ดอลลาร์แข็งค่าหลังนักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม 2561 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/10) ที่ระดับ 32.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (24/10) ที่ระดับ 32.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากความต้องการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย จากความไม่แน่นอน ในประเด็นของเงื่อนไขที่สหราชอาณาจักรจะได้รับในการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป และแผนร่างงบประมาณรัฐบาลประจำปี 2562 ของประเทศอิตาลี นอกจากนั้นในช่วงวานนี้ (24/10) ไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนี PMI รวมภาคการผลิต ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.9 และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.7 ในเดือนตุลาคม ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 55.4 และ 54.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 121 เขต หรือ “Beigs Book” เมื่อวานนี้ (24/10) โดยระบุว่า เศรษฐกิจในเขตส่วนใหญ่มีการขยายตัวเล็กน้อยจนถึงปานกลาง แม้ผู้ประกอบการภาคเอกชนกำลังเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการการค้า ภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีคุณสมบัติเพียงพอ และราคาต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งทางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.88-32.96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.90/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/10) ที่ระดับ 1.1404/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (24/10) ที่ระดับ 1.1419/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยเมื่อวานนี้ (24/10) ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นประจำเดือนตุลาคมของสหภาพยุโรป ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือนที่ระดับ 52.1 และ 53.3 ซึ่งต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 53.0 และ 54.5 ตามลำดับ

นอกจากนั้นค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง จากประเด็นเรื่องการร่างงบประมาณรายจ่ายภาครัฐประจำปี 2562 ของประเทศอิตาลี โดยรัฐบาลอิตาลีได้เพิ่มตัวเลขขาดดุลงบประมาณสู่ระดับ 2.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งทางสหภาพยุโรปมีความคิดเห็นว่างบประมาณรายจ่ายดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงเกินไป เนื่องจากประเทศอิตาลีมีภาระหนี้ภาครัฐเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ถึงแม้สหภาพยุโรปจะมีนโยบายที่ผ่อนปรนให้ประเทศในสหภาพยุโรปสามารถมีงบประมาณขาดดุลได้สูงสุดถึงร้อยละ 3 ของ GDP โดยล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (23/10) คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ปฏิเสธร่างงบประมาณประจำปี 2562 ของอิตาลี และขอให้รัฐบาลอิตาลียื่นส่งร่างงบประมาณฉบับใหม่ภายในเวลา 3 สัปดาห์ มิฉะนั้นจะเผชิญกับการดำเนินการทางวินัย ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1388-1.1420 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1410/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/10) ที่ระดับ 111.89/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (24/10) ที่ 112.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากความไม่แน่นอนในประเด็นของเงื่อนไขที่สหราชอาณาจักรจะได้รับจากการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปและแผนร่างงบประมาณรัฐบาลประจำปี 2562 ของประเทศอิตาลี รวมทั้งสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบีย อีกทั้งดัชนีหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลดลง โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา (24/10) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวน์โรจน์ปิดที่ 24,583.42 จุด ร่วงลง 608.01 จุด หรือร้อยละ -2.41 ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,108.40 จุด ลดลง 329.14 จุด หรือร้อยละ -4.43 และดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,656.10 จุด ลดลง 84.59 จุด หรือร้อยละ -3.09 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.81-112.35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.26/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางยุโรป (25/10) ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ (25/10) ผลิตภัณฑ์มวลรวมประจำไตรมาสที่ 3 ของสหรัฐ (26/10) และแถลงการณ์ประธานธนาคารกลางยุโรป (26/10)

Advertisment

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.9/-1.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.0/-0.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

Advertisment

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”