“สมคิด” เข็น TFF ขายหน่วยลงทุนรายย่อย ต.ค.นี้ ยันรัฐบาลจะดันเศรษฐกิจไทยโตไม่ต่ำกว่า 4.5%

“สมคิด” เข็น TFF ขายหน่วยลงทุนรายย่อย ต.ค.นี้ ยันรัฐบาลจะดันเศรษฐกิจไทยโตไม่ต่ำกว่า 4.5% เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหวังยกระดับประเทศไทย-กลุ่มประเทศ CLMVT เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของเอเชีย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน “ไทยแลนด์ โฟกัส 2018” ว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังเตรียมเปิดขายหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์สฟันด์) หรือ TFF โดยคาดว่าจะเปิดขายแก่ประชาชนทั่วไปได้ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ สำหรับวงเงินยังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้เหมาะสม

ขณะที่ในด้านเศรษฐกิจไทยปีนี้ เชื่อว่าจะโตได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 4.5% แน่นอน ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายใจ แต่รัฐบาลจะพยายามทำให้ดีกว่าที่คาดการณ์กันไว้ และการจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ภารกิจสำคัญที่ต้องทำต่อไป คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และมุ่งมั่นขับเคลื่อนแก้ไขจุดอ่อนและสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

“จากไตรมาสล่าสุดที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มาจากการบริโภคภาคประชาชน การลงทุนภาครัฐ และการส่งออก ซิ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยรัฐพยายามเร่งทำตัวเลขทางเศรษฐกิจให้ไปได้อย่างสม่ำเสมอและสมดุลกัน จนถึงไตรมาสสุดท้ายในปีนี้” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า ในขณะนี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเต็มที่ และมีโอกาสดีที่กำลังเข้ามาอย่างโดดเด่นในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยหากไทยสามารถให้ข้อมูลความคืบหน้าด้านการลงทุนต่าง ๆออกไปได้ เชื่อว่านักลงทุนทั่วโลกก็สามารถเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย เพราะถ้าเศรษฐกิจดี ตลาดทุนก็จะดีตาม แต่สิ่งสำคัญคือต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อตลาดทุนของไทย ในด้านความโปร่งใสต่าง ๆ

นอกจากนี้ ด้วยปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ทาให้เป็นโอกาสของไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ในการจะเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของทวีปเอเชีย ด้วยการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดเฉลี่ย 6-8% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และมีประชากรรวมกันกว่า 200 ล้านคน เป็นแหล่งแรงงานที่สำคัญ

“เราต้องทำตัวให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางที่ดีให้ได้” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวอีกว่า ยังมีนโยบาย Belt and Road ของจีน และ การที่ญี่ปุ่นกำลังผลักดัน CPTPP และความร่วมมือ Indo Pacific Partnetship ที่ขับเคลื่อนโดยสหรัฐ อินเดีย และญี่ปุ่น เขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจ RCEP ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทุกแนวคิดมี อาเซียน และ CLMVT เป็นจุดศูนย์กลางทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ผลักดัน 3 ยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ประกอบด้วย 1.การเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟฟ้าในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รถไฟรางคู่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด รถไฟเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.การก้าวจากประเทศที่รายได้ปานกลาง ที่มีการผลิตสินค้าราคาต่ำ เปลี่ยนไปสู่การผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นวิทยาการและนวัตกรรมที่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต

รวมถึงการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นโครงการที่รองรับการเติบโตในอนาคต และ 3.การขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคดิจิทัล เพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลให้มากขึ้น รวมถึงในอนาคตไทยจะก้าวเข้าสู่ E-Government ซึ่งเป็นการลดทอนอุปสรรคต่อการลงทุนในระยะต่อไป