บัญชีเล่มเดียวป่วน วัดใจ ธปท.ผ่อนเกณฑ์

หลังปรากฏข่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะผ่อนปรนการบังคับใช้ “บัญชีเล่มเดียว” ออกไปอีก 3 ปี หรือจนถึงปี 2564 จากเดิมที่กำหนดนโยบายให้สถาบันการเงินทุกแห่งใช้งบการเงินที่ธุรกิจเอสเอ็มอีแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นเสียภาษีเงินได้ เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป

จึงกลายเป็นประเด็นร้อนให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ต้องออกมาชี้แจง เริ่มจาก “สมบูรณ์ จิตเป็นธม” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า ข่าวที่ออกมา เป็นความเข้าใจที่ “คลาดเคลื่อน” เพราะ ธปท.ยังคงยืนยันให้สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิบัติตามนโยบาย “บัญชีเล่มเดียว” ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 ตามกำหนดเดิม

ขณะที่ “ปรีดี ดาวฉาย” ประธานสมาคมธนาคารไทย ยืนยันว่า แบงก์ทุกแห่งจะเริ่มใช้งบการเงินที่ธุรกิจเอสเอ็มอีนำส่งสรรพากรประกอบในการพิจารณาสินเชื่อ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป เนื่องจากเห็นว่าการที่ธุรกิจเอสเอ็มอีทำบัญชีเดียวจะส่งผลดีต่อธุรกิจ

“ในด้านการขอสินเชื่อก็ทำให้ธนาคารพาณิชย์เห็นข้อมูลที่เป็นจริงของธุรกิจ สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้นด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง”

นายปรีดียังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาแบงก์มีโครงการสำหรับสินเชื่อบัญชีเดียว อัตราดอกเบี้ย 5% คงที่ 2 ปี ซึ่งมีเอสเอ็มอีสนใจเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าหลังธุรกิจเอสเอ็มอียื่นงบการเงินปี 2560 ส่งกรมสรรพากรเมื่อสิ้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา น่าจะมีธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการสินเชื่อบัญชีเดียวมากขึ้น เป็นการการันตีว่าแบงก์ “พร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐ” เต็มที่

ทั้งนี้ แนวคิดการผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอีทำบัญชีเล่มเดียวนั้น เริ่มจากที่ทางกระทรวงการคลังได้ให้ทางกรมสรรพากรเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การออกพระราชกำหนดการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 ซึ่งมีการเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีมาจดแจ้ง (แสดงเจตจำนง) ว่าจะจัดทำ “บัญชีเล่มเดียว” ในช่วงต้นปี 2559 (15 ม.ค.-15 มี.ค.)

โดยรัฐได้ให้ “แรงจูงใจ” ด้วยการ “ไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง” พร้อมกับมีมาตรการภาษียกเว้นและลดอัตราภาษีให้ด้วย นอกจากนี้ ยังประกาศให้เอสเอ็มอีเตรียมพร้อมมาตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม มีเสียงสะท้อนจากคนในวงการแบงก์ว่า เวลาที่ให้ยังไม่เพียงพอที่เอสเอ็มอีจะปรับตัวได้ทัน เพราะการทำบัญชีเล่มเดียวเป็นเรื่องใหญ่ อีกทั้งเอสเอ็มอียังกลัวเรื่องการถูกเก็บภาษีมากขึ้น เพราะเป็นต้นทุนที่มหาศาล ดังนั้น การเลื่อนออกไปอาจเป็นทางออกที่ดี แต่ก็ต้องทำควบคู่กับมาตรการเยียวยา

“อาจบังคับเฉพาะบางเซ็กเตอร์ที่จะให้ใช้บัญชีเล่มเดียว อาทิ ธุรกิจร้านทอง ธุรกิจโรงแรม หรือธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง ส่วนธุรกิจไหนที่มีความเปราะบาง อ่อนไหว อย่างธุรกิจซื้อมาขายไป เกษตรก็ให้เริ่มทีหลัง รวมถึงควรผ่อนเกณฑ์ในการให้สินเชื่อ สำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมด้วย เช่น อนุมัติวงเงินสินเชื่อให้บางส่วน หรือให้มีทางเลือกกู้เงินแบบอื่น ๆ อย่างการกู้ในรูปนิติบุคคล ควบคู่การกู้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือเรียกหลักประกันเพิ่ม เพื่อให้เอสเอ็มอียังสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้”

หลังจากนี้คงต้องรอดู “ในรายละเอียด” ว่า ผู้กำกับนโยบายจะยังคงความเข้มข้นเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของแบงก์ไว้ หรือจะผ่อนปรนมากขึ้น