5 เมกะเทรนด์ ที่มีผลต่อการโตของธุรกิจ

คอลัมน์ Smart SMEs

โดย วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ธนาคารกรุงเทพ

สวัสดีครับ ขณะนี้เราได้เดินทางมาสู่กลางปี 2561 แล้ว และมีสัญญาณบวกที่ดีครับ เมื่อภาครัฐประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่แสดงถึงการฟื้นตัว โดยจีดีพีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีกำลังใจในการดำเนินธุรกิจต่อไป แต่ทั้งนี้ เราก็ไม่ควรประมาทครับ เพราะตลาดโลกวันนี้ยังไม่นิ่ง โดยเฉพาะทางด้านนโยบายการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ ที่ต้องจับตาความเคลื่อนไหวตลอดเวลา รวมถึงการที่เราต้องเตรียมรับมือกับ 5 แนวโน้มหลักที่จะส่งผลต่อการเติบโตทางธุรกิจของไทยและทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วย

1.การเปลี่ยนผ่านสังคมผู้สูงวัย (demographic shift) จากรายงานของสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว ระบุว่าประชากรทั่วโลกซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 7.6 พันล้านคน จะเพิ่มเป็น 8.6 พันล้านคน ในปี 2573 และคาดว่าจำนวนประชากรผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มเป็น 2 เท่าในปีดังกล่าวด้วย สำหรับประเทศไทย เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ จากปัจจุบันไทยมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 10 หรือราว 7 ล้านคน และกลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนเป็น 17 ล้านคนภายในปี 2583 นับเป็นความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ผลที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต เรื่องนี้ผู้ประกอบการธุรกิจเองก็ต้องตระหนักให้มาก

2.การเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางการเศรษฐกิจ (shift in global economic power) จากมหาอำนาจในฝั่งตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือฝั่งเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ที่เศรษฐกิจซบเซาลง ไปสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจหน้าใหม่ เช่น จีน และอินเดีย รวมถึงภูมิภาคอาเซียน โดยรายงานผลการศึกษาแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2593 จากบริษัทไพร้ซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PWC) เผยว่า กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market countries) โดยเฉพาะจีนและอินเดีย จะเป็นสองมหาอำนาจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จากความต้องการสินค้าและบริการภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าผู้ประกอบการต้องมุ่งพัฒนาสินค้าของตนเองให้สามารถก้าวเข้าไปพิชิตตลาดกลุ่มนี้ให้ได้

3.การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (climate change) ภาวะอากาศที่แปรปรวนและเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นไปทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าเป็น ภัยพิบัติน้ำท่วม พายุหิมะ ฝนแล้ง สถานการณ์เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดแรงงาน เชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่อาจต้องเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง บางอุตสาหกรรมเกิดการขาดแคลนน้ำ ภาวะแล้งเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิต เกี่ยวเนื่องไปสู่ภาคการเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค

4.การขยายตัวของสังคมเมือง (accelerating urbanization) เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย แนวโน้มดังกล่าวนี้หลายคนเชื่อว่าจะนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ สำหรับภาคธุรกิจและประชาชน ทำให้เกิดแนวคิดธุรกิจใหม่เพื่อมาแก้ปัญหาและตอบโจทย์พฤติกรรมแบบคนมือง ซึ่งมาพร้อมกับความเจริญด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า ถนน และสนามบิน ทำให้เกิดการสร้างงาน และสร้างรายได้ตามมา

5.พัฒนาการและการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีใหม่ ๆ (rise in technology) เป็นอีกแรงกดดันที่ทำให้องค์กรธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดการดำเนินธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากที่สุด โดยมีเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) มาทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านและพลิกโฉมธุรกิจ หรือ disruptive technology ซึ่งจุดประกายให้ทุกอุตสาหกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลง แข่งขันกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้สามารถเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคได้ลึกซึ้ง ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดี และรวดเร็วยิ่งขึ้น

และทั้ง 5 แนวโน้มนี้ ถือเป็นประเด็นท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เพราะแรงกดดันเหล่านี้อาจกระทบต่อรายได้และผลกำไร แต่หากเรานำข้อมูลเหล่านี้มาศึกษา วิเคราะห์ และปรับใช้เป็นเครื่องมือสำหรับวางแผนการตลาดและยุทธศาสตร์บริหารธุรกิจรับมือกับอนาคตได้ ก็จะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและอยู่รอดได้ในระยะยาวครับ