3 แนวทางทำธุรกิจ เมื่อประมงไทยยังติดใบเหลือง

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์

ในปี 2561 การส่งออกสินค้าประมงของไทยน่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2560 และอยู่ในกรอบจำกัดที่ร้อยละ 3.0-5.4 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,049-6,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้รับอานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจโลกและความต้องการบริโภคที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการฟื้นตัวด้านการผลิตของผู้ประกอบการในประเทศ แต่จากการที่ประเทศไทยได้รับใบเหลือง IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ที่กำหนดว่าสินค้าประมงที่นำเข้ามาในกลุ่มประเทศอียูจะต้องไม่ทำผิดกฎตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยไทยเราได้รับใบเหลืองมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว แม้ว่าจะยังไม่มีผลให้เกิดการระงับการนำเข้าสินค้าประมงจากไทยไปสู่ตลาดอียู แต่ก็เป็นการสะท้อนภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งไทยก็เร่งดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมาย รวมถึงแนวปฏิบัติตามคำแนะนำของอียูมาตลอด

สำหรับเอสเอ็มอีซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมประมงไทย และส่วนมากดำเนินธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น และการถนอมอาหารอย่างง่าย ซึ่งเป็นด่านแรกของห่วงโซ่อุปทานในการลำเลียงวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิตอาหารสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปขั้นสูง ทำให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนากระบวนการผลิตของตนให้สอดรับกับกฎระเบียบและมาตรฐานดังกล่าว เพื่อรักษาการเป็นส่วนหนึ่งในสายการผลิตของอุตสาหกรรมประมงไทย และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สามารถรองรับความต้องการบริโภคอาหารทะเลในทิศทางขาขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยแนวทางในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ ได้แก่

1.ปรับปรุงระบบการจ้างแรงงานให้ถูกต้อง ผู้ประกอบการต้องดูแลการจ้างงานของแรงงานไทยและต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย และแนวปฏิบัติของหน่วยงานกำกับของไทยและโลก เช่น การขึ้นทะเบียนแรงงาน การกำหนดวันและชั่วโมงทำงานที่เหมาะสม การจ่ายค่าแรงและจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้แก่แรงงาน รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการจ้างแรงงานเด็กซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ไทยได้รับการจับตาจากต่างประเทศ

2.เพิ่มความเข้มข้นในการคัดเลือกสัตว์น้ำเข้าสู่กระบวนการผลิต ด้วยการรับซื้อสัตว์น้ำจากเรือประมงที่ปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น หากผู้ประกอบการเป็นเจ้าของเรือประมงเองก็ควรดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของทางการ เช่น การขึ้นทะเบียนเรือประมง การขอใบอนุญาตทำประมง เพื่อเป็นการยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของตนถูกต้องตามระเบียบ

3.พัฒนาระบบสอบทานตลอดสายการผลิต ตั้งแต่การนำเข้าวัตถุดิบจนไปถึงมือผู้ผลิตลำดับถัดไป เป็นการยกระดับกระบวนการผลิตและรักษาสถานะการเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรม และเป็นกลไกที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าที่ปลอดจากการกระทำผิดกฎหมายการทำประมง และสามารถตรวจสอบการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้

ในช่วงที่ผ่านมา อียูจะเข้ามาตรวจประเมินปัญหา IUU Fishing ของไทย ซึ่งเบื้องต้นก็มีความพอใจกับความคืบหน้าในการแก้ปัญหา โดยจะมีผลการพิจารณาการออกมาในเร็ว ๆ นี้ แต่แนวโน้มก็น่าจะยังคงสถานะใบเหลือง IUU Fishing เอาไว้ แม้ว่าไทยจะมีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาค่อนข้างมากแต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการประเมินผลในรอบนี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อียูจะขยายระยะเวลาให้ดำเนินการแก้ไขก่อนที่จะเข้ามาตรวจสอบและประเมินผลอีกครั้ง ดังนั้นทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจึงต้องร่วมมือร่วมใจช่วยกันปฏิบัติให้ถูกต้อง เพื่อปลดล็อกให้ประเทศไทยได้ใบเขียว ซึ่งช่วยให้ภาพลักษณ์สินค้าประมงไทยในสายตาของต่างชาติดีขึ้น จนหนุนการส่งออกของไทยขยายตัวได้มากขึ้นนั่นเอง