บสย.มั่นใจสิ้นปี 61 ปิดยอดค้ำประกันได้ตามเป้า 110,000 ล้าน

บสย. แจงผลดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี’61 ทะลุเป้า 56,150 ล้านบาท เติบโต 90% พร้อมอนุมัติหนังสือค้ำประกัน รวม 58,296 ฉบับ เติบโต 23% เร่งผลักดันโครงการ PGS7 – micro เฟส 3 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อเนื่อง คาดทั้งปี’61 ปิดยอดค้ำประกันตามเป้า 110,000 ล้านบาท

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า สำหรับผลดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ บสย.รอบ 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.2561) เป็นไปตามแผนงาน ยอดอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อทะลุเป้า 56,150 ล้านบาท เติบโต 90% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งปิดยอดค้ำประกันสินเชื่อที่ 29,591 ล้านบาท และอนุมัติหนังสือค้ำประกัน รวม 58,296 ฉบับ เติบโต 23% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 47,204 ฉบับ สามารถช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ 57,177 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 83,779 ล้านบาท

โดยโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 6 (ปรับปรุงใหม่) สามารถปิดโครงการได้ตามระยะเวลาที่กำหนด (30 มิ.ย.2561) และ สามารถอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อได้เต็มวงเงินที่ได้รับอนุมัติ พร้อมเร่งให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องตลอดครึ่งปีหลัง ผ่าน 2 โครงการค้ำประกันสินเชื่อใหม่ ที่ผ่านความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฏาคม 2561 ประกอบด้วย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทรัพย์ (PGS7) วงเงิน 150,000 ล้านบาท และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อผู้ประกอบการรายย่อย(Micro Entrepreneur) ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท เตรียมเปิดใช้ภายใน 2 สัปดาห์ คาดว่าจะปิดยอดค้ำประกันสิ้นปี 2561 พิชิตได้เป้าหมาย 110,000 ล้านบาท

สำหรับนโยบายการดำเนินงาน บสย.ในครึ่งปีหลังของปี 2561 โดยเร่งจัดทำแผนงานและเปิดรับคำขอค้ำประกัน ภายใน 2 สัปดาห์ ได้แก่ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทรัพย์ (PGS7) วงเงิน 150,000 ล้านบาท 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อผู้ประกอบการรายย่อย (Micro Entrepreneur) ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง

นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า สำหรับรายละเอียดของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทรัพย์ (PGS 7) วงเงิน 150,000 ล้านบาท จะแตกต่างจากโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ผ่านมา เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการอนุมัติงบประมาณ 13,500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นวงเงิน 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มฟรีค่าธรรมเนียมแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วงเงิน 3,375 ล้านบาท และกลุ่มชดเชยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) วงเงิน 10,125 ล้านบาท คิดเป็น 9% ของวงเงินค้ำประกันทั้งหมด

Advertisment

สำหรับจุดเด่นของโครงการนี้คือ มีความหลากหลายและรองรับผู้ประกอบการ SMEs ครอบคลุม 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มเอสเอ็มอีประชารัฐและนโยบายรัฐที่ร่วมกับธนาคารกรุงไทย วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี โดยฟรีค่าธรรมเนียม 1.5 ปี หลังจากนั้นคิดค่าธรรมเนียม 1.5%

ในส่วนของกลุ่มเอสเอ็มอีนิติบุคคล บัญชีเล่มเดียว วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก หลังจากนั้นคิดค่าธรรมเนียมสูงสุด 3.5% โดยมีธนาคารที่เข้าร่วมทั้ง 6 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารออมสิน และธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.), กลุ่มเอสเอ็มอีรายเล็ก วงเงินค้ำประกันไม่เกิน 5 ล้านบาท , กลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อจาก SFIs วงเงินค้ำประกัน 40,000 ล้านบาท , กลุ่มเอสเอ็มอีทั่วไป วงเงินค้ำประกันสูงสุด 40 ล้านบาท และ กลุ่มสินเชื่อพิเศษสำหรับลูกค้าธนาคารที่จัดสรรตามรายสถาบัน วงเงินค้ำประกัน 40,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้กว่า 43,000 ราย และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 240,000 ล้านบาท ค้ำประกันไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 1.75% รวมถึงระยะเวลาในการยื่นคำขอภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในโครงการดังกล่าว โดยสิ้นสุดโครงการวันที่ 23 ก.ค. 2563

นอกจากนี้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายย่อย (Micro Entrepreneur) ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก กำหนดวงเงินค้ำประกันไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย ระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อไม่เกิน 10 ปี คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ 150,000 ราย และเกิดสินเชื่อในระบบ 15,000 ล้านบาท โดยสิ้นสุดโครงการวันที่ 23 ก.ค. 2563