ติดสปีดปูพรม “แบงกิ้งเอเย่นต์” BBL-กสิกร-ศรีสวัสดิ์แข่งบริการฝาก-ถอน

แบงก์พาณิชย์แห่ยื่น ธปท.ขอเปิดแบงกิ้งเอเย่นต์ หนุนลดต้นทุนสาขา ปูพรมบริการลูกค้าทั่วถึง ด้านศรีสวัสดิ์ร่วมวง ขอแบงกิ้งเอเย่นต์ ต่อยอดบริการลูกค้า BFIT จ่อกินรวบให้บริการฝาก ถอนลูกค้าจากแบงก์ไทย-เทศทุกค่าย ด้าน BBL-KBANK-BAY คัดแบงกิ้งเอเย่นต์เข้มข้น

นางสาวธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ล่าสุด บริษัทลูก คือ บริษัทศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 ได้ยื่นขอเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ (Banking Agent) ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้สามารถให้บริการทางการเงินได้เต็มที่ โดยคาดว่าหลังจาก ธปท.อนุมัติ ในระยะแรก ๆ น่าจะเน้นให้บริการรองรับลูกค้าของบริษัทเงินทุนศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT ก่อน และค่อยขยายการให้บริการรับฝาก-ถอนเงินสำหรับลูกค้าทั่วไปได้ เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับลูกค้าของธนาคารขนาดเล็ก หรือธนาคารต่างประเทศ หันมาใช้บริการได้ เพราะการเปิดสาขามีต้นทุน ดังนั้นก็อาจไม่คุ้มหากธนาคารขนาดเล็ก หรือธนาคารต่างชาติจะต้องมาเปิดสาขาเพื่อให้บริการลูกค้า

“เราขอ ธปท.ไป 2 เดือนแล้ว เพื่อให้เราสามารถดูแลลูกค้า BFIT ได้ ภายหลังหากมีแบงก์ขนาดเล็กมาใช้บริการเราก็เปิดให้บริการได้ ซึ่งขอบเขตการเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ก็น่าจะฝาก ถอน เหมือนเซเว่นฯทั่วไป และปกติ BFIT ก็ให้บริการรับฝากเงินอยู่แล้ว แต่เป็นเงินฝากของรายใหญ่” นางสาวธิดากล่าว

ด้านนายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารได้มีการยื่นขอตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์ต่อ ธปท.เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้้อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องปริมาณธุรกรรม กำลังคน และทำเลที่ตั้ง โดยพันธมิตรที่ธนาคารจะเลือกมาเป็นตัวแทน (agent) นั้น จะต้องมีคุณสมบัติตามที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคาร และเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะได้รับจากความผิดพลาดจากตัวแทนในอนาคตดังนั้น ธนาคารจึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการคัดเลือกตัวแทนที่เหมาะสมที่สุด

นายทวีลาภ กล่าวว่าแบงกิ้งเอเย่นต์ ถือเป็นหนึ่งในช่องทางในการให้บริการลูกค้า ซึ่งมีเกณฑ์ควบคุมการจัดตั้งอยู่แล้ว เช่น เรื่องความเสี่ยงและบทบาทความรับผิดชอบ แต่ธนาคารยังให้ความสำคัญและการใช้ประโยชน์จากช่องทางอื่นอยู่ เช่น การให้บริการผ่านสาขาและทางเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อลูกค้าจะได้มีหลายช่องทางให้เลือกเพิ่มขึ้น

ขณะที่นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ล่าสุดธนาคารก็ได้ยื่นขอ ธปท.จัดตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์แล้ว และได้ส่งแผนให้ธปท.พิจารณาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับพันธมิตร ทั้งร้านสะดวกซื้อ ปั๊มน้ำมัน ร้านบุญเติม ในการเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ โดยปีนี้คาดว่าจะเห็นการจัดตั้งแบงก์กิ้งเอเย่นต์ได้ราว 200-300 แห่ง

“ล่าสุดเราหารือพันธมิตรเกี่ยวกับเรื่องค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ค่าบริการต่าง ๆ เมื่อเกิดการให้บริการแล้ว จะคิดค่าฟี เท่าไหร่ แบงก์ต้องชดเชยค่าฟีแทนลูกค้า หรือลูกค้าจ่ายเอง หรือค่าฟีต้องแบ่งกันระหว่างแบงก์และผู้เป็นแบงกิ้งเอเย่นต์” นายพงษ์อนันต์กล่าว

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)กล่าวว่า ในส่วนของแบงกิ้งเอเย่นต์ปัจจุบันธนาคารยังไม่มีการยื่นเพื่อขอให้บริการเพิ่มเติมกับ ธปท.เพราะอยู่ในขั้นตอนการเลือกแบงกิ้งเอเย่นต์อยู่ ซึ่งหากได้แบงกิ้งเอเยนต์เรียบร้อยแล้วก็คาดว่าจะยื่นขออนุญาตในระยะถัดไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันก็มีการคุยกับพันธมิตรหลายราย ทั้งที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจทั้งรายเดิมและรายใหม่ เช่นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ธนาคารได้เข้าไปทำอีวอลเลตให้ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงร้านกาแฟต่าง ๆ ที่มีศักยภาพในการต่อยอดเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ธนาคารคำนึงคือ การเน้นการให้ความสะดวกกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของธนาคารเป็นหลัก

“ตอนนี้ก็มีพันธมิตรที่เลือก ๆ ไว้ เพื่อให้ความสะดวกกับลูกค้าไว้ซัพพอร์ตลูกค้าเป้าหมาย และดูพื้นที่การให้บริการด้วย เช่นหากที่ตรงนั้นมีสาขาของแบงก์อยู่แล้ว ก็จะซ้ำซ้อน ไม่ได้มีประโยชน์ในการมีแบงกิ้งเอเย่นต์ ซึ่งตอนนี้เราพยายามเช็กตัวแบงกิ้งเอเย่นต์เรา เพื่อให้เข้าใจเป้าหมายเรา ฉะนั้นคนที่จะมาทำตรงนี้ ต้องไม่คิดว่าเราจะไปเป็นคู่แข่ง ให้คิดว่ามาใช้ประโยชน์ร่วมกัน” นางสาวขัตติยากล่าว