ธุรกิจใหญ่แห่ออกหุ้นกู้-คืนหนี้แบงก์ ล็อกต้นทุน”ดอกเบี้ยขาขึ้น”

แฟ้มภาพ

ธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่ออกหุ้นกู้ระยะยาวล็อกต้นทุนการเงินรับมือภาวะ”ดอกเบี้ยขาขึ้น” สมาคมตราสารหนี้เผย 4 เดือนสุดท้ายยอดหุ้นกู้ทะลุ 2 แสนล้าน “ไทยเบฟ-ปูนใหญ่-ดุสิตธานี-ไมเนอร์-อนันดาฯ” เข้าคิวขายรอบใหม่ ยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น ชี้ยังต่ำกว่าดอกเบี้ยธนาคาร ศูนย์วิจัยกสิกรฯเผยธุรกิจใหญ่แห่คืนเงินกู้แบงก์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากทิศทางของ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ทำให้ขณะนี้เกิดภาพความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจหลายด้านเพื่อตั้งรับต้นทุนทางการเงินที่กำลังกลับด้าน หลังจากที่ตลาดอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำมานานนับ 10 ปี

ผลตอบแทนพันธบัตรขยับ

แหล่งข่าวจากวงการเงินเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สัญญาณการขยับขึ้นดอกเบี้ยของไทยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการออกหุ้นกู้ของเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าดอกเบี้ยกู้รายใหญ่ชั้นดี (MLR) ของธนาคารพาณิชย์ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 6% เศษ ทำให้ธุรกิจใหญ่มีการปรับโครงสร้างทางการเงินกันเป็นระยะ ๆ มีทั้งใช้คืนหนี้บางส่วน และโครงการที่ลงทุนระยะยาวจะหันมาออกหุ้นกู้เพื่อคุมต้นทุนการเงินไม่ให้สูงเกินไป

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (yield) ปัจจุบันพบว่า อายุ 2 ปี อยู่ที่ 1.89% เพิ่มจากสิ้นปีอยู่ที่ 1.46%, อายุ 3 ปี 2% จากสิ้นปี 1.61% และอายุ 5 ปี อยู่ที่ 2.3% จากสิ้นปีอยู่ที่ 1.86% ซึ่งปรับเพิ่มขึ้น 0.43%, 0.39% และ 0.44% ตามลำดับ ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ดอกเบี้ยจะบวกเพิ่มขึ้นจากยีลด์ของพันธบัตรของรัฐบาล และขึ้นกับระดับเครดิตเรตติ้งของแต่ละบริษัท

11 บริษัทยักษ์นำทีมหุ้นกู้

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ตั้งแต่ต้นปีถึง 24 ส.ค. 2561 มีบริษัทเอกชนออกหุ้นกู้ระยะยาว 5.6 แสนล้านบาท จำนวนกว่า 150 บริษัท โดยรายใหญ่ที่ออกหุ้นกู้เกินระดับ10,000 ล้านบาท มีราว 11 ราย นำโดย บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ที่ขายไปแล้ว 5 หมื่นล้านบาท, บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) 3 หมื่นล้านบาท, บมจ.ธนาคารกรุงศรีฯ 2.9 หมื่นล้านบาท, บมจ.ทรู 2.1 หมื่นล้านบาท, ธนาคารทิสโก้ 1.8 หมื่นล้านบาท บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) 1.7 หมื่นล้านบาท, บมจ.ซีพีเอฟ และซีพีเอฟ ไทยแลนด์ รวม 2.7 หมื่นล้านบาท, บมจ.บัตรกรุงไทย หรือเคทีซี 1.5 หมื่นล้านบาท, บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) (EDL-GEN) ก็ออก 1.36 หมื่นล้านบาท, บริษัท มิตรผล 1.1 หมื่นล้านบาท และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ อีก 1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ได้ออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเลิกออกตั๋วแลกเงิน (B/E) เพราะทางการออกกฎคุมเข้มเมื่อกลางปีที่แล้ว

“ปีนี้ตั๋วบี/อีหายไป 40% เปลี่ยนมาหุ้นกู้แทน เหลือแต่สถาบันการเงินที่ออกตั๋วบี/อี มียอดคงค้างเหลือ 3 แสนล้านบาทลดลงเยอะ” นางสาวอริยากล่าว

4 เดือนสุดท้ายพุ่ง 2 แสน ล.

นางสาวอริยากล่าวว่า แนวโน้มการออกหุ้นกู้ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะเห็นรายใหญ่ ๆ ออกหุ้นกู้ต่อเนื่องโดยไทยเบฟจะมีออกอีกหลายหมื่นล้านบาท และ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ที่จะออกอีก 1 หมื่นล้านบาท เพื่อรีไฟแนนซ์ ซึ่งในกลุ่มบริษัทใหญ่จะมียอดรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท นอกจากนี้จะมีหุ้นกู้ที่จะออกใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดสิ้นปีนี้ อีกราว 50% ของยอดครบกำหนดทั้งหมด 1.4 แสนล้านบาท ดังนั้นโดยรวม ๆ จะเห็นการออกหุ้นกู้อีกไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้ปีนี้ทั้งปียอดออกหุ้นกู้ใหม่ราว 8 แสนล้านบาทใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เนื่องจากปีที่แล้วมีหุ้นกู้ก้อนใหญ่ 8-9 หมื่นล้านบาท ของ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC ที่ทำให้ภาพรวมปีที่ผ่านมาสูงเป็นประวัติการณ์

