“ดอลลาร์ร่วงหลังความเห็นทรัมป์ป่วนตลาด”

ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 20-24 สิงหาคม 25861 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอีก 6 สกุลเงินยังคงปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้าจากความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งจะมีการหารือประเด็นการค้ากันที่กรุงวอชิงตันในช่วงปลายสัปดาห์ โดยตลาดคาดว่าการหารือครั้งนี้อาจจะปูทางไปสู่การประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนในเดือนพฤศจิกายน นอกจากนั้นแล้วค่าเงิเนดอลลาร์ยังได้รับแรงกดดันอย่างมากในช่วงต้นสัปดาห์หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้วิพากษ์วิจารณ์นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในกรณีที่เฟดมีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยทรัมป์กล่าวว่าเขาไม่ยินดีที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงผลกระทบจากประเด็นทางการเมืองของสหรัฐ ภายหลังจากที่นายไมเคิล โคเฮน อดีตทนายของประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ออกมายอมรับสารภาพคดีฉ้อโกงธนาคารและหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะละเมิดกฎหมายการเงินช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ซึ่งมีความเสี่ยงว่าอาจจะกระทบกับประธานาธิบดีทรัมป์ อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์เริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นในวันพุธ (22/8) จากการเปิดเผยรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-1 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยในรายงานการประชุมได้ระบุว่าคณะกรรมการเฟดหลายท่านได้ส่งสัญญาณว่าเฟดมีความพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายนหรือในการประชุมที่จะถึงนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐ ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ทั้งนี้เฟดได้ระบุเพิ่มเติมว่า สำหรับเป้าหมายในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเฟดนั้น เฟดจะต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น การพิจารณาถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างยั่งยืน ภาวะตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่เคลื่อนตัวเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% อนึ่ง สำหรับเหตุการณ์ที่ยังต้องจับตาดูในช่วงสัปดาห์นี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และผู้นำธนาคารกลางคนอื่น ๆ จะประชุมกันที่อุทยานแห่งชาติแกรนด์ เทตัน ในเขตเจ็ตสันโฮลในรัฐไวโอมิง โดยนายพาวเวลล์วางแผนจะหารือเรื่องต้นเหตุของภาวะอัตราเงินเฟ้อต่ำเป็นเวลายาวนาน การที่ค่าแรงปรับขึ้นอย่างเชื่องช้า และประสิทธิภาพการผลิตที่ขยับขึ้นอย่างเฉื่อยชา โดยปัจจัยเหล่านี้ถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมานานหลายปี ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในการประชุมทางเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจจากตลาดเป็นอย่างมาก

สำหรับการเคลื่อนไหวภายในประเทศไทย ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (20/8) ที่ระดับ 33.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/8) ที่ 33.26/28 บาท/ดอลลาร์ จากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ และปรับตัวแข็งค่าอย่างมากในช่วงบ่ายของวันโดยลงไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 10 สัปดาห์ในวันพุธ (22/8) ที่ระดับ 32.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังจากที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดยระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ไม่สามารถฝืนทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของตลาดโลกได้ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินจะพิจารณาจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนั้นยังย้ำด้วยว่า ความจำเป็นของนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษมีน้อยลงหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามหากในอนาคตมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นบ้าง ก็ถือว่านโยบายการเงินของไทยยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย ทั้งนี้ ค่าเงินบาทยังได้รับปัจจัยหนุนจากรายงานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิตจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ซึ่งเปิดเผยว่า ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา จีดีพีไทยขยายตัว 4.8% เนื่องจากการบริโภคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัวเร่งขึ้น รวมทั้งการส่งออกขยายตัวในเกณฑ์สูง การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการผลิต ภาคเกษตร ขายส่งขายปลีกขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งตัวขึ้น ขณะที่สภาพัฒน์ยังคงตัวเลขคาดการณ์จีดีพีทั้งปีไว้ที่ 4.2-4.7% แต่ได้มีการปรับตัวเลขคาดการณ์การส่งออกเป็นขยายตัว 10% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 8.9% ส่วนนำเข้าคาดเติบโตได้ 15.4% จากเดิมคาด 12.7% แต่ปรับลดคาดการณ์การใช้จ่ายภาครัฐลงทั้งการบริโภคและการลงทุน ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.68-33.21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันอังคาร (20/8) ที่ระดับ 1.1433/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (17/8) ที่ 1.1379/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากแรงเทขายดอลลาร์ภายหลังจากที่ความกังวลของนักลงทุนต่อวิกฤตตุรกีซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อธนาคารยุโรปและการที่สหรัฐอาจจะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมต่อตุรกีเริ่มเบาบางลง ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) ได้เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนพุ่งขึ้นสู่ระดับ 2.1% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสูงกว่าที่อีซีบีตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 2% จึงถือเป็นการส่งสัญญาณสนับสนุนให้อีซีบียุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ในช่วงสิ้นปีนี้ และทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปีหน้า ค่าเงินยูโรกลับมาอ่อนค่าลงเล็กน้อยในวันพฤหัสบดี (23/8) จากการแข็งค่าขึ้นอีกครั้งหนึ่งของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของยุโรปประจำเดือนสิงหาคมที่ระดับ 54.6 ซึ่งลดลงจากระดับ 55.1 ในเดือนกรกฎาคม และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการที่ระดับ 54.4 เช่นเดียวกับเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1392-1.1623 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1560/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้ ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (20/8) ที่ระดับ 110.46/47
เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (17/8) ที่ระดับ 110.52/53
เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการเข้ามาถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุนจากประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและตุรีกี ก่อนจะกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงท้ายสัปดาห์ จากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.46-111.48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 111.40/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