ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาด คลังฟื้นกองทุน LTF กระตุ้นตลาดทุน-หนุนเศรษฐกิจ

SET ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดหุ้น หุ้นไทย

ตลาดหลักทรัพย์ฯ มอง รมว.คลังฟื้นกองทุน LTF กระตุ้นตลาดทุน-หนุนเศรษฐกิจ ส่วนตลาด SET เดือน เม.ย.รับแรงกดดันตะวันออกกลางขัดแย้ง-เงินเฟ้อสหรัฐลงช้าแต่มีต่างชาติกลับเข้าซื้อสุทธิ

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กลับมาตามแผนนั้น ฝั่งตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรอให้ข้อมูลกับทางกระทรวงการคลัง เชื่อว่าหากภาครัฐเห็นด้วย นโยบายดังกล่าวก็จะได้เห็นความชัดเจนโดยเร็วซึ่งจะเหมือนลักษณะในช่วงที่ผ่านมาที่ภาครัฐเห็นด้วยกับโครงการจัดตั้งกอง ESG ที่สามารถทำได้รวดเร็ว

โดยมองว่าการที่ทางกระทรวงการคลังมีการเอากองทุน LTF กลับมาใช้ เป็นเรื่องที่ดี ช่วยสร้างความเข้มแข็งตลาดทุนและเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ โดยกองทุน LTF ในอดีตค่าเฉลี่ยกองทุน LTF มีเม็ดเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 40,000-50,000 ล้านบาทต่อปี หากมีการกลับมาใช้อีกครั้งได้จริงก็เชื่อว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุนไทย และกระตุ้นบรรยากาศในการลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย.67 ผู้ลงทุนมีความกังวลกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบโลกและทองคำปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งอาจทำให้เงินเฟ้อลดลงช้ากว่าคาด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นสวนทางกับดัชนีหุ้นสหรัฐฯ

ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีมติคงดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งจากถ้อยแถลงของประธานเฟด คือ Jerome Powell มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น ขณะเดียวกันได้ส่งสัญญาณว่าจะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในอนาคต ทำให้ผู้ลงทุนปรับความน่าจะเป็นในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอยู่ที่ 1-2 ครั้งในปีนี้

Advertisment

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวผันผวน โดยอ่อนค่านำสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ประกอบกับภาคการส่งออกยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง

สำหรับปัจจัยสนับสนุนหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี 2567 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวงบประมาณรายจ่ายและการลงทุนปี 2567 ของภาครัฐที่ล้าช้าคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ในช่วงไตรมาส2/2567 รวมถึงนักวิเคราะห์ปรับ Forward EPS หุ้นไทยเพิ่มขึ้น 11% ขณะที่หุ้นไทยซื้อขายในปัจจุบันที่ระดับ PE ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีถึง 20%

ส่วนภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนเม.ย.67 SET Index ปิดที่ 1,367.95 จุด ปรับลดลง 0.7% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งลดลงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ทั้งนี้ปรับลดลง 2.7% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า

ในเดือนเม.ย.67 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 66 ได้แก่ กลุ่มบริการ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร

Advertisment

มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค.67 มาอยู่ที่ 44,448 ล้านบาท แม้ว่าลดลง 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 3,787 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 24

บริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET มี 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. นีโอ คอร์ปอเรท (NEO) และใน mai 5 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. เอเชียนน้ำมันปาล์ม (APO), บมจ. บีพีเอส เทคโนโลยี (BPS), บมจ. คิวทีซีจี (QTCG), บมจ. เทอร์ราไบท์ พลัส (TERA), บมจ. สโตนวัน (STX)

Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน เม.ย.67 อยู่ที่ระดับ 14.6 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียที่อยู่ในระดับ 12.2 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 17.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 15.5 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนเม.ย.67 อยู่ที่ระดับ 3.40% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.18%

ด้านภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในเดือนเม.ย.67 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 459,746 สัญญา ลดลง 8.0% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 67 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 438,862 สัญญา ลดลง 21.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures