แบงก์ชิงขึ้นดอกกู้โกยกำไร ส่อง 2 ปัจจัยกดดัน กนง.ขึ้นดอกเบี้ย

การคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5% เป็นครั้งที่ 24 หรือเป็นเวลา 2 ปี สะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยที่ใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวที่ยาวนานทีเดียว พอ ๆ กับเป็นช่วงระยะเวลาการบริหารประเทศของรัฐบาลทหาร “บิ๊กตู่” ซึ่งการยืนดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นมติเอกฉันท์ (มีคณะกรรมการลา 1 คน) ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังตอกย้ำถึงไส้ในของเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ยังคงอ่อนแอ

มุมมองในการพิจารณารอบนี้ของ กนง. นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ กนง.ได้แจกแจงว่า แม้ทิศทางดอกเบี้ยโลกจะเป็นขาขึ้น ก็ไม่ได้สร้างความกดดันให้กับ กนง.ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพราะยังมีปัจจัยที่ กนง. “เป็นห่วงและเฝ้าดูความเสี่ยง” อยู่ คือ ด้านการบริโภคหรือการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวระดับต่ำ เพราะกำลังซื้อยังไม่กระจายตัวไปสู่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย บวกกับการจ้างงานที่ยังกระจุกตัวในบางกลุ่มอุตสาหกรรม และยังมีภาระหนี้ครัวเรือนอยู่มาก ด้านภาคธุรกิจเอสเอ็มอีก็ยังมีปัญหาการชำระหนี้อยู่

โดยประเด็นที่ กนง.คลายความกังวล คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบล่างหรือใกล้เคียง 1% โดยกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ 1-4% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มสูง แต่ราคาอาหารสดยังอยู่ระดับต่ำ ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ

ส่วนค่าเงินบาท ขณะนี้ได้ปรับอ่อนค่าลงแล้วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยยังเห็นเงินไหลออกในช่วงนี้ ส่วนระยะข้างหน้าค่าเงินยังมีความผันผวนอยู่

พร้อมกันนี้ กนง. เพิ่มน้ำหนักความเสี่ยงด้านปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ มาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐ

Advertisment

ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมข้างต้น กนง.จึงเห็นว่า ดอกเบี้ยควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป แม้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ จะดีขึ้นเป็นลำดับ หลังได้รับแรงขับเคลื่อนมาจากภาคการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ซึ่งส่งผลไปสู่ภาคการผลิตให้ปรับตัวดีขึ้นด้วย ซึ่งต่างจากก่อนหน้าที่การกระจายตัวไปสู่ภาคการผลิตแบบยังไม่ค่อยเห็นมากนัก

ทั้งนี้ การเติบโตที่ดีของภาคส่งออกและท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทำให้ ธปท.เคยคาดการณ์ว่าไตรมาส 1/61 เศรษฐกิจ (จีดีพี) จะขยายตัวได้ราว 4% ซึ่งล่าสุดก็ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีในปีนี้โต 4.1% ซึ่งได้รวมความเสี่ยงหนี้ครัวเรือนและปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศ

ซึ่งในวันที่ 21 พ.ค.นี้ สภาพัฒน์จะมีการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้กล่าวถึงปัจจัยที่จะทำให้ กนง.อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในช่วงปลายปีนี้ หากมีสัญญาณดังนี้ 1.เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องและช่องว่างการผลิต “ปิด” ลง พร้อมทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน หรือ 2.ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินเพิ่มขึ้นชัดเจน และพบปัญหาวงกว้างที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ ก็อาจทำให้ กนง.จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้

Advertisment

“ส่วนความกังวลต่อกำลังซื้อที่ยังไม่กระจายตัวและหนี้ครัวเรือนที่สูงนั้น กนง.ได้สื่อสารว่าปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องแก้ด้วยนโยบายเชิงโครงสร้าง จึงไม่ควรคาดหวังว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำต่อเนื่องจนกว่ากำลังซื้อจะกระจายตัว” EIC ระบุ

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย คาดว่า กนง.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปีนี้ แต่ก็ต้องติดตามการลงมติที่มีหนึ่งเสียงใน กนง.(รอบประชุมเดือน มี.ค.) ที่ยืนยันการปรับ “ขึ้น” ดอกเบี้ย เพราะถือว่าเป็นสัญญาณที่อาจเปลี่ยนแปลงทิศทางดอกเบี้ยของไทย ซึ่งความไม่แน่นอนในทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า รวมทั้งยังต้องติดตามการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งคาดมีขึ้น 3 ครั้ง หลังจากปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และจะปรับอีกครั้งในเดือน มิ.ย. ส่วนรอบสุดท้ายน่าจะช่วงไตรมาส 4 นี้

“แนวโน้มค่าเงินบาทในระยะสั้นอ่อนค่า เพราะนักลงทุนต่างชาติยังมีการขายพันธบัตรระยะสั้น และช่วงฤดูจ่ายเงินปันผลในเดือน เม.ย.-พ.ค.ของทุกปี นักลงทุนต่างชาติจะนำเงินกลับออกไป ซึ่งรอบนี้มีการจ่ายเงินปันผลบางส่วน ประมาณ 54,000 ล้านบาท และยังคงค้างอยู่ประมาณ 32,000 ล้านบาทในปีนี้ จากยอดรวมประมาณ 86,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามปีนี้ไทยยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูง เราประเมินว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 32 บาท/ดอลลาร์” นายกอบสิทธิ์กล่าว

ขณะที่ฝั่งการเคลื่อนไหวดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ก็ทยอยขยับขึ้น สวนทางกับ กนง.ที่ส่งสัญญาณดอกเบี้ยอยู่ระดับผ่อนปรน ซึ่งด้านดอกเบี้ยเงินฝาก นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. ชี้ว่า เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยฝากพิเศษ 11-12 เดือน มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพื่อล็อกต้นทุนไว้ล่วงหน้า เพราะมองว่าปีนี้ดอกเบี้ยตลาดจะขยับแน่ ซึ่งล่าสุดก็มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยกู้สินเชื่อบ้านแล้ว จากที่เคยเสนอดอกเบี้ยกู้แบบคงที่ราว 1-3 ปี บางรายก็ลดเหลือเพียง 6 เดือน บางรายก็เป็นดอกเบี้ยกู้ลอยตัว เช่น ธนชาตที่ประกาศดอกเบี้ยกู้บ้านเป็นลอยตัวเกือบหมดแล้ว เพราะมองดอกเบี้ยกู้ในตลาดจะเริ่มขึ้นไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป แต่อาจมีบางแบงก์ที่ยังให้ดอกเบี้ยคงที่ เพราะแบงก์ยังอึดอยู่ (รับต้นทุนสูงได้) อย่างกสิกรไทยที่ใช้ดอกเบี้ยคงที่ผสมลอยตัว ด้านแบงก์กรุงศรี ก็มีแนวโน้มปรับเป็นดอกเบี้ยกู้ลอยตัวในกลางปีนี้

ซึ่งแหล่งข่าววงการเงินชี้เทรนด์ว่า ปัจจัยหนึ่งที่แบงก์ปรับดอกเบี้ยกู้ เพราะรายได้จากค่าธรรมเนียมลดหายไปเยอะในปีนี้ จึงหันมาหารายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยเพิ่มแทนเพื่อให้แบงก์ทำกำไรโตได้ต่อเนื่อง จึงทำให้เห็นภาพการปรับขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ ที่นำ กนง.ไปก่อน