“อภิศักดิ์” ชี้ช่องปรับเกณฑ์ IFRS9 ให้เหมาะกับไทย หวั่นกระทบเอสเอ็มอีเข้าถึงเงินกู้แบงก์ยากขึ้น

“อภิศักดิ์” ชี้ช่องปรับเกณฑ์ IFRS9 ให้เหมาะกับประเทศไทย หวั่นกระทบเอสเอ็มอีเข้าถึงเงินกู้แบงก์ยากขึ้น ระบุ “ธปท.-ก.ล.ต.” ต้องถกทางออกกับสมาคมบัญชี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า เรื่องมาตรฐานบัญชีใหม่ หรือ IFRS9 นั้น ทางสมาคมวิชาชีพบัญชีจะเป็นตัวหลัก โดยประสานงานกับต่างประเทศ ซึ่งตามปกติเมื่อต่างประเทศออกเกณฑ์ต่าง ๆมาแล้ว ทางสมาคมฯ ก็จะนำมาพิจารณา อย่างไรก็ดี ตามหลักการ ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก การปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีดังกล่าว ก็จะเริ่มหลังมีการประกาศใช้แล้ว 1 ปี

ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้กำกับดูแล อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็จะนำมาพิจารณาเป็นแนวปฏิบัติสำหรับหน่วยงานในกำกับ เช่น ธปท. ที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน ก็ต้องบอกให้สถาบันการเงินเตรียมตัว หรือ ก.ล.ต.ที่ดูแลบริษัทจดทะเบียนก็ต้องเตรียมตัว ว่าจะมีการใช้ปีไหน เป็นต้น

“ถ้านโยบายบัญชีออกมาแล้ว ปฏิบัติแล้วไม่มีปัญหา ก็จะเดินไปได้ แต่ถ้ามีปัญหา ก็ควรมีคนศึกษา ว่าทำไปแล้วมีผลกระทบอย่างไร กระทบกับใครบ้าง ต้องมององค์รวมของประเทศ ดังนั้นก็ต้องศึกษาให้รอบคอบ แล้วถ้าศึกษาแล้วมีผลกระทบ ก็ต้องบรรเทาผลกระทบ อย่าง IFRS9 นี้ ก็ไม่ได้จำเป็นว่าต้องใช้เหมือนกันเป๊ะ เพราะกฎของเขาเขียนกรอบกว้าง ๆที่ให้มาร์คทูมาร์เก็ต หรือให้สำรองความเสี่ยง คือเราไปเอากระบวนการที่ทำของต่างประเทศมา แต่ถ้าเราคิดว่าทำแบบเขาไม่ได้ ก็น่าจะออกระเบียบของเราเอง ที่สอดคล้องกับสิ่งที่เขาให้ทำ นี่เป็นสิ่งที่เราควรต้องพิจารณากัน” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ผลกระทบที่มีการวิเคราะห์กันคร่าว ๆขณะนี้ก็คือ เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีค่อนข้างมาก จึงมีความแตกต่างจากต่างประเทศ อย่างสถาบันการเงินไทยมีสัดส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีราว 30% แต่ต่างประเทศมีแค่ 10% หรือน้อยกว่า ดังนั้นผลกระทบ คือ หากเดินตามกฎเกณฑ์ของต่างประเทศ แบงก์ก็จะต้องตั้งสำรองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในแง่ตัวสถาบันการเงินเองนั้น ไม่ได้มีปัญหา เพราะสามารถตั้งสำรองเพิ่มได้อยู่แล้ว แต่ทางเอกชนกังวลผลกระทบต่อเอสเอ็มอีมากกว่า

“คนก็บอกว่า ถ้าแบงก์ต้องสำรองเพิ่มขึ้น ด้วยโครงสร้างของเอสเอ็มอีทำให้ต้องสำรองเพิ่ม เขาก็ต้องคิดดอกเบี้ยเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ช่องว่างก็ห่างอยู่แล้ว จะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำมากขึ้นหรือเปล่า หรือบางรายก็อาจจะเลิกปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีไปเลย ก็ยิ่งไปกันใหญ่ นี่เป็นสิ่งที่เขากังวลกัน และคิดว่าจะมีผลกระทบ แต่ทั้งหมดนี้ต้องดูผลศึกษาว่าจะเป็นแบบนี้จริงหรือเปล่า” นายอภิศักดิ์กล่าว
ขณะเดียวกันกรณีธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ก็อาจจะส่งผลกระทบในแง่ที่ว่า อาจจะผิดวัตถุประสงค์การจัดตั้งแบงก์ขึ้นมา โดยแบงก์รัฐตั้งขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส แต่มาตรฐานบัญชีใหม่บอกว่า ต้องตั้งสำรองในส่วนผู้ด้อยโอกาสสูง

“เขาบอกว่าใครที่ด้อยโอกาสกว่า ต้องสำรองเต็มเลย แค่นี้ก็เจ๊งแล้ว” รมว.คลังกล่าว

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า การปรับกฎเกณฑ์ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ไม่ได้ทำให้คะแนนต่าง ๆของประเทศไทยลดลง แต่ในที่สุดแล้วทางสมาคมวิชาชีพบัญชีต้องตกลงกันให้ได้ เพราะเป็นผู้ประกาศเกณฑ์ ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องไปคุยกับสมาคมฯ ว่าปฏิบัติได้หรือไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจยิ่งกระทบการเข้าถึงแหล่งเงินของผู้ด้อยโอกาส จึงต้องคำนึงถึงการดูแลคนกลุ่มนี้

สำหรับข้อเสนอของ กกร. ให้เลื่อนการบังคับใช้ IFRS9 ออกไปก่อนนั้น เนื่องจากคิดบนหลักที่ว่า นำเกณฑ์ปกติที่ต่างประเทศประกาศมาบังคับใช้ ซึ่งเมื่อไม่พร้อมก็ควรเลื่อนออกไป แต่หากปรับเกณฑ์ใหม่ให้เหมาะกับประเทศไทย ก็ต้องพิจารณาว่าต้องเลื่อนหรือไม่