ก.ล.ต.เตือนลงทุนผ่านคริปโท-ICO ต้องเป็น “แฟนพันธุ์แท้” ชี้โอกาสเจ๊ง 95%

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยในงานสัมมนา “Symposium Thailand 4.0 Fintech&Cryptocurrency VS Law Enforcement ว่า ปัจจุบันตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นตลาดที่เหมาะสมกับกลุ่มคนที่เรียกว่า “แฟนพันธุ์แท้” เท่านั้นไม่ใช่ตลาดที่บุคคลทั่วไปที่ไม่ค่อยมีความรู้เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะว่าการระดมทุนในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่จะต้องมีความเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยี และต้องเข้าใจว่าทำไมคนถึงสนใจการระดมทุนผ่าน ICO และทำไมถึงได้รับผลตอบแทนที่สูงมากเป็นหลัก 100-1,000% ซึ่งถือว่าผลตอบแทนค่อนข้างสูง ในเมื่อตลาดหุ้นได้ผลตอบแทนอยู่ที่ 10% นั้นเพราะว่ามันเป็นการใช้เทคโนโลยีไปทำธุรกิจของสตาร์ตอัพ และธุรกิจตรงนี้เป็นธุรกิจที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า

เพราะฉะนั้นคนที่จะเข้ามาเล่นในตลาดนี้ อย่างแรกคือ 1.ต้องเข้าใจว่าเทคโนโลยีมันคืออะไร เทคโนโลยีมีความเป็นไปได้หรือเปล่า และถ้าเทคโนโลยีมันทำได้สำเร็จแล้ว แต่ต้องอย่าลืมว่าสตาร์ตอัพต่างๆ ไม่เคยมีใครทำมาก่อน 2.ต้องเชื่อว่าเทคโนโลยีเมื่อทำได้สำเร็จแล้ว มันสามารถที่จะไปสร้างเงินสร้างผลตอบแทนได้อย่างมหาศาล แล้วผลตอบแทนที่ได้อย่างมหาศาลจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจไปดิสรัปชั่น (Disruption) ธุรกิจอื่นที่เคยทำอยู่แล้ว

“ในขณะนี้คนที่จะซื้อหรือเข้าไปเล่นในตลาดนี้ ต้องเข้าใจสองเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ จึงมองว่าเป็นตลาดที่เหมาะสมกับแฟนพันธุ์แท้” นายรพีกล่าว

นายรพี กล่าวว่า การที่ ก.ล.ต.ออกกฎหมาย “พ.ร.ก.ควบคุมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” คนในตลาดแฟนพันธุ์แท้ที่ระดมทุนอยู่แล้วบอกว่าไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายมาหรอก เพราะเขารู้ เขาเข้าใจ แต่อย่างที่รู้ๆ กันเกี่ยวกับตลาดสินทรัพย์ต่างๆ จะมีคนที่ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้กระโดดเข้าไปเล่นทำกำไร ซึ่งก็จะเกิดความรู้สึกไม่เข้าใจเลย

ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อต้องการที่จะป้องกันให้กับคนที่ไม่รู้เรื่อง แต่ในการป้องกันส่วนของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ แค่จะบอกว่าคนที่มาประกอบธุรกิจไม่ใช่มาหลอกลวงกัน ไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ มีรายละเอียดที่สามารถให้คนได้เรียนรู้และเข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะลดความเสี่ยงว่าธุรกิจนี้อาจจะไม่เจ๊ง

เพราะจากสถิติคนที่ทำธุรกรรมลักษณะนี้ โดยเฉพาะการออก ICO พบว่า 95% เจ๊ง มีแค่สัดส่วนเพียง 5% เท่านั้นที่อยู่รอด แต่อาจจะแค่ 5 โปรเจ็คนี้สามารถทำผลตอบแทนได้หลาย 100% เพราะฉะนั้นถ้าใครจะเข้าไปเล่นตรงนี้อาจจะต้องมีเงินที่พร้อมจะโยนทิ้งได้

“เราไม่รู้ว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมันจะ take over กระบวนการในการออกเสนอขายหลักทรัพย์แบบโบราณหรือเปล่า หรือต่อไปนี้ตลาดหลักทรัพย์จะไม่มีหรือเปล่า/เงินบาทจะไม่มีหรือเปล่า ไม่มีใครตอบได้ เพราะเราอยู่ในจุด Cross Road หรือสี่แยก เพราะไม่รู้ว่าเดินข้ามสี่แยกไปแล้วจะกลายเป็นถนนเส้นใหญ่หรือถนนลูกรัง ไม่มีใครตอบได้” นายรพีกล่าว

ทั้งนี้ ในแง่ของการกำกับดูแลสำหรับคนที่จะเข้ามามากขึ้น คนจะเชื่อได้ว่าคนที่ทำธุรกิจนี้ไม่ใช่แชร์ลูกโซ่และถ้ามีใครทำผิดเกี่ยวกับมาตรฐานในเรื่องต่างๆ กฎหมายฉบับนี้มีความสามารถที่จะไปกำกับดูแลเพื่อเอาโทษได้ นั่นคือ วัตถุประสงค์ของตัวกฎหมายฉบับนี้

“ปัจจุบันมันเป็นทักษะของเจนเนเรชั่นสำหรับคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ในธุรกิจนี้ส่วนใหญ่อายุไม่เกิน 30 ปี ใส่เสื้อยืดคอกลม ชอบเล่นอินเตอร์เน็ตทั้งวัน เข้าใจเทคโนโลยี และกล้าที่จะเสี่ยง ซึ่งผู้ประกอบการสามารถไปลงทุนได้ทั่วโลก และนักลงทุนเองก็สามารถลงทุนได้ เพราะฉะนั้นในแง่ของการกำกับดูแลหากออกเกณณฑ์อะไรที่ไปเข้มเกินไป คนก็จะหันไปลงทุนในต่างประเทศ และเราก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการตรงนี้ได้” นายรพีกล่าว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเจนเนเรชั่นเหล่านี้เราต้องการจะสร้างสเปซเพื่อหนุนให้เขาช่วยสร้างระบบ Ecosystem ให้เกิดขึ้นจากเงินที่ได้จากการระดมทุน และที่สำคัญหนุนให้ทุกคนพร้อมเปลี่ยน Mindset ทั้งในแง่ผู้ลงทุน นักลงทุนให้มีความรู้ความเข้าใจเหมือนกัน