BAM สรุปร่วมทุนแบงก์ตั้ง JV AMC ไม่เกิน พ.ค.นี้ ทุนประเดิม 1,000 ล้าน

บัณฑิต อนันตมงคล

BAM คาดร่วมทุนแบงก์ตั้ง JV AMC ไม่เกิน พ.ค.นี้ ประเดิมทุน 500-1,000ล้าน ชี้เป้ารับซื้อหนี้เสีย 10,000 ล้านในปีนี้ เน้นซื้อหนี้มีหลักประกันกลุ่มรายกลาง-ใหญ่ พร้อมเปิดตัว Mobile AMC แห่งแรกในไทย

วันที่ 25 มีนาคม 2567 นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (BAM) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ JV AMC ว่าขณะนี้ BAM อยู่ระหว่างพิจารณาในการจัดตั้ง JV AMC ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของบอร์ดอีกที ทั้งราคาที่เหมาะสมในการซื้อหนี้มาบริหาร

สำหรับทุนที่จะลงในการตั้ง JV AMC คาดว่า BAM ใช้ทุนในช่วงแรกประมาณ 500-1,000 ล้านบาท เพื่อให้จัดตั้งให้เรียบร้อยได้ภายในปีนี้ แต่สามารถใส่ทุนในระยะต่อไปได้อีก เพื่อซื้อหนี้มาบริหารเพิ่มในอนาคต “ถ้าเราเอาเงินไปลงเยอะแล้วยังไม่ซื้อหนี้มันก็ไม่มีประโยชน์ เราจึงคุยกับพาร์ทเนอร์ว่าจะเพิ่มทุนเป็นเฟสไป“

อย่างไรก็ดีคาดว่า BAM จะร่วมทุนจัดตั้งบริษัทได้ในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยจะมีการประชุมเพื่อสรุปเรื่องการจัดตั้ง JV AMC ภายในเดือนเมษายน 2567 จึงคาดว่าความชัดเจนของดีลจะเกิดขึ้นได้ภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2567 เพราะต้องพิจารณาเรื่องราคาซื้อทรัพย์ โครงสร้างธุรกิจ หรือ Business Model แนวทางการทำงานร่วมกัน ตลอดจนการกำหนดตัวผู้บริหารที่จะไปดูแล JV AMC ที่จะตั้งขึ้นด้วย “เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือช่วยคนตัวเล็ก ให้เขากลับมามีที่ยืนและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ไม่ต้องคอยหลบเจ้าหนี้ และปรับตัวได้เร็วขึ้น”

ทั้งนี้ประโยชน์ของ JV AMC คือธนาคาร (เจ้าหนี้) สามารถขายหนี้ลด NPL ออกมาได้ และการถือหุ้นอีก 50% ยังช่วยให้มีรายได้จาก JV AMC ได้ด้วย นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์ในแง่ใช้เงินทุนเพียง 50% แต่ได้ค่าจ้างบริหารและผลตอบแทนจาการขายทรัพย์ NPL ได้ นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมให้ลูกหนี้ที่เป็น NPL เดินต่อได้ และช่วยให้เศรษฐกิจหมุนได้

“ดีลนี้จะเกิดต่อเมื่อราคาและความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจระยะยาว เพราะเรามีความตั้งใจจะทำ 10-15 ปี จึงต้องคิดให้รอบคอบ ถ้าดูความเสี่ยงการบริหารจัดการ อัตราผลตอบแทนรวมถึงผลกระทบต่อธุรกิจหลักของ BAM เสียหายคงไม่ทำ ดังนั้นภาพต่าง ๆ เหล่านี้จะรวมไปในการพิจารณาของบอร์ด”

สำหรับแนวทางการขยายพอร์ตสินทรัพย์ของ BAM ที่จะเริ่มรับซื้อรับโอนทรัพย์รายกลางและรายใหญ่เพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดมีตัวเลขซื้อทรัพย์ของ BAM ณ 15 มี.ค. 67 เป็น NPL ที่ภาระหนี้รวม 4,837.55 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทมีเป้าหมายขยายฐานสินทรัพย์เพิ่มอีก 70,000 ล้านบาทในปีนี้

สำหรับแผนการซื้อหนี้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)และ ทรัพย์รอการขาย (NPAs) เข้ามาบริหารในปีนี้ยังคงเป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ 9,000-10,000 ล้านบาท โดยที่ยังมองแนวโน้มว่าสถาบันการเงินจะมีการทยอยนำ NPL และ NPA ออกมาขายอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งส่วนใหญ่ในปีนี้ BAM จะเน้นไปที่การซื้อหนี้ที่มีหลักประกันในกลุ่มลูกค้ารายกลางและรายใหญ่จากสถาบันการเงิน เช่น โรงงาน ที่ดิน และโกดังสินค้า เป็นต้น เพื่อนำมาปล่อยขายทอดตลาดให้กับกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการได้ และเป็นการกระจายพอร์ตของ BAM ให้มีทรัพย์ที่กระจายไปยังกลุ่มผู้ประกอบการมากขึ้น โดยปัจจุบัน BAM ซื้อหนี้เข้ามาบริหารแล้วราว 4,000-5,000 พันล้านบาท

นอกจากนี้ BAM ยังเตรียมเปิดตัว Mobile AMC แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นการสร้างระบบการให้บริการลูกค้าด้วยช่องทาง Online โดยมีระบบการชำระเงิน และ E-TDR ด้วยการจัดทำ BAM Mobile Application ระบบจองทรัพย์/ชำระเงิน และระบบตรวจสอบภาระหนี้/ชำระหนี้

รวมถึงมีแผนจะนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการเพื่อสร้าง Ease of Doing Business ได้แก่ การประยุกต์ใช้ AI ในงานด้านต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลลูกหนี้เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ หรือการใช้ AI ในการประเมินและกำหนดราคา การประยุกต์ใช้ระบบ RPA เพื่อช่วยกระบวนการทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและอัตโนมัติมากขึ้น การใช้ Data เพื่อขับเคลื่อนองค์กร (Data-Driven Organization) โดยการจัดทำฐานข้อมูลกลางในการวิเคราะห์, สร้างกลยุทธ์, บริหารจัดการ

นอกจากนี้ยังมีการทำระบบ CRM ต่อยอดจากระบบ Lead Management ที่จะช่วยรวบรวม ข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าและกลุ่มลูกหนี้ของ BAM ที่ต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ให้ลิซหรือลงทะเบียนเข้ามาซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการปิดการขายหรือโอกาสในการปรับโครงสร้างกับลูกหนี้เพิ่มขึ้น