เหลียวหลังแลหน้า Fund Flow ในตราสารหนี้ไทยปี 2561

คอลัมน์ สถานีลงทุน

โดย ศิรินารถ อมรธรรม สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจในโลกมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ผ่านกลไลต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญและสามารถเปลี่ยนแปลงภายในระยะเวลาอันสั้น คือกระแสเงินลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินของนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับประเทศไทยในปี 2561 กระแสเงินลงทุนในตลาดตราสารหนี้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้แค่ไหน เรามาทบทวนกันเพื่อเป็นประโยชน์ในการคาดการณ์ทิศทางของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในปีหน้า

เปิดมาต้นปี 2561 เดือนมกราคม มีประเด็นสำคัญที่กระทบต่อ fund flow (เงินทุนเคลื่อนย้าย) ทั่วโลก คือการแถลงผลงานประจำปีของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อสภาคองเกรส นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้สภาผ่านกฎหมายหลายฉบับ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้มากขึ้น ทั้งที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็อยู่ในระดับที่ดี ไม่ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เกิดความมั่นใจจนมีท่าทีที่ชัดเจนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง แต่แทนที่จะเกิดแรงเทขายตราสารหนี้ไทย กลับเป็นการเข้าซื้อสูงถึง 63,371 ล้านบาท ในเดือนมกราคม จากปัจจัยทางเศรษฐกิจของไทยที่มีความแข็งแกร่งโดยเฉพาะภาคส่งออก

หลังจากนั้นในช่วงเดือนเมษายน เศรษฐกิจโลกเริ่มมีแรงกดดันเรื่องสงครามการค้าจากการตอบโต้กันระหว่างสหรัฐและจีน ผนวกกับการที่เฟดเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างจริงจัง จึงส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (EM) เกิดแรงเทขายตราสารหนี้ในกลุ่มประเทศ EM ในเอเชียอย่างมาก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ทำให้เดือนนี้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยรวม 32,782 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับอีก 2 ประเทศ

เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง ประเด็นเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด สงครามการค้าที่ยืดเยื้อและข้อสรุปของ Brexit ยังคงเป็นประเด็นกดดันทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะต่อกลุ่มประเทศ EM เช่น อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา และตุรกี ซึ่งมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่เปราะบางเป็นทุนเดิม

แต่สำหรับประเทศไทย จากการที่มีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่ำและพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแรง เป็นแรงสนับสนุนค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ กระตุ้นการเข้าซื้อในตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมและกันยายน ที่มีเม็ดเงินเข้าซื้อรวม 57,013 ล้านบาท และ 41,272 ล้านบาทตามลำดับ

โดยสรุปจะเห็นว่าในปี 2561 แม้จะมีประเด็นจากภายนอกประเทศเกิดขึ้นมากมาย ที่ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินประเทศต่าง ๆ แต่ผลกระทบที่มีต่อตลาดตราสารหนี้ไทยค่อนข้างจำกัด เปรียบเสมือนมีร่างกายที่แข็งแรง เมื่อเจอลมเจอฝนบ้างก็ไม่ทำให้เป็นหวัดง่าย ๆตลอดทั้งปีจนถึงวันที่ 20 ธ.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนต่อเนื่องรวมแล้วกว่า 156,104 ล้านบาท มียอดถือครองสะสมที่ 980,704 ล้านบาท ซึ่งย่อลงมาเล็กน้อยจากยอดสะสมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 992,062 ล้านบาท เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 61

แต่สำหรับปี 2562 ฟ้าใหม่ที่กำลังจะมาถึง ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกดูจะมีความระทึกมากขึ้น ปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ สภาพคล่องโลกที่มีทิศทางลดลง ตลาดหุ้นที่เหมือนจะพร้อมแตกตื่นต่อทุกเหตุการณ์ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทหัวเว่ยฯที่ถูกจับตัวไปจะกลายเป็นชนวนสงครามการค้าที่เข้มข้นขึ้นหรือไม่ และข้อสรุปของ Brexit ที่ยังไม่แน่ชัด

ส่วนปัจจัยภายในก็ดูเหมือนจะด้อยลง เช่น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย อัตราเงินเฟ้อไทย มูลค่าการเกินดุลการค้า และรายได้ภาคบริการจากการท่องเที่ยวของไทยที่มีทิศทางลดลง

ดังนั้น เมื่อปัจจัยที่เคยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งแผ่วลงไป ในปีนี้ กระแสเงินลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยก็น่าจะมีความผันผวนมากกว่าในปีก่อน และมูลค่าเงินลงทุนก็ไม่น่าจะสูงเท่าในปีนี้ หรืออาจจะเห็นการไหลออกแทนได้

ซึ่งจะติดตามตลาดกันต่อไป ปีนี้ขอสวัสดีปีใหม่ โชคดี มีความสุขถ้วนหน้าค่ะ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!