SCBS ชี้ยกเลิกภาษี LTF กระทบชัดปี’63 คาด บลจ.ออกกองทุนใหม่ดึงเม็ดเงินรองรับแทน

นายพรเทพ ชูพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เปิดเผยว่า ผลกระทบในการยกเลิกภาษีกองทุน LTF คาดว่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบในปีนี้และปีหน้า แต่จะเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนในปี 63 เนื่องจากจะมีเม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้นราว 7 หมื่นล้านบาท จากคนที่ถือ LTF และครบกำหนดอายุในช่วงปี 62 โดยปัจจุบันเม็ดเงินกองทุน LTF ทั้งหมดอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินที่ไหลออกคาดว่าจะไม่ได้ออกทีเดียวทั้งหมด เพราะการลงทุนในกองทุน LTF จะต้องถือครองให้ครบกำหนดตามระยะเวลา 7 ปี ซึ่งทุกวันนี้นักลงทุนต่างชาติเทขาย 2.5-4 หมื่นล้านบาทต่อเดือน และนักลงทุนสถาบันเทขายในแต่ละเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท โดยผลกระทบไม่ถึง 1% ต่อดัชนี เพราะนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยไปแล้ว 3 แสนล้านบาท มีผลกระทบต่อดัชนีปรับตัวลดลงแค่ 6% ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังสามารถปรับตัวและประคองตัวไปได้

“ทุกปีที่หุ้นผันผวนหรือปรับตัวลงแรงจะเห็นเม็ดเงินไหลเข้ากองทุน LTF มากกว่าปกติ โดยเมื่อวานที่เห็นนักลงทุนสถาบันซื้อเข้ามาส่วนใหญ่ซื้อกองทุน LTF ซึ่งถือเป็นตัวช่วยตลาดเวลาเกิดปัญหา แต่ถ้าไม่มีกองทุน LTF ในภาพรวมไม่ได้กังวลขนาดนั้น เพราะส่วนมากกองทุน LTF เงินไหลเข้าปลายปีแต่ไหลออกช่วงต้นปี”

อย่างไรก็ตามประเมินว่ากองทุน LTF มีก็ถือว่าดีที่จะช่วยตลาดเมื่อเกิดปัญหา แต่ถ้าไม่มีก็ไม่น่ากังวล ซึ่งในคนที่อยู่ในวงการเงินสนับสนุนที่จะมีกองทุนให้คนไทยรู้จักการออมระยะยาว ซึ่งอาจจะเห็น บลจ.มีการออกโปรดักต์ใหม่ๆ เพื่อมาดึงดูดเม็ดเงินที่จะไหลออกจากกองทุน LTF

ส่วนทิศทางตลาดหุ้นไทย นายพรเทพ กล่าวว่า บริษัทยังคงเป้าดัชนีสิ้นปีที่ระดับ 1,900 จุด แม้ว่าช่วงโค้งท้ายปีตลาดหุ้นไทยจะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่างประเทศ แต่ตลาดยังมีแรงหนุนจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจในประเทศที่ค่อนข้างเติบโตดี ซึ่งจะหนุนทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียนไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่ากำไร บจ.ทั้งปีนี้จะเติบโตประมาณ 7-10% จากปีก่อน ประกอบกับช่วงปลายปีเริ่มเห็นสัญญาณเม็ดเงินไหลเข้าซื้อกองทุน LTF-RMF เข้ามาช่วยสนับสนุนให้ดัชนีปรับตัวขึ้นไปได้ โดยคาดว่าสิ้นปีดัชนีน่าจะเกินระดับ 1,800 จุดแน่นอน แต่จะถึงเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ยังต้องรอลุ้นอยู่

“นอกเหนือจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่เป็นแรงส่งให้ตลาดหุ้นไทยมีทิศทางดีขึ้นแล้ว ยังมีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เติบโตสูงสุดในรอบ 4 ปีโดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนจีนเพื่อเลี่ยงผลกระทบสงครามการค้า โดยพบว่ามีสัดส่วนมากถึง 18.5% ที่ต้องการย้ายฐานเข้ามาอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศหลักๆ คือ ไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย” นายพรเทพกล่าว

ทั้งนี้อานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจและเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่เข้ามาค่อนข้างมาก คาดว่าช่วงไตรมาส 4/61 กลุ่มหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์มากที่สุดคือ หุ้นนิคมอุตสาหกรรมและธนาคารพาณิชย์ เพราะว่านักลงทุนต่างชาติมีความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นด้วย ประกอบกับภาระหนี้เสียที่จะปรับตัวน้อยลง รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยของแบงก์ชาติที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจะหนุนทำให้กำไรของแบงก์เพิ่มสูงขึ้น

นายพรเทพ กล่าวว่า ในปี 62 คาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนไทยน่าจะเติบโต 7-10% ใกล้เคียงกับปีนี้ ซึ่งจะส่งผลทำให้ดัชนีมีโอกาสขึ้นไปถึงระดับ 2,000 จุดได้ โดยมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นช่วงหลังจากการเลือกตั้งรอบหนึ่งและปรับฐาน ส่วนทิศทางในปีหน้าแม้ว่า IMF จะปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกลดลงเหลือ 3.7% แต่ประเมินว่าเป็นแค่การชะลอตัวเท่านั้นยังไม่ใช่วิกฤตแต่อย่างใด เนื่องจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังไม่มีสัญญาณของความร้อนแรงจนอันตราย ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อก็มีไม่มาก รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดรอบนี้เป็นการปรับขึ้นที่ช้ามากใช้เวลา 3 ปีในการขึ้นดอกเบี้ยได้ 2% ต่างจากรอบก่อนๆ ที่ใช้เวลาเพียงปีเดียวในการขึ้นดอกเบี้ยระดับดังกล่าว