ธ.ก.ส.จัดอีเวนต์ปฏิรูปเกษตร ดึง”ปณท.-ค้าปลีก”จับคู่777สหกรณ์

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ธ.ก.ส.จัดอีเวนต์ใหญ่ “ปฏิรูปภาคการเกษตร” รับมือสงครามการค้า 23-25 พ.ย.นี้ ดึงหัวขบวนเอสเอ็มอีเกษตร 9,700 ราย จับคู่ธุรกิจหาช่องจำหน่ายผ่าน “โมเดิร์นเทรด-อีคอมเมิร์ซ” เปิดตัวเลข 4 ปียุค คสช. อัดสินเชื่อดูแลภาคเกษตรเฉียด 5 ล้านล้านบาท

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 23-25 พ.ย.นี้ ธ.ก.ส.จะเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรม “สานพลังปฏิรูปภาคการเกษตรไทย โดยกลไกตลาดอย่างยั่งยืน” ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน ณ เมืองทองธานี ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดงาน ให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้า จับคู่ธุรกิจ และประกาศนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรปี 2562

“ปี 2562 จะสร้างความยั่งยืน ต่อยอด เริ่มจากมาตรการลดภาระหนี้ เพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตร ตามมติ ครม. 31 ก.ค. 2561 เริ่มพักหนี้เดือน ส.ค.”

ในระหว่าง 3 ปีที่พักหนี้ ธ.ก.ส.จะปฏิรูปภาคเกษตรเต็มที่ เริ่มตั้งแต่ช่วง ต.ค. 61-มี.ค. 62 ปัจจุบัน ธ.ก.ส.มีลูกค้าสหกรณ์ และเอสเอ็มอีหัวขบวนที่มีสินค้าเกษตรแปรรูป และจำหน่าย สร้างมูลค่าเพิ่มอยู่ 9,700 ราย

นายอภิรมย์กล่าวว่า ในงานมหกรรมจะนำสหกรณ์ โมเดิร์นเทรด ทั้งบิ๊กซี, โลตัส, เดอะมอลล์ ฯลฯ รวมถึง บจ.ไปรษณีย์ไทย ที่ปัจจุบันทำอีคอมเมิร์ซ “ไทยแลนด์ โพสต์ มาร์ท” มาร่วมในฐานะช่องทางการจำหน่ายสินค้า สนับสนุนหัวขบวนทั้ง 9,700 ราย ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะทำหน้าที่ที่มากกว่าการเป็นธนาคาร โดยช่วยทำมาร์เก็ตติ้ง รวมถึงจัดให้มีช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชน

Advertisment

นอกจากนั้น ธ.ก.ส.ได้จัดให้มี “ตลาดของดีวิถีชุมชน” ปัจจุบันมี 278 แห่ง ตั้งอยู่ด้านหน้าสาขา ธ.ก.ส. เปิดให้ชุมชนนำสินค้าเกษตรแปรรูป และอาหารปลอดภัยมาวางขาย ใช้กระบวนการสหกรณ์บริหารจัดการ ตั้งชื่อว่า ร้าน A-shop โดยคัดสินค้าดี ๆ เข้ามาขาย นำร่องบางสาขาแล้ว และจะเชื่อมแพลตฟอร์มกับไปรษณีย์ไทย และ ธ.ก.ส.จะเปิดแพลตฟอร์มใหม่ A-Farm Mart วันที่ 23 พ.ย.นี้

นโยบาย ธ.ก.ส.กำหนดปี 2561 เป็นปีแห่งการฟื้นฟูสหกรณ์และเกษตรกรลูกค้า พัฒนาระบบงาน สานต่องานเอสเอ็มอี บริการดีจากใจ โดยมีสหกรณ์ที่มีความพร้อม 777 แห่ง รัฐบาลจัดงบฯพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แล้วเป็นหัวหอก และมีเป้าหมายชัดว่า จะเป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปภาคการเกษตร โดยเฉพาะพืชหลักทั้งข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ฯลฯ

อย่างไรก็ดี กระทรวงเกษตรฯมียุทธศาสตร์แก้ปัญหาพืชหลักแต่ละชนิดชัดเจน อย่างข้าวตั้งเป้าลดพื้นที่ข้าวนาปรังให้ได้ 2 ล้านไร่ในปีนี้ โดยส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตชลประทาน เกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยแค่ 0.1% และรัฐบาลช่วยชดเชย 3.99% รวมถึงกำหนดราคารับซื้อ ส่วนข้าวนาปีจะเน้นปลูกข้าวที่มีคุณภาพและผลผลิตมากขึ้น จะเริ่มฤดูเพาะปลูกรอบหน้า ยางพาราเป้าหมายลดพื้นที่ปลูก 1 ล้านไร่ใน 2 ปี ส่วนข้าวโพดได้ลงนามกับสมาคมพืชไร่ จะปลูกข้าวโพดหลังนา 2 ล้านไร่ ช่วงฤดูปลูกข้าวนาปรัง ปี 2561/2562

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงระหว่างปีบัญชี 2557-2560 รวม 4 ปีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อเพื่อการเกษตรรวมทั้งสิ้น 4,940,528 ล้านบาท แบ่งเป็น ปีบัญชี 2557 จำนวน 1,089,764 ล้านบาท ปีบัญชี 2558 จำนวน 1,204,419 ล้านบาท ปีบัญชี 2559 จำนวน 1,277,044 ล้านบาท และปีบัญชี 2560 จำนวน 1,369,301 ล้านบาท

Advertisment