ต่างชาติช็อก-ลงทุนสะดุด Wait & See ศาลรับคดีเศรษฐา

นักลงทุนไทยและเทศช็อก หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องกรณีนายกฯตั้ง “พิชิต” จับตาต่างชาติแตะเบรกแผนการลงทุน ประธานสภาอุตฯเผยนัดภาคเอกชน หารือรับมือความเสี่ยงปัจจัยการเมือง นักวิเคราะห์ประเมินฉากทัศน์ กรณีเลวร้าย นายกฯต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สมการรัฐบาลเปลี่ยน ตลาดทุนโอเวอร์แฮง-เศรษฐกิจปั่นป่วน หวั่นกระทบโครงการลงทุน-นโยบายเปลี่ยน ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้กระทบ FDI ชะลอแผนลงทุน

จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของกลุ่ม 40 ส.ว. กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 แต่มีมติไม่สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้ยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทั้งในแวดวงการเมือง และภาพรวมเศรษฐกิจ ที่การเติบโตทางเศรษกิจไทย ในไตรมาสแรกปี 2567 ทำได้เพียง 1.5% ต่ำที่สุดในอาเซียน

ต่างชาติ Wait & See

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 40 สว. ให้วินิจฉัยสถานะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ กรณีตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น แม้จะไม่ได้ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่มติดังกล่าวก็ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง

ทำให้นักลงทุนต่างประเทศที่กำลังพิจารณาลงทุนโครงการต่าง ๆ รวมถึงที่กำลังมีการเจรจาความตกลงกับรัฐบาล ในระยะสั้นก็คงหยุด Wait & See รอดูสถานการณ์การเมืองให้มีความชัดเจนก่อน โดยเฉพาะนักลงทุนจากฝั่งสหรัฐหรือยุโรปรายใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา ส่วนญี่ปุ่น จีน ที่ค่อนข้างคุ้นเคยกับการลงทุนในไทยมานานอาจจะไม่ได้กังวลมาก ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะมีความชัดเจน ดังนั้นในช่วงที่รอความชัดเจน ภาพการลงทุน หรือการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลก็เหมือนเป็นสุญญากาศ

ปัจจัยเสี่ยงกระทบเม็ดเงิน FDI

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากสถานการณ์การเมืองมีความไม่แน่นอนย่อมมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และกระทบเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่จะเข้ามาอาจชะลอแผนการลงทุน หรืออาจหันไปประเทศที่มีความใกล้เคียงกัน แต่มีปัจจัยทางการเมืองที่นิ่งกว่า เช่น เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย เป็นต้น

Advertisment

ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนภายในประเทศ อาจมีการชะลอเช่นกัน เนื่องจากต้องดูเรื่องของงบประมาณและความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ เพราะกรณีที่รัฐบาลไม่นิ่งหรือมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจะมีผลต่องบประมาณภาครัฐและนโยบายให้มีความล่าช้าออกไปอีก ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่อการทำธุรกิจ

“ความเชื่อมั่นด้านการเมือง ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยการดึงดูดเม็ดเงิน FDI ซึ่งเราพยายามดึงดูดมาโดยตลอด แต่หากการเมืองไม่นิ่ง ความน่าสนใจของเราจะน้อยลง เพราะอย่าลืมว่าเรามีจุดด้อยในด้านอื่น ๆ อีกมากที่ยังต้องแก้ไข หากมีเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองเข้ามาอีก นักลงทุนอาจจะไม่มองมาที่เรา”

ตลาดทุน “โอเวอร์แฮง”

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงนี้ภาพตลาดหุ้นไทยคงซึม หรือ Overhang ต่อไปอีกระยะ จากความเสี่ยงทางการเมืองที่กลับมาเป็นปัจจัยกดดันอีกรอบ จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องนายกฯ แต่ยังไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่ที่มีความสำคัญที่ต้องติดตาม ตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าคำสั่งศาลจะออกมารูปแบบไหน ดังนั้นคงต้องประเมินเป็นฉากทัศน์

โดยคาดการณ์กรณีเลวร้ายที่สุด คือ คำวินิจฉัยของศาลออกมาว่า นายกฯมีความผิดและต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ (ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) จะทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นพอสมควร เพราะทำให้สมการการเมืองเปลี่ยนได้ ต้องมีการเลือกตัวนายกฯคนใหม่ รวมทั้งเลือก ครม.ชุดใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะกดดันตลาดหุ้นไทยปรับฐานหนัก เพราะเป็นภาพเชิงลบเข้ามาซ้ำเติมภาพเศรษฐกิจไทยที่ในช่วงไตรมาส 1/2567 ไม่ดีอยู่แล้ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่เป็นปัจจัยฉุด GDP ในไตรมาสที่ผ่านก็มาจากฝั่งภาครัฐติดลบ เพราะไม่มีงบประมาณ ส่วนกรณีดีที่สุด คือ คำวินิจฉัยของศาลออกมาไม่โดนความผิดอะไร ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ

Advertisment

นายไพบูลย์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ท่าทีของนักลงทุนคงกลับทิศ อาจไม่รีบร้อนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ จากเดิมที่มีโอกาสว่าจะเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลกลับเข้ามาได้ จากความคาดหวังโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยที่จะฟื้นตัวดีขึ้น จากการเบิกจ่ายงบประมาณ แต่ทั้งนี้ภาพในระยะยาวก็เชื่อว่าวัฏจักรเศรษฐกิจคงยังอยู่ในขาขึ้น

ประธาน ส.อ.ท.เผยนักลงทุนช็อก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าเกิดความช็อกและเกิดความอึมครึม สำหรับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งได้มีการสอบถามกันมามากมาย กังวลว่าผลจะออกมาอย่างไร เป็นบวกหรือลบ

สำหรับนักลงทุนที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนนั้น เรื่องเสถียรภาพรัฐบาลนับเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลยังมาไม่ถึงหนึ่งปี สองขณะที่รัฐบาลพยายามออกไปโรดโชว์เพื่อดึงดูดการลงทุนตามประเทศต่าง ๆ หลายรายที่เชิญชวนกำลังตั้งทีมสำรวจเพื่อจะเข้ามาลงทุนตามคำเชิญ โดยเฉพาะรายใหญ่ ๆ ซึ่งกรณีเป็นนักลงทุนรายใหม่ที่ไม่เคยขยายมาก็อาจจะไม่เท่าไร แต่หวั่นว่าจะกระทบกลุ่มที่กำลังตัดสินใจจะเลือกระหว่างไทย เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย แน่นอนว่าหากออกมาเป็นเชิงลบ คนเหล่านี้จะตัดสินใจย้ายไปลงทุนที่อื่นแทนที่จะมาไทย เพราะมีทางเลือกอื่นที่เขาสบายใจกว่า

เอกชนนัดถกรับมือการเมืองป่วน

นายเกรียงไกรกล่าวว่า หลังจากนี้ภาคเอกชนจะต้องเริ่มคุยกัน เพื่อจัดทำซีนาริโอหรือฉากทัศน์ทางการเมืองใหม่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง จะมีความเสี่ยงอย่างไรส่งผลกระทบอย่างไร และจะบริหารความเสี่ยงอย่างไรได้บ้างต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3-4 และปี 2567 โดยสามารถมองได้ว่า ถ้าเกิดกรณีผลการพิจารณาออกมา “ผ่าน” ก็จะเกิดผลกระทบในช่วงสั้น

แต่หากเกิดกรณีผลที่ออกมาทำให้เกิดอุบัติเหตุที่สมมุติจะทำให้ “ไม่สามารถไปต่อได้” อาจจะทำให้ความเชื่อมั่นลดลงไป เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ตัดสินใจลงทุนจากปัจจัย เรื่องเสถียรภาพทางการเมืองและรัฐบาล นอกเหนือไปจากจะดูปัจจัยจากเรื่องเงินทุน ที่ตั้ง และอินฟราสตรักเจอร์ ฉะนั้น หากผลลัพธ์ออกมาอีกด้านจะมีผลกระทบแน่นอน