“ปีนี้ถือว่าการออกหุ้นกู้มากกว่าที่เราคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีราว 7 แสนล้านบาทขณะที่สินเชื่อจะไม่ค่อยโต เพราะรายไหนที่ออกหุ้นกู้ได้ ก็จะทำเพราะคุมต้นทุนการเงินได้ ขณะที่ดอกเบี้ยแบงก์จะลอยตัวในระยะยาว แม้ว่าจะได้อัตราพิเศษ แต่ก็ยังอิงกับดอกเบี้ย MLR อยู่”

ปูนใหญ่-ไทยเบฟฯจ่อขายใหม่

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีบริษัทยื่นเอกสารเพื่อออกหุ้นกู้ในช่วงครึ่งปีหลังหลายราย อาทิ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย เตรียมขายหุ้นกู้ชุดใหม่ อายุ 4 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 3.10% ต่อปี มูลค่า 10,000 ล้านบาท เดือนกันยายนนี้ เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะครบไถ่ถอนวันที่ 1 ตุลาคมนี้ หลังเดือนกุมภาพันธ์ 2561 บริษัทได้ออกหุ้นกู้ 30,000 ล้านบาทอายุ 4 ปี ดอกเบี้ย 3.0% ต่อปี

นอกจากนี้ยังมี บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ แจ้งว่า จะออกหุ้นกู้ 5 ชุด มีอายุ 2 ปี 4 เดือน, 3 ปี 6 เดือน, 5 ปี, 7 ปี และอายุ 10 ปี โดยเสนอขายเฉพาะผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น และยังไม่ได้ระบุวงเงินการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ รวมทั้ง บมจ.ดุสิตธานีเสนอแผนขายหุ้นกู้วงเงิน 1,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี เสนอขายวันที่ 10-12 กันยายนนี้ ทั้งนี้ เป็นการเสนอขายเฉพาะนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น โดยบริษัทระบุว่าเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งชำระคืนหนี้บางส่วน เพราะต้นทุนการเงินของหุ้นกู้ต่ำกว่าสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

ไมเนอร์-อนันดาจ่าย ดบ.สูง

ขณะที่ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เตรียมขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ที่มีลักษณะคล้ายทุน ชำระคืนเงินต้นครั้งเดียวเมื่อเลิกบริษัท อัตราดอกเบี้ย 5.85% ต่อปี ใน 5 ปีแรก ปีที่ 6-25 เท่ากับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี +initial credit spread+0.25% เตรียมเสนอขายวันที่ 24-27 ก.ย.นี้ รวมทั้ง บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเมนท์ ที่ได้เสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ที่มีลักษณะคล้ายทุน ชำระคืนเงินต้นครั้งเดียวเมื่อเลิกบริษัท โดย 5 ปีแรกจ่ายดอกเบี้ย 8.50% ต่อปี

โดยมีการออกหุ้นกู้ 2 ชุด คาดว่าชุดที่ 1 จะขายในช่วง 20-25 กันยายนนี้ และชุดที่ 2 ขายในช่วงเดือนตุลาคม

นอกจากนี้ที่ผ่านมา บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ออกหุ้นกู้แบบไม่มีเครดิตเรตติ้ง วงเงิน 1,800 ล้านบาท อายุ 1 ปี 5 เดือน27 วัน ดอกเบี้ยคงที่ 7% ต่อปี ได้เสนอขายไปเมื่อ 28-30 สิงหาคมที่ผ่านมา รวมถึงบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เสนอขายหุ้นกู้อายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 3.20% ต่อปี มูลค่าที่เสนอขายรวมไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เป็นการเปิดขายทั้งกับนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนประชาชนทั่วไป เมื่อ 20-22 สิงหาคมที่ผ่านมา

ธุรกิจแห่คืนเงินกู้แบงก์

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ทรงตัวจากเดือนก่อนที่ 11.31 ล้านล้านบาท หลังจากที่ขยายตัวในอัตราเร่งสูงสุดในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยสินเชื่อเช่าซื้อรถและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังคงมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง แต่เนื่องจากมีการชำระคืนสินเชื่อภาคธุรกิจจำนวนมากในธนาคารขนาดใหญ่และกลาง ประกอบกับสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตที่ค่อนข้างทรงตัว ทำให้ภาพรวมสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในเดือน ก.ค.อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ภาพรวมเงินฝากเดือน ก.ค. 2561 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 2.66 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 0.22% เป็น 12.30 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากการลดลงของเงินฝากประจำของภาคธุรกิจในธนาคารขนาดใหญ่และกลางบางแห่ง ขณะเดียวกันมี 3 ธนาคารขนาดใหญ่และเล็กออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการออกเพื่อชดเชยเงินฝากเดิมที่ครบกำหนด โดยยังไม่มีสัญญาณการแข่งขันด้านราคา แต่ระยะเวลาการฝากยาวนานขึ้นเป็น 1-2 ปี จากเดิมที่ไม่เกิน 1 ปี โดยแคมเปญใหม่ยังเน้นลูกค้ารายใหญ่ และให้ข้อเสนอดอกเบี้ยเพิ่มพิเศษแก่ลูกค้าที่ถือผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและกองทุนรวม