ธนาคารโลกปรับเพิ่มจีดีพีไทยโต 4.5% จับตาผลกระทบสงครามการค้า

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ปรับคาดการร์อัตราการขยายตัว(จีดีพี) ไทยขยายตัว 4.5% ในปี2561 จากเดิมเดือนเมษายนที่คาดว่าจะขยายตัว 4.1% ประมาณการณ์เศรษฐกิจของธนาคารโลกในครั้งนี้ ไม่ได้รวมผลจากการเลือกตั้งเพราะเป็นเรื่องที่คาดการณ์ยาก เน้นพิจารณาเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งการขยายตัวที่ 4.5% เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี เพราะมีปัจจัยหนุนทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยต่างประเทศ จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของเอกชนและการลงทุนภาครัฐที่เร่งขึ้นมา การส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี รวมทั้งโครงสร้างขนาดใหญ่และการใช้จ่ายของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐส่งผลดีต่อการลงทุนของเอกชน

อย่างไรก็ตาม จีดีพีในปี 2562 และปี 2563 คาดจะอยู่ที่ 3.9% จากการส่งออกคาดว่าจะลดลงหลังจากการค้าโลกได้ผ่านจุดสูดสุดไป การลงทุนภาครัฐอาจจะลดลงหลังจากเติบโตไปแล้วในปี 2561 จากความเป็นไปได้ที่บางโครงการจะล่าช้าจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใหม่ โดยเป็นกรณีฐานที่พิจารณาจากปัจจัยที่เป็นไปได้มากที่สุด ซึ่งมีโอกาสขยายตัวได้เพิ่มขึ้นหรืออาจจะชะลอลงกว่าระดับนี้จากปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะสงครามการค้าและความผันผวนในตลาดการเงินโลกจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

นายเกียรติพงศ์ กล่าวว่า สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ขณะนี้ ธปท. ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นแล้วนั้น มองว่า หากธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมถือว่ามีไม่มากนัก เพราะธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องสูง ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่อยู่ระดับต่ำในเวลา เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ครัวเรือนมีการใช้จ่ายเกินความจำเป็น มีการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นทำให้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเห็นด้วยที่ ธปท. จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากปรับขึ้นในอัตราที่เร็วเกินไปอาจจะกระทบต่อการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มได้ โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้อยู่ในระดับสูง

“ความเสี่ยงและความท้าทายของไทยคือความไม่แน่นอนในอุปสงค์จากต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกกำลังผ่านจุดสูงสุดไป การเพิ่มขึ้นของบรรยากาศการกีดกันทางการค้าและการชะลอตัวในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยจะกระทบต่อการส่งออกและทำให้เอกชนชะลอการลงทุน ทั้งนี้ การชะลอการลงทุนของเอกชน เนื่องจากกังวลความไม่แน่นอนด้านการเมือง แม้ว่าความเชื่อมั่นจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแต่หากเทียบกับช่วงปี 2555 ก็คือว่ายังอ่อนแออยู่มาก นักลงทุนเอกชนยังคงกังวลกับความไม่แน่นอนทางการเมืองและผลกระทบต่อแผนการลงทุนภาครัฐและความต่อเนื่องในนโยบายเศรษฐกิจที่อาจจะพลิกกลับด้านได้ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และทางรถไฟจะเป็นจุดสำคัญที่จะกระตุ้นความเชื่อมั่นของเอกชนขึ้นมาได้ แต่ยังต้อติดตามเพราะการที่อีอีซีต้องทำงานภายใต้กรอบของภาครัฐหรือบริบทราชการทำให้ไม่คล่องตัว และจะกลายเป็นคอขวดได้” นายเกียรติพงศ์ กล่าว

 

ที่มา  มติชนออนไลน์