“หากผลออกมาเอ็กซ์สตรีมจนต้องมีการสรรหาคนที่ต่อไปจะมาเป็นนายกฯ ถ้าแกนนำยังเป็นพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม ก็จะต้องเสนอตามรายชื่อที่มีอยู่ต่อไป กว่าจะเข้ามาทำงานกว่าจะปรับตัว ก็จะต้องกระทบกระเทือนต่อแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่วางไว้ ไม่มากก็น้อย อย่างโครงการเงินดิจิทัลวอลเลต ถ้าเป็นพรรคอื่นก็ยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร หรือมีการเปลี่ยนแปลงใดหรือเปล่า จึงถือว่าเป็นความเสี่ยง หรืออย่างโครงการแลนด์บริดจ์ หรือโครงการหลัก ๆ ที่นายกรัฐมนตรีเศรษฐาและคณะได้ริเริ่มหรือปรับแผนที่จะดำเนินการอาจจะต้องช้าออกไปหรือเปล่า”

หวั่นโปรเจ็กต์นโยบายถูกเลื่อน

กรณีที่เป็นพรรคอื่น หรือสมการไม่ใช่แบบเดิม อาจจะทำให้บางโครงการถูกเลื่อนไป โอกาสเลื่อนหรือเปลี่ยนไปอย่างอื่นหรือไม่ นี่เป็นความเสี่ยงที่ทุกคนตั้งคำถามและกังวลอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะเวตแอนด์ซีในช่วงนี้ รอจนสถานการณ์นิ่งจึงจะตัดสินใจใหม่

นายเกรียงไกรกล่าวถึงผลลัพธ์ต่อเศรษฐกิจไทยภาพรวมจากนี้จะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความเชื่อมั่น หากเกิดการชะงักเสียจังหวะก็อาจส่งผลกระทบไปยังจีดีพี ซึ่งหมายรวมถึง แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยในสัปดาห์หน้าต้องติดตามว่า ที่นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมทีม ครม.เศรษฐกิจ เพื่อหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลพวงจีดีพีจากไตรมาสที่ 1 ออกมาต่ำที่สุดในอาเซียนจะเป็นอย่างไร และหากผลของศาลรัฐธรรมนูญออกมายังได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ก็ยังมีแผนกระตุ้นที่วางไว้ แต่หากทุกอย่างต้องหยุดชะงักไปอาจจะทำให้จีดีพีของไทยไตรมาส 2 ต่ำลงไป และต่อเนื่องไปยังจีดีพีในไตรมาส 3-4 ด้วย ซึ่งจะไม่เป็นผลดี

หอฯลุ้นมาตรการกระตุ้น ศก.

ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทุกฝ่ายก็ต้องเคารพในคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการที่ศาลไม่สั่งนายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่จะทำให้นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนได้ต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก

“วันนี้ทุกฝ่ายเห็นแล้วว่า ตัวเลขจีดีพีไทยในไตรมาส 1/67 เติบโตได้เพียง 1.5% ซึ่งโตน้อยกว่ากลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีนโยบายต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนอย่างเร่งด่วน”

ทั้งนี้ กรณีที่นายกฯได้จัดให้มีการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ ทางหอการค้าฯเห็นด้วย และเห็นว่าน่าจะมีการเชิญภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือด้วย เพื่อร่วมกันปรับรูปแบบการทำงานเชิงรุก โดยภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนการทำงานกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งเชื่อว่าน่าจะช่วยทำให้เกิดทิศทางที่ดีแก่เศรษฐกิจไทยต่อไป

ตลาดหลักทรัพย์ฯมองโลกสวย

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากบรรยากาศซื้อขายการลงทุน ที่ตลาดทุนไทยได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยทางการเมืองในการวินิจฉัย สถานะของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจนั้น เชื่อว่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจและความสามารถของการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน อย่างไรก็ดี ปัจจัยอื่น ๆ ทั้งภายนอกและภายในเป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนต้องพิจารณามากขึ้น

แนวโน้มของธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนไทยในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าค่อย ๆ ดีขึ้น ทั้งเรื่องเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ตัวเลขนักลงทุนเริ่มกลับมาดีขึ้น รัฐบาลมีงบประมาณที่สามารถใช้ได้ เศรษฐกิจต่าง ๆ เริ่มเห็นการฟื้นตัว นอกจากนี้ เซนติเมนต์ของนักลงทุนต่างประเทศมองว่าเริ่มดีขึ้น จากเดิมที่เงินทุนไหลออกจากประเทศไทยค่อนข้างมาก ปีนี้แม้จะมีกระแสข่าวต่าง ๆ เงินที่ไหลออกยังน้อยลง