เร่งขาย”หุ้นกู้”หนีดบ.ขาขึ้น รับมือครบดีล 5.6 แสนล้านต้นทุนพุ่ง

ธุรกิจดิ้นเร่งขาย “หุ้นกู้” ช่วงโค้งท้ายปี หลบดอกเบี้ยขาขึ้น เฉพาะ 2 เดือนสุดท้ายทะลุแสนล้าน ส.ตราสารหนี้ไทยเผยปี”62 ต้นทุนหุ้นกู้พุ่ง จับตาบริษัทกลาง-เล็กเจอปัญหาระดมทุนลำบาก หวั่นกระทบหุ้นกู้ครบดีลปีหน้ากว่า 5.6 แสนล้าน ยักษ์ใหญ่ “ไมเนอร์-บางจาก-เสนา-เพอร์เฟค-เอสซี แอสเซท-ทรูมูฟ เอช” พาเหรดเข้าคิวขายหุ้นกู้ล็อกต้นทุน

2 เดือนสุดท้าย หุ้นกู้ร้อนแรง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นที่ชัดเจนในปีหน้า ทำให้ขณะนี้ภาคธุรกิจมีความเคลื่อนไหวในการระดมทุนก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ พบว่าในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2561 มีบริษัทที่เสนอออกตราสารหนี้ใหม่ ทั้งในส่วนหุ้นกู้และตั๋วบี/อี รวมมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านบาท รวมทั้งยังมีหลายบริษัทที่ยื่นไฟลิ่งกับ กลต.แล้ว แต่ยังไม่ระบุวงเงินระดมทุน อาทิ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (ของตระกูลสิริวัฒนภักดี), บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ เป็นต้น

ในส่วนของบริษัทที่ยื่นขออนุมัติขายหุ้นกู้ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายมีกว่า 30 บริษัท รวมมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนที่ยื่นขอขายตั๋วบี/อี มีเกือบ 20 บริษัท วงเงินรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ พบว่าอัตราผลตอบแทนการขายตราสารหนี้ปัจจุบันขยับขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ หุ้นกู้ของพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค อายุ 3 ปี 6เดือน อัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี, หุ้นกู้ของ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 4.661% ต่อปี, เสนาดีเวลลอปเม้นท์ อายุ 3 ปี 2 เดือน ดอกเบี้ย 4.6% ต่อปี และทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น อายุ 9 เดือน ดอกเบี้ย 3.20% ต่อปี ขณะที่ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ดีเวลลอปเม้นท์ อสังหาฯน้องใหม่มาแรง ออกหุ้นกู้ 9 เดือน ดอกเบี้ย 7% ต่อปี เป็นต้น

บริษัทกลาง-เล็กระดมทุนยาก

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2562 จะเข้าสู่ภาวะที่ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการออกหุ้นกู้สูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทส่วนใหญ่จะยังตัดสินใจออกหุ้นกู้ โดยเฉพาะบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ หรือบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากดอกเบี้ยในการออกหุ้นกู้ยังต่ำกว่าดอกเบี้ยจากการกู้เงินธนาคาร นอกจากนี้ เสนอขายหุ้นกู้จะระดมทุนได้มากกว่าการไปขอกู้เงินจากธนาคาร ทำให้มองภาพปีหน้าว่าบริษัทส่วนใหญ่จะยังระดมทุนผ่านตลาดทุนอยู่

ขณะที่ในส่วนของการต่ออายุหุ้นกู้ (roll over) บริษัทขนาดกลางถึงเล็กอาจได้รับผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในปีหน้า เพราะจะมีต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตามไปด้วย และกรณีบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือน้อยอาจทำให้หุ้นกู้ที่ออกมาขายได้ยาก และอาจส่งผลให้ไม่มีเงินทุนพอที่จะไปโรลโอเวอร์หุ้นกู้ที่ครบอายุได้ ซึ่งในกรณีที่บริษัทไม่สามารถชำระหนี้ หรือขาดเงินทุนที่จะนำไปไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ บริษัทก็อาจจะต้องหันไปใช้เงินกู้จากธนาคาร ซึ่งมีดอกเบี้ยที่สูงกว่า ทั้งยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน เป็นต้น โดยปีหน้าจะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอายุราว 5.6 แสนล้านบาท

นางอริยากล่าวว่า ปีหน้าการออกหุ้นกู้ที่ไม่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (nonrated bond) หรือบริษัทที่ไม่เป็นที่รู้จัก มีแนวโน้มจะระดมทุนลำบากขึ้น ขายยาก หรือขายหุ้นกู้ไม่หมด ซึ่งอาจต้องมีการนำหลักทรัพย์มาค้ำประกัน คล้ายกับการกู้เงินผ่านธนาคาร จึงจะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่น

สำหรับการออกตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วบี/อี ปัจจุบันมีจำนวนลดลงกว่า 50% หลังผู้ลงทุนยังมีประสบการณ์ไม่ดีจากกรณีผิดนัดชำระหนี้ของ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) และ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ที่ปัญหายังไม่สามารถคลี่คลายได้ โดยเกณฑ์ใหม่ ผู้ที่ออกตั๋วบี/อีได้ คือ สถาบันการเงิน ส่วนบริษัทกลางถึงเล็กแทบจะไม่มีการออกตั๋วบี/อีแล้ว ยกเว้นการออกเพื่อขายในวงจำกัดไม่เกิน 10 ราย เช่น บุคคลรู้จัก ผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัท และผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) เป็นต้น

ต้นทุนหุ้นกู้ขยับขึ้น 0.60%

แหล่งข่าวจากสมาคมตลาดตราสารหนี้เปิดเผยว่า ปี 2562 จะมีหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ครบอายุไถ่ถอนราว 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะเห็นการออกตราสารหนี้เพื่อต่ออายุในส่วนนี้ และต้องเผชิญกับต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น โดยปัจจุบันก็เริ่มเห็นต้นทุนการออกหุ้นกู้ขยับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี อาทิ หุ้นกู้ที่มีเครดิตเรตติ้ง A ระยะเวลา 3 ปี ปัจจุบันเครดิตสเปรด (ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาล) อยู่ที่ 0.75% ส่วนระยะ 5 ปี เครดิตสเปรดอยู่ราว 1%

“บริษัทที่ออกหุ้นกู้ตอนนี้เทียบกับต้นปี ต้นทุนก็ห่างกันเยอะแล้ว โดยหุ้นกู้เรตติ้ง A ระยะ 3 ปี yield (อัตราผลตอบแทน) ต้นปีอยู่ที่ 2.28% แต่ตอนนี้อยู่ที่ 2.8% ต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นราว 60 bps (0.60%) ถ้าเป็นระยะ 5 ปี ยีลด์ต้นปีอยู่ที่ 2.71% ตอนนี้อยู่ที่ 3.28% เพิ่มขึ้นราว 57 bps (0.57%) และถ้าดอกเบี้ย กนง.ปรับขึ้น 0.25% ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นก็ต้องปรับเพิ่มตามอย่างน้อย 0.25% ซึ่งก็จะกระทบต้นทุนการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นอีก

ขณะที่ตลาดมีการประเมินว่า สภาพคล่องตลาดเพิ่มขึ้นไม่มาก เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลจะมีการลงทุนโครงการใหญ่ก็จะต้องใช้เงินกู้เยอะเช่นกัน ฝั่งเอกชนจะมีการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบอายุอีก หากหุ้นกู้บริษัทที่มีผลประกอบการดี ก็ไม่มีปัญหาการโรลโอเวอร์ แต่บริษัทไหนที่มีปัญหาผลประกอบการ ก็อาจมีประเด็นเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ที่ต้องติดตาม” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับการออกตราสารหนี้ปีนี้ คาดว่าจะถึงราว 8.8-9 แสนล้านบาท โดยช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ออกมาแล้ว 7.7 แสนล้านบาท ภาคธุรกิจที่ออกหุ้นกู้มากสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม นำโดย บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ นำโดย บมจ.แสนสิริ บ.เอฟ แอนด์ เอ็น ของเจ้าสัวเจริญ และกลุ่มไอซีที และในช่วง 2 เดือนสุดท้าย มีหุ้นกู้ที่จ่อออกอีกจำนวนมาก ทำให้คาดว่าจะได้ยอดเป็นไปตามเป้าหมายแน่นอน

ปีหน้าหุ้นกู้ครบอายุ 5.6 แสน ล.

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ในปีหน้าจะมีหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนมูลค่ารวม 565,583 ล้านบาท โดย 5 อุตสาหกรรมแรกที่มีกำหนดชำระสูงสุด ได้แก่ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ 1.02 แสนล้านบาท กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค 8.72 หมื่นล้านบาท กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 8.32 หมื่นล้านบาท กลุ่มธนาคาร 7.51 หมื่นล้านบาท และกลุ่มพาณิชย์ 6.94 ล้านบาท ส่วนในปี 2563 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระอีก 548,236 ล้านบาท

โดยกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ มีมูลค่าสูงสุดที่ 1.08 แสนล้านบาท กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 1.05 แสนล้านบาท กลุ่มวัสดุก่อสร้าง 6.12 หมื่นล้านบาท กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค 5.6 หมื่นล้านบาท และกลุ่มธนาคาร 5.39 หมื่นล้านบาท

หนีดอกเบี้ยขาขึ้นปีหน้า

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มการออกตราสารหนี้ปีหน้าจะใกล้เคียงกับปีนี้ เนื่องจากในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ภาคธุรกิจมีการเร่งออกหุ้นกู้กันก่อนที่จะเห็น กนง.ขยับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้ (19 ธ.ค. 2561) อีก 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% โดยต้นทุนที่ออกช่วงนี้ก็อาจขยับขึ้นบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็คิดว่าดีกว่าจะมาออกตอนหลังปรับขึ้นดอกเบี้ย อีกอย่างภาคธุรกิจก็ยังจำเป็นต้องออกหุ้นกู้กันอยู่ แม้ว่าต้นทุนดอกเบี้ยจะสูงขึ้นก็ตาม

