กรมบัญชีกลาง วางแผนเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 62 หลังงบประมาณปี 61 เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้า

นางญาณี แสงศรีจันทร์ โฆษกอธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยภายหลังงานวันคล้ายวันสถาปนากรมบัญชีกลางครบรอบ 128 ปี ว่า หลังจากสิ้นสุดปีงบประมาณ 2561 และเริ่มเข้าปีงบประมาณ 2562 ในวันที่ 1 ต.ค. 2561 สำหรับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อประชาสัมพันธ์โดยออกหนังสือเวียนแก่ส่วนราชการ เพื่อให้ส่วนราชการมีการวางแผนและทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนเร่งรัดการเบิกจ่ายได้รวดเร็วขึ้น

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ผลเบิกจ่ายในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2561 มีการเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมได้จำนวน 2,667,073 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,900,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 92.0 แบ่งเป็น เบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนได้จำนวน 373,034 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 659,781 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 56.5 เบิกจ่ายรายจ่ายประจำได้จำนวน 2,294,039 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,240,219 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 102.40 สาเหตุที่ผลเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้า เนื่องจากหน่วยงานของรัฐยังมีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจ ไม่คุ้นเคยกับการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จึงเกิดความกังวลในการปฏิบัติงาน ซึ่งกรมบัญชีกลางจะเร่งทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น แต่พบว่าจำนวนเงินในการเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวม งบประมาณรายจ่ายลงทุน และการก่อหนี้ผูกพัน เบิกได้สูงกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมา สำหรับการเบิกจ่ายของกรมบัญชีกลาง มีผลการเบิกจ่ายสูงกว่าเป้าหมายเป็นปีแรก โดยเบิกจ่ายภาพรวมได้จำนวน 1,439.52 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 1,484.33 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97.65 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 1.65 (เป้าหมายร้อยละ 96) แบ่งเป็น เบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนได้จำนวน 277.66 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 296.13 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 93.76 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 5.76 (เป้าหมายร้อยละ 96) และเบิกจ่ายรายจ่ายประจำได้จำนวน 1,171.85 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 1,188.20 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 98.62

นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งออกกฎหมายลำดับรองและแนวปฏิบัติ จำนวน 63 ฉบับ เพื่อให้หน่วยงานปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง และคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงมีการจัดอบรมหลักสูตรมาตรฐานวิชาชีพด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปีที่ผ่านมา มีหน่วยงานภาครัฐเข้าใช้งานในระบบ e-GP จำนวน 195,768 ราย และมีผู้ค้ากับภาครัฐลงทะเบียนในระบบ e-GP จำนวน 244,776 ราย ในส่วนของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 (ต.ค. 60 – ก.ค. 61) มูลค่าที่จัดหาได้ 867,051 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณ 938,701 ล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณได้ 71,650 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.63% และในอนาคต กรมบัญชีกลางจะเริ่มให้หน่วยงานของรัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับงานจ้างออกแบบและควบคุมงานได้ในเดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นไป รวมทั้งจะปรับปรุงและพัฒนาต่อยอด เพื่อตอบสนองการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาระบบประกวดราคานานาชาติ (international bidding) การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์

นางสาวสุทธิรัตน์กล่าวต่อว่า การดำเนินการด้านความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง หลังจากกรมบัญชีกลางได้เริ่มให้หน่วยงานจัดทำข้อตกลงคุณธรรม มีหน่วยงานเจ้าของโครงการสนใจเข้าร่วมมากขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2561 มีโครงการที่เข้าร่วม จำนวน 32 โครงการ มีมูลค่าโครงการรวม 905,283.48 ล้านบาท ซึ่งทำให้ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 21,367.89 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 53.01 สำหรับการนำโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative : CoST) มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในปี 2561 มีการคัดเลือกโครงการก่อสร้างภาครัฐเข้าร่วมโครงการ CoST จำนวน 147 โครงการ มีมูลค่าการก่อสร้างรวม 113,665 ล้านบาท รวมทั้ง ได้ขยายผลการตรวจสอบไปยังราชการส่วนท้องถิ่นอีกด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้โครงการก่อสร้างภาครัฐมีคุณภาพมากขึ้น ลดช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างความมั่นใจเกี่ยวกับกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ให้กับทุกภาคส่วน ในส่วนของการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง กรมบัญชีกลางได้เป็นคณะกรรมการซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

นอกจากนี้กรมบัญชีกลางได้กำกับ เร่งรัด ติดตามและตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 – ปัจจุบัน มีดังนี้ 1. พิจารณาตรวจสอบโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 โครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 2. ตรวจสอบ TOR ของโครงการต่าง ๆ ของรัฐที่ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งมีวงเงินสูงหรือเป็นโครงการของรัฐที่อยู่ในความสนใจของประชาชนย้อนหลัง 3 ปี จำนวน 9 โครงการ และ 3. พิจารณาตรวจสอบโครงการการจัดจ้างผลิตและให้บริการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 (E – PASSPORT PHASE 3)

Advertisment