BAM ยันตั้ง JV AMC ลดต้นทุน-หนุนรายได้ แย้มมีคุยแบงก์พาณิชย์เพิ่ม

CEO BAM-3

BAM เผยร่วมทุน JV AMC กับธนาคารออมสิน ปักหมุดเป็น “Social Project” ช่วยลดต้นทุน-สร้างผลตอบแทนไม่น้อยกว่าเดิม คาดปลายปีเริ่มธุรกิจ เห็นการเติบโตปี’68 แย้มคุยแบงก์พาณิชย์ 1 รายคืบหน้า 80% ยันร่วมทุน 2 ราย เพียงพอ

วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (JV AMC) ร่วมกับธนาคารออมสิน ล่าสุดในวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 จะมีการแถลงร่วมทุน

โดยเบื้องต้นจะเป็นการร่วมทุนในสัดส่วน 50% เท่ากัน และจะมีการจัดตั้งบริษัทและรับซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารออมสิน เพียงแห่งเดียวเท่านั้น สำหรับราคารับซื้อหนี้จะเป็นราคายุติธรรมทั้งในส่วนของคนซื้อและคนขาย และขึ้นกับสภาพทรัพย์ที่ขายออกมาด้วย

อย่างไรก็ดี การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน JV AMC จะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน และผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นที่ได้จะต้องไม่น้อยกว่าสิ่งที่ BAM ทำ โดย JV AMC นี้จะตั้งเป้าเป็น Social Project โครงการกึ่ง ๆ เพื่อสังคม แต่มีกำไรพอสมควร แต่ผลตอบแทนคงไม่ได้หวือหวา เช่น หนี้คลีนโลน เดิมเคยทำอยู่ที่ 10% ก็คงไม่ได้เพิ่มขึ้นไปถึง 30-40% ซึ่งคาดว่าหลังมีการลงนามอย่างเป็นทางการ จะใช้เวลาราว 2 เดือนในการจัดตั้งบริษัท และเริ่มดำเนินธุรกิจได้ในช่วงปลายปี และจะเริ่มเห็นการเติบโตตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

“เราเป็น public company แต่ออมสินพันธกิจ คือ Social bank ดังนั้น รีเทิร์นจากโปรเจ็กต์นี้จะไม่หวือหวา แต่ในความไม่หวือหวาจะสวยนาน ไม่ได้สวยแบบชั่วคราว แต่ตื่นเช้ามาแล้วเป็นซอมบี้ แต่เราจะสวยทั้งกลางวันกลางคืน และผลตอบแทนที่เราทำให้กับพาร์ตเนอร์ต้องไม่น้อยกว่าที่ BAM ทำอยู่ และการจัดตั้งนี้จะเป็นสิ่งที่เรา ออมสิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรัฐบาลอยากเห็น และทุกคนแฮปปี้”

Advertisment

ทั้งนี้ สำหรับการเจรจาการร่วมทุนกับธนาคารพาณิชย์ จะก็มีการเข้ามาหารือกับบริษัทแล้ว 3 ราย เพื่อขอร่วมจัดตั้ง JV AMC ซึ่งจะมี 1 แห่งที่มีความคืบหน้าในการเจรจาแล้ว 70-80% ขณะที่อีก 2 แห่งยังเจรจาอยู่ระดับ 50% ดังนั้น หากได้ร่วมทุนกับ 2 ธนาคารในปีนี้ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว

นายบัณฑิตกล่าวเพิ่มว่า ภาพรวมธุรกิจปี 2567 ภายหลังจากมีการเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าจะทำให้กิจกรรมการซื้อ การขายและการชำระเงินปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

โดยบริษัทตั้งเป้าผลเรียกเก็บปี 2567 อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสที่ 1/2567 สามารถทำได้ 3,535 ล้านบาท มีอัตราเติบโตที่ 9.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่จำนวน 3,230 ล้านบาท และมีกำไรได้ 423 ล้านบาท มีการเติบโตสูงถึง 58.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีผลกำไร 267 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการรับซื้อหนี้มาบริหาร (เอ็นพีแอล) ตั้งเป้ารับซื้อหนี้อยู่ที่ 9,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 1/2567 รับซื้อหนี้เอ็นพีแอลมาค่อนข้างน้อยใช้งบฯลงทุนราว 3,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลหนี้ราว 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% ของมูลหนี้ที่สถาบันการเงินนำออกมาขายราว 5-6 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทไม่ได้เข้าไปแข่งขันมากนัก แต่คาดว่าทั้งปีน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

Advertisment

ขณะที่ทรัพย์สินรอการขาย (NPA) จากแนวโน้มการเบิกจ่ายที่ดีขึ้น คาดว่าจะช่วยหนุนการขายทรัพย์ที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีทรัพย์ NPA ราว 2.3 หมื่นรายการ มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทจะมีการทำโครงการและโปรโมชั่นมากขึ้น

รวมถึงมีการร่วมมือกับกิจการค้า (Consortium) ที่มีการซื้อทรัพย์ไปทำโปรเจ็กต์ เช่น ทาวน์เฮาส์ หรือบ้านเดี่ยว เป็นต้น รวมถึงการร่วมมือกับธนาคารในการปล่อยสินเชื่อซื้อทรัพย์มือสองในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เป็นต้น โดยปัจจุบันบริษัทสามารถขายทรัพย์ได้แล้ว 6,000-7,000 รายการ

“ปัจจุบันเรามี 9 หมื่นบัญชี มีมูลค่าของหลักประกันราว 1.9 แสนล้านบาท และจะมีส่วนที่สร้างรายได้และกำไรให้เรา คือ NPA 2.3 หมื่นรายการ มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท เราจะต่อยอดอย่างไรที่จะสร้างมาร์จิ้นได้เพิ่ม เพราะจะเห็นว่าในอดีตรายได้จะมาจากหนี้เสีย 80% และ NPA อีก 20% แต่ปัจจุบันเท่ากันแล้ว 50 : 50”

และในโอกาสครบรอบ 25 ปี จะเห็นว่าบริษัทถือว่าบรรลุตามเป้าหมายในการเป็นองค์กรซึ่งทำหน้าที่แก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของประเทศ

โดยสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติจากการแก้ไขปัญหาหนี้เป็นจำนวน 55,683 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 484,649 ล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์ NPA ไปแล้ว จำนวน 52,258 รายการ คิดเป็นราคาประเมิน 122,866 ล้านบาท