ขวบปีท้าย “รพี” ก่อนลา ก.ล.ต. ลุยเลิกกฎที่หมดจำเป็น-ฟันคดีปั่นหุ้น

“ผมจะไม่ต่อ (วาระดำรงตำแหน่ง) แล้ว ตอนนี้ผมอายุ 57 ปี ตำแหน่งเลขาฯ (เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.) ต้องไม่เกิน 60 ปี ดังนั้นถึงต่อก็ไม่ครบเทอมอยู่ดี และผมคิดว่ามันจะไม่แฟร์สำหรับคนใหม่ที่จะเข้ามาด้วย เพราะงานพวกนโยบายสาธารณะ (Public Policy) เป็นงานที่จะต้องมีความต่อเนื่อง” นี่เป็นคำยืนยันจาก “รพี สุจริตกุล” เลขาธิการ ก.ล.ต. ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในสิ้นเดือน เม.ย. 2562 หรืออีกราว 10 เดือนข้างหน้า

โดยก่อนหน้านี้เขากลับเข้ามานั่งเก้าอี้สูงสุดขององค์กรแห่งนี้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 หลังจากที่ในอดีตได้ทำงานกับ ก.ล.ต.อยู่ถึง 12 ปีนับแต่ยุคก่อตั้งองค์กร แล้วก็ลาออกไปเมื่อช่วงปี 2547 สมัยเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต.

ซึ่งตลอดช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา บนเก้าอี้เลขาฯ ก.ล.ต. “รพี” ได้มีการ “ปฏิรูป” องค์กรแห่งนี้ไปค่อนข้างมากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการออกเกณฑ์เพิ่มบทลงโทษ “ผู้บริหาร-บอร์ด” บริษัทจดทะเบียนที่มีพฤติกรรม “อินไซด์-ปั่นหุ้น-ให้ข้อมูลเท็จ” ที่กำหนดโทษให้ขึ้นบัญชีดำห้ามเป็นผู้บริหารหรือกรรมการ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) นาน 3 ปี

ขณะเดียวกันก็ยังปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้มีการ “มาตรการลงโทษทางแพ่ง” ทำให้ ก.ล.ต. มี “ดาบ” เอาไว้ลงโทษผู้กระทำความผิดในคดีเกี่ยวกับหุ้นได้อย่างเห็นผลรวดเร็วขึ้น

ส่วนในมุมของการ “ลงดาบ” ผู้กระทำผิดในยุคของ “รพี” ก็มีรูปธรรมออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเคสใหญ่ ๆ อย่างกรณีการลงโทษ “บล.เออีซี-ผู้บริหาร-ผู้แนะนำการลงทุน” จากกรณีการโอนหุ้นของนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง นักธุรกิจที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุอย่างมีข้อกังขา

แล้วก็ยังมีกรณีการเข้าไปจัดการกับขบวนการปั่นหุ้นรายใหญ่ จำนวนรวม 25 ราย โดยได้กล่าวโทษ ว่ามีการสร้างราคาหุ้นรวมแล้ว 6 หลักทรัพย์ด้วยกัน ได้แก่ NEWS, MILL, POLAR, NBC, NINE และ NINE-W1 ซึ่งมีการลงโทษทางแพ่งเรียกค่าเสียหายเฉียด 900 ล้านบาท

ขณะที่ไม่กี่วันนี้ ก็เพิ่งมีมาตรการลงโทษทางแพ่งกรณีสร้างราคาหลักทรัพย์ บมจ.แอสเซท ไบร์ท หรือ ABC (ปัจจุบันคือ บมจ.ดิจิตอลเทค แพลนเน็ต หรือ DIGI) โดยเรียกค่าปรับทางแพ่งรวมกว่า 120 ล้านบาท จากผู้ที่กระทำผิด 7 ราย พร้อมสั่งห้ามเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และ บจ.เป็นเวลา 3 ปี

ส่วนล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ก.ล.ต.ก็เพิ่งกล่าวโทษกรรมการ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ หรือ EARTH รวม 11 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งจะไม่สามารถนั่งกรรมการและผู้บริหาร บจ.ได้อีกตลอดเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี

“ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผมไม่ได้เข้ามาเหยียบคันเร่งคดีอะไรเลย แต่สิ่งที่ทำคือ เข้ามาจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ เพราะเดิมโครงสร้างองค์กรสายคดี กับสายร่างกฎหมายจะมีคอคอด จึงได้จับแยก

ไม่ต้องมีคอคอดอีกแล้ว เป็นผู้ช่วย 2 ฝ่าย แล้วก็ดึงผู้ช่วยผู้พิพากษาคือ นายสมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์ มาเป็นผู้ช่วยเลขาฯ ก.ล.ต.สายบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งบอร์ด ก.ล.ต. ก็ตั้งเป้าว่า คดีที่รับเข้ามา ต้องแยกว่าเป็นคดีเล็ก-กลาง-ใหญ่ ซึ่งกรอบเวลาจะไม่เท่ากัน ก็ต้องเข็นออกมาให้ได้” นายรพีกล่าว

ทั้งนี้ เลขาฯ ก.ล.ต.มั่นใจว่า “การปั่นหุ้น” จะทำยากขึ้น โดยนอกจากกระบวนการลงโทษจะเข้มข้นขึ้นแล้ว ยังมีการที่นักลงทุนหันไปเล่นหุ้น โดยใช้ “โปรแกรมเทรดดิ้ง” กันมากขึ้นด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งแต่ “มาร์เก็ตติ้ง” อีกต่อไป ซึ่งช่วยทำให้การสร้างราคา หรือปั่นหุ้นทำได้ยากมากขึ้น

ส่วนในห้วงเวลาการทำงานที่เหลืออีกไม่ถึง 1 ปีนั้น “รพี” เล่าว่า สิ่งที่ต้องผลักดัน หลัก ๆ ก็จะมีเรื่องการ “ปฏิรูปกฎหมาย” ตามนโยบายของรัฐบาล หรือที่เรียกว่า “Regulatory Guillotine” (กลไกสำหรับพิจารณากฎหมายจำนวนมากในครั้งเดียว เพื่อยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็นอีกต่อไปและ/หรือปรับแก้กฎหมายให้ง่ายต่อการปฏิบัติตามมากขึ้น)

“เราต้องรีวิวกฎ ระเบียบที่มีอยู่ ดูว่ามีกฎอันไหนที่ไม่คุ้มที่จะทำอีก ก็ต้องตัดออกไป หรือใช้เครื่องมืออื่นแทนได้ไหม เรื่องเหล่านี้ต้องทำตลอดเวลา ต้องทำไปเรื่อย ๆ โดยเรื่องนี้คีย์สำคัญก็คือ กำกับเท่าที่ควรกำกับ”

อย่างไรก็ตาม “รพี” ยอมรับว่า การดำเนินการเกี่ยวกับ “Regulatory Guillotine” ค่อนข้างเป็นเรื่องยาก เพราะธรรมชาติของหน่วยงานกำกับดูแล (เรกูเลเตอร์) ก็คือการคิดเกณฑ์มากำกับดูแล ดังนั้นการจะให้ยกเลิกกฎเกณฑ์จึงเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้จับมือกับทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้เข้ามาร่วมทำโครงการ ซึ่งก็ต้องค่อย ๆ ทำ เพราะโครงการลักษณะนี้ต้องทำเป็น 10 ปี

ส่วนที่กำลังฮอตอยู่ขณะนี้ก็คือ การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หลังจากพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา และล่าสุดคณะกรรมการ ก.ล.ต. ก็ได้เห็นชอบแนวทางการกำกับดูแลที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว โดยเตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้

“รพี” ย้ำว่า การกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ก.ล.ต.จะต้องเปลี่ยน “กรอบความคิด” (mindset) ของคนทำงานไปจากสิ่งที่ทำอยู่เดิม

“ต้องให้เขา (คน ก.ล.ต.) ออกไปเจอคนเยอะ ๆ ฟังเยอะ ๆ ว่านี่ไม่ใช่ตลาดเดิม ไม่ใช่กลุ่มเดิม แต่เป็นอีกโลกหนึ่งเลย”

สุดท้ายเมื่อถูกถามว่า จะมีการ “ลงดาบ” คดีปั่นหุ้นคดีใดออกมาอีก เลขาฯ ก.ล.ต. หัวเราะพร้อมบอกว่า “เรื่องนี้บอกไม่ได้…ต้องรอฟังข่าว แต่มีออกมาอีกเรื่อย ๆ แน่นอน”