปิดเผยถึงกรณีบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับสากลได้มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ (บอร์ด ตลท.) ถึงข้อสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับการเปรียบเทียบกฎระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการขายชอร์ต (short selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (Program Trading) ที่ใช้ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

โดยเทียบเคียงกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ทั้งที่อยู่ในกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้วและกลุ่มตลาดที่มีการพัฒนาใกล้เคียงกับประเทศไทย (Peer Exchanges) เพื่อยกระดับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯให้มีความโปร่งใส  และเพื่อเสริมสร้างความเป็นธรรมของผู้ลงทุนทุกประเภท

จากผลการศึกษาของที่ปรึกษาพบว่า ในภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ไทยมีกฎระเบียบและแนวปฏิบัติที่ใช้ในการกำกับดูแลการทำ Short Selling และ Program Trading ที่สามารถเทียบเคียงได้กับ Peer Exchanges แล้ว

อย่างไรก็ดี ที่ปรึกษาได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้ตลาดหลักทรัพย์ฯพิจารณา เพื่อที่จะเป็นมาตรการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในประเทศในปัจจุบัน ซึ่งในเบื้องต้นตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีการดำเนินการใน 4 ด้าน ดังนี้

1.การควบคุม (Control) เพิ่มกลไกการควบคุม Program Trading และลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ทั้งในภาพรวมและในกรณี Short Selling อาทิ การกำหนดแนวทางในการติดตามการทำธุรกรรม Short Selling หรือการมีกลไกควบคุมราคาเพื่อลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์

2.การรายงาน (Reports) ปรับปรุงรายงาน Short Selling เพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดและการติดตามได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเปิดเผยต่อสาธารณชน

3.การติดตามและการบังคับใช้กฎเกณฑ์ (Monitoring & Enforcement) โดยการเน้นย้ำความคาดหวังต่อบริษัทสมาชิก ในการดูแลให้ผู้ลงทุนปฏิบัติตามเกณฑ์ รวมทั้งปรับบทลงโทษให้มีความเข้มข้น

4.การแบ่งความรับผิดชอบ (Responsibility) ซึ่งจะมีการนำเสนอกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแลและตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการดูแลการทำ Short Selling และ Program Trading ให้สอดคล้องกับสากล เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถลงโทษต่อผู้กระทำผิดได้โดยตรงและรวดเร็ว

ผลที่ได้จากการดำเนินการทั้ง 4 ด้าน จะสามารถทำให้การป้องกันการทำธุรกรรม Naked Short Selling และการทำธุรกรรม Program Trading ที่ไม่เหมาะสมทำได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พิจารณาแล้ว และเห็นควรให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำข้อเสนอของที่ปรึกษาดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้นำเรื่องที่จะปรับปรุงไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะเร่งดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็วที่สุดต่อไป

ล่าสุดวันนี้ (13 ก.พ. 2567) นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า สำหรับรายละเอียดของมาตรการควบคุมและดูแลธุรกรรม Short Selling และ Program Trading จะเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบภายหลังจากการปรึกษาร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. โดยเร็วที่สุด และคาดว่าจะมีมาตรการที่ต้องดำเนินการแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาวออกมา

ทั้งนี้ขอสรุป 4 แนวทางการดำเนินการในการควบคุมและดูแลธุรกรรม Short Selling และ Program trading ของตลาดหลักทรัพย์ฯคือ 1.ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเพิ่มกลไกเพิ่มเติมในการควบคุมผลกระทบที่มีต่อราคาและสภาพคล่องจากธุรกรรม short sell และ program trading

2.การรายงาน (Report) ตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีการให้ข้อมูลของการ short selling และ program trading ต่อสาธารณชนมากและลึกขึ้น เพื่อให้นักลงทุนได้ใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน

3.การติดตามและบังคับใช้กฏเกณฑ์ ตลาดหลักทรัพย์ฯและบริษัทหลักทรัพย์สมาชิก จะมีการวางกระบวนการทำงานและระบบในการตรวจสอบข้อมูล และดำเนินการป้องกันการทำธุรกรรมที่ไม่ปกติ และติดตามลงโทษผู้กระทำผิดและร่วมกระทำผิดอย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อความชัดเจนและเสมอภาค

และ 4.การแบ่งความรับผิดชอบ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯจะเสนอผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในการกำกับดูแลร่วมกันปรับกฏระเบียบต่าง ๆ และวางหน้าที่ของแต่ละผู้กำกับดูแลและตลาดหลักทรัพย์ฯอย่างชัดเจนและครบถ้วน เพื่อให้สามารถตรวจสอบความผิดได้สะดวกรวดเร็ว และรุนแรงขึ้นกับผู้กระทำความผิดและและผู้ร่วมกระทำความผิด

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า กระบวนการแก้ปัญหาของตลาดหลักทรัพย์ฯที่เกิดขึ้น คาดเป็นปัจจัยหนุนให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทยอยกลับมาอีกครั้ง และหนุนให้มูลค่าซื้อขายกลับมาคึกคักขึ้น โดยฝ่ายวิจัยเคยประเมินมูลค่าซื้อขายตลาดต้องเกิน 50,000 ล้านบาท หรือ Turnover สูงเกิน 70% ต่อปี จึงจะเพียงพอที่จะผลักดันให้ดัชนี SET ปรับตัวขึ้นได้

“โรบอตเทรดหรือ HFT จากนักลงทุนต่างประเทศถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวน และทำให้มูลค่าซื้อขายตลาด ของนักลงทุนในประเทศที่เบาบางอย่างมีนัยตั้งแต่เดือน ก.ย. 66 โดยสัดส่วนการซื้อขายผ่านโรบอตเทรดที่สูงขึ้นเป็น 35% ของการซื้อขายทั้งหมดในตลาด

ซึ่งค่าเฉลี่ยก่อนหน้านี้อยู่ที่ระดับ 20-30% เท่านั้น และทำให้ต่างชาติมีสัดส่วนการซื้อขายหุ้นไทยสูงถึง 50.8% สูงกว่านักทุนรายย่อย+พอร์ตโบรกเกอร์+นักลงทุนสถาบัน ที่มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 49.2%”

ทั้งนี้มองว่าปัญหาเรื่องนี้ อาจได้รับการแก้ไขที่ดีขึ้นจากตลาดหลักทรัพย์ฯและคาดว่าความเชื่อมั่นจากลงทุนได้เป็นอย่างดี และหนุนให้ดัชนี SET แกว่งทรงตัวในขาขึ้นได้ในระยะถัดไป โดยคาดกรอบการเคลื่อนไหวไว้ที่ระดับ 1,385-1,397 จุด