ฟื้นกองทุน LTF หวังเม็ดเงินใหม่ 6-7 หมื่นล้านต่อปี พยุงตลาดหุ้นไทย

กองทุน

“บล.เอเซีย พลัส” ชี้ฟื้นกองทุน LTF หวังเม็ดเงินใหม่ 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปีช่วยพยุงตลาดหุ้นไทย-หนุนสภาพคล่องในระบบเพิ่ม พร้อมกาง 6 ปัจจัยแรง LTF กลับมา เผยปิดสิ้นเดือน เม.ย. 67 มูลค่าคงค้าง LTF อยู่ที่ 2.47 แสนล้านบาท หากไม่มีเม็ดเงิน LTF ใหม่ SET จะถูกกดดันจากแรงขายในยอดเงินคงค้างต่อ

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (7 พ.ค.) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับการจะนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กลับมาใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี เพราะถือเป็นหนึ่งในแผนที่ต้องการทำเพื่อกระตุ้นตลาดหุ้นไทยให้กลับมาคึกคัก

ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด วิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ว่า ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐานในปัจจุบัน มองเห็นภาพของการตกต่ำขีดสุด (BOTTOM OUT) ทั้งในส่วนของภาพเศรษฐกิจไทยและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จากจุดต่ำสุด (BOTTOM) ในช่วงไตรมาส 4/2566 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP GROWTH) ติดลบเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนต่ำเพียงแค่ 1.76 แสนล้านบาท

การตกต่ำขีดสุดของทั้ง 2 เรื่อง ในภาวะปกติก็น่าจะทำให้ SET INDEX ปรับตัวขึ้นไปได้ไม่ยาก แต่ด้วยภาวะปัจจุบันยังขาดองค์ประกอบที่สำคัญคือ มูลค่าการซื้อขายที่ไม่มากพอ (MARKET TURNOVER ควรอยู่ที่ 70% ต่อปี หรือ 5 หมื่นล้านบาท/วัน) ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อน SET INDEX ได้อย่างมีเสถียรภาพ

โดยแนวคิดเรื่องการนำกองทุน LTF กลับมา เห็นว่าน่าจะช่วยเพิ่ม TURNOVER ให้กับตลาดได้ และน่าจะทำให้ SET INDEX ตอบสนองเชิงบวก ประเมินว่า SET INDEX น่าจะแกว่งตัวในทิศทางปรับขึ้น แต่จะเป็นการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป วันนี้ประเมินกรอบดัชนี SET ที่ 1,373-1,388 จุด หุ้น TOP PICK เลือก CPN, PTTEP และ TASCO

Advertisment

ทั้งนี้เม็ดเงิน LTF ที่ไหลเข้าในแต่ละปีนับตั้งแต่ปี 2556-2562 ประกอบด้วย

• ปี 2556 จำนวน 4.52 หมื่นล้านบาท
• ปี 2557 จำนวน 5.63 หมื่นล้านบาท
• ปี 2558 จำนวน 6.37 หมื่นล้านบาท
• ปี 2559 จำนวน 5.87 หมื่นล้านบาท
• ปี 2560 จำนวน 6.45 หมื่นล้านบาท
• ปี 2561 จำนวน 7.66 หมื่นล้านบาท
• ปี 2562 จำนวน 7.40 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น ถ้ามีกองทุน LTF กลับมาใหม่อีกครั้ง ประเมินจะมีผลดีต่อตลาดหุ้นไทยใน หลากหลายมิติดังนี้ 1.แรงขายจากนักลงทุนสถาบัน มีโอกาสลดลง สังเกตได้จากหลังหมดกองทุน LTF และกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSFX) มาสักระยะนักลงทุนสถาบัน ก็เริ่มขายสุทธิออกมาต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564-เม.ย. 2567 นักลงทุนสถาบัน เป็นผู้ขายหุ้นไทยมากที่สุด 1.5 แสนล้านบาท สูงกว่าต่างชาติ 1.03 แสนล้านบาท

2.หักล้างเม็ดเงินที่ทยอยถอนออก (REDEEM) ในกองทุน LTF เก่า โดยก่อนกองทุน LTF หมดสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี (ปลายปี 2562) ตอนนั้นมีเม็ดเงิน LTF คงค้างในระบบสูงถึง 4.06 แสนล้านบาท ค่อย ๆ ถอนออกจากตลาดหุ้นไทยกว่า 1.59 แสนล้านบาท กดดันตลาดและล่าสุดเดือน เม.ย. 2567 เหลือมูลค่าคงค้าง LTF อยู่ 2.47 แสนล้านบาท หากไม่มีเม็ดเงิน LTF ใหม่เข้ามาช่วยพยุง ตลาดหุ้นไทยก็จะถูกกดดันจากแรงขายในยอดเงินคงค้างต่อ

Advertisment

3.ลดผลกระทบจากการชอร์ตเซล หรือแรงกระทบจากปัจจัยภายนอก ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนในช่วงระยะสั้น แต่หากมีเม็ดเงิน LTF น่าจะเข้ามาช่วยพยุงในยามผันผวนระยะสั้นได้ เพราะผู้ลงทุน LTF จะหาจังหวะสะสมในช่วงที่ตลาดย่อตัวลงมา

4.คาดหวังเม็ดเงินจาก LTF ใหม่เข้ามาหนุนราว 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยปกติในอดีตจะมีเม็ดเงิน LTF ใหม่ไหลเข้าหุ้นไทยราว 6-7 หมื่นล้านบาทต่อปี พร้อมกับช่วยหนุนสภาพคล่องในระบบเพิ่มขึ้น

5.หนุนสภาพคล่อง หรือ TURNOVER ในระบบให้สูงขึ้น โดยในอดีตช่วงมี LTF ตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่องหรือ TURNOVER เฉลี่ยสูงถึง 80% ต่อปี แต่ปัจจุบัน TURNOVER เฉลี่ยเหลือเพียง 62.7% หากสภาพคล่องกลับมา บริเวณปกติที่ TURNOVER เฉลี่ยสูงถึง 80% ต่อปีจะมีมูลค่าซื้อขายกลับไป 5.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน น่าจะเพียงพอในการขับเคลื่อนดัชนีหุ้นไทยให้ขยับขึ้นได้

6.อาจจะแบ่งเม็ดเงินจากกองทุนหุ้นเมืองนอกกลับมาบ้าง โดยล่าสุดได้รวบรวมข้อมูลเม็ดเงินกองทุนหุ้นในระบบ พบว่าเป็นเม็ดเงินในกองทุนหุ้นเมืองนอก (FIFEQ + RMFFIFEQ) สูงสุดถึง 6.4 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของกองทุนหุ้นทั้งหมด ขณะที่เป็นเม็ดเงินจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หุ้นไทย เพียง 1.1 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 7% และกองทุน LTF เพียง 2.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 15% เท่านั้น

“ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา หากมีการฟื้น LTF กลับมา จะช่วยแก้ปัญหาตลาดหุ้นไทย ที่เผชิญในปัจจุบันได้หลายมิติ ทั้งลดแรงขายจากทางสถาบัน หักล้างการ REDEEM ใน LTF เก่า ลดผลกระทบจากการชอร์ตเซล เพิ่มสภาพคล่องในระบบ และที่สำคัญหวังเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาในประเทศ” นายเทิดศักดิ์กล่าว