“อย่างไรก็ตาม เรามองว่าดอกเบี้ย กนง.ที่ขยับขึ้น 0.25% ไม่ได้เป็นนัยมากนัก ส่วนตั๋วบี/อีที่ออกกันเยอะในปีนี้ ผู้ออกก็ยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เข้าจัดเครดิตเรตติ้ง ยอมจ่ายดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ แต่ก็ยังถือว่าถูกกว่าดอกเบี้ยแบงก์ขณะที่ผู้ที่ออกตั๋วบี/อีก็เป็นบริษัทที่มีกระแสเงินสดและกิจการมีกำไร ปีหน้าแม้ดอกเบี้ยจะขึ้น แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ได้แย่ แค่ชะลอตัว ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจยังโตได้ถึง 3-4% ธุรกิจก็ไม่น่าจะแย่ โอกาสการผิดนัดชำระหนี้ก็มีน้อย”

นายวินประเมินว่า น่าจะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในเดือน ธ.ค. 61 นี้ ส่วนปีหน้ามองว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เท่านั้น หรืออาจไม่ขึ้นก็เป็นได้เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ลดลงมา โดยประเมินว่าจะอยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งอาจทำให้เงินเฟ้อทั่วไปลงต่ำกว่ารอบเป้าหมายเงินเฟ้อได้ จากก่อนหน้านี้ เคทีบีคาดการณ์ปีหน้าจะเห็น กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง ภายใต้ราคาน้ำมันดิบ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการพิจารณาของ กนง.

เอกชนเร่งออกหุ้นกู้เร็วขึ้น

นายธนาวุฒิ พรโรจนางกูร หัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บางกอกแคปปิตอล กล่าวว่า ช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เห็นบริษัทเอกชนเร่งการออกหุ้นกู้มาก แม้ว่าดอกเบี้ยที่เสนอขายจะขยับขึ้นสูงบ้างก็ตาม เพราะตลาดประเมินกันว่า มีแนวโน้มสูงที่ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในปลายปีนี้ และอาจจะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในระยะ 6 เดือนถัดไป ช่วงไตรมาสแรกปีหน้าเทรนด์การออกหุ้นกู้ซาลง และหลังจากนั้นจะมีบริษัทกลับมาออกหุ้นกู้มากขึ้นอีกครั้ง

“คนที่เร่งออกหุ้นกู้ช่วงนี้ก็จะเป็นการเลื่อนมาจากแผนจะออกในปีหน้า เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าจะต้องใช้เงินทำอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อโรลโอเวอร์ตัวเก่า หรือใช้เพื่อลงทุนใหม่ ๆ โดยตอนนี้ยอมถือเงินสดไว้ก่อน แม้ว่าจะใช้เงินจริง ๆ ในปีหน้า แต่ในส่วนของตั๋วบี/อีจะมีความเสี่ยงปีหน้าที่ต้นทุนอาจสูงมาก เพราะเป็นที่รู้กันว่าแบงก์ชาติอยากขึ้นดอกเบี้ย เพราะที่ผ่านมาดอกเบี้ยต่ำนาน จนเกิด search for yield (แสวงหาผลตอบแทนสูง) เยอะมาก และการลงทุน ตั๋วบี/อีก็เป็นตัวหนึ่งที่คนเข้ามา search for yield ดังนั้น การโรลโอเวอร์ตั๋วบี/อีก็อาจมีความเสี่ยงอยู่ แต่ไม่มาก” นายธนาวุฒิกล่าว

สำหรับฝั่งของผู้ลงทุน นายธนาวุฒิ กล่าวว่า นักลงทุนไทยก็ยังมีความต้องการลงทุนหุ้นกู้อย่างต่อเนื่องในปีหน้า เพราะหุ้นกู้เก่าที่ถือครบอายุก็อยากจะถือต่อในเวลาที่ดอกเบี้ยขาขึ้น โดยปกติแต่ละปีจะมีการออกหุ้นกู้เพื่อโรลโอเวอร์ สัดส่วนราว 75% และเป็นหุ้นกู้ใหม่เพื่อลงทุนไม่ถึง 25% ในส่วนของนักลงทุนต่างชาติจะไหลเข้าน้อยลง หลังจากที่เมื่อกลางเดือน พ.ย. ธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเฟดลดลง โดยอาจเหลือ 1-2 ครั้งในปีหน้า จะส่งผลต่อเงินดอลลาร์แข็งค่าช้าลง ช่วยลดความกังวลปัญหาค่าเงินของตลาดเกิดใหม่ นักลงทุนต่างชาติจะไปลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทำให้เห็นเงินต่างชาติไหลออกจากไทย เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทย ณ สิ้น พ.ย. 61 อยู่ที่ 9.86 แสนล้านบาท จากสิ้นปีที่แล้วอยู่ที่ 8.51 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 1.34 แสนล้านบาท หรือ 15%

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!