คปภ.รื้อสัญญาประกันสุขภาพ ตั้งทีมร่วมเอกชนทำแผนรับลูกรัฐคุมค่ายา

คปภ.รื้อ “สัญญาประกันสุขภาพ” ฉบับเก่า ปรับปรุงไส้ในยกชั้นกรมธรรม์ให้มี “มาตรฐาน” เดียวกัน คาดเสร็จไตรมาส 2-3 นี้ ด้าน “เลขาธิการ คปภ.” ตั้ง “คณะทำงานย่อย” สั่งเก็บข้อมูลสถิติเชิงลึก แยกหมวดหมู่รายการค่ายา-ค่าบริการ ยึดกรอบ ก.สาธารณสุข คนวงในประกันเผยแก้ไขร่างสัญญาฉบับใหม่คืบหน้ากว่า 80% ส.ประกันชีวิตหวังข้อสรุปลงตัว หนุนประกันให้ความคุ้มครองที่ดีราคาเหมาะสม เอไอเอระบุพยายามคุมค่าลอสเรโช เน้นดูแลลูกค้าในระยะยาว

นางสาววราวรรณ เวชชสัสถ์ รองเลขาธิการด้านกำกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาและปรับปรุงสัญญาประกันภัยสุขภาพ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คปภ.จะทำการปรับปรุงสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐานที่ใช้มานานกว่า 10 ปี ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2-3 นี้ โดยจะพิจารณาทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขกรมธรรม์ ข้อยกเว้น และความสอดคล้องกับแผนปฏิรูปด้านสาธารณสุขของรัฐที่มีนโยบายดูแลราคาค่ายาและค่าบริการทางการแพทย์ เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่เพราะค่ารักษาพยาบาลที่สูง ทำให้คนก็คงอยากมีประกันสุขภาพ คปภ. จึงเร่งพัฒนาประกันสุขภาพให้มีมาตรฐานและมีความเหมาะสม เพื่อรองรับกับสถานการณ์สังคมไทยที่จะเกิดขึ้น

“เรื่องนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะจริง ๆ แล้วแผนปฏิรูประบบประกันสุขภาพของธุรกิจประกันภัยได้รับอนุมัติจากบอร์ด คปภ.ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้ก็ต้องทำกรมธรรม์มาตรฐานให้เป็นพื้นฐานก่อน” นางสาววราวรรณกล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะทำงานพัฒนาและปรับปรุงสัญญาประกันภัยสุขภาพครั้งแรก ซึ่งมีทั้งฝ่ายสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุขร่วมประชุม และมีนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานได้เข้าร่วมประชุมด้วย และมีความกังวลในแนวทางปฏิบัติ เลขาคปภ. จึงได้เสนอให้ตั้ง “คณะทำงานย่อย” เพื่อพิจารณารายละเอียดโดยให้เก็บข้อมูลสถิติค่ารักษาพยาบาล และแบ่งแยกหมวดหมู่ค่ารักษาแต่ละรายการให้ชัดเจนตามแนวทางประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเรื่องชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล ยาและเวชภัณฑ์ การบริการทางการแพทย์ หรือการบริการอื่นของสถาพยาบาล และสิทธิของผู้ป่วย พ.ศ. 2561 ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 62 นี้

“การแยกค่ารักษา เช่น ลอสเรโช (ค่าเคลม) ที่เกิดจากค่าห้อง ค่ายา ค่าชดเชยรายวัน ค่าผ่าตัด เป็นต้น ซึ่งจะทำให้รู้สาเหตุที่แท้จริงของความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น การออกใบเสร็จของโรงพยาบาลทุกแห่งจะแยกประเภทค่าใช้จ่ายมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ได้ให้เวลาโรงพยาบาลปรับตัวมาแล้ว 1 ปีที่ผ่านมา เพราะเดิมการจัดเก็บจะทำเฉพาะเบี้ยประกันสุขภาพและเคลมประกัน ทั้งนี้ ก็จะมีการพิจารณาดูความพร้อมของภาคธุรกิจว่าจะเก็บข้อมูลเหล่านี้ได้แค่ไหน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการเสนอตั้งคณะทำงานอีก 1 ชุด เพื่อพิจารณาการฉ้อฉลประกันสุขภาพด้วย” นางสาววราวรรณกล่าว

ส่วนที่ปรับปรุงเรื่องข้อยกเว้น นางสาววราวรรณกล่าวว่า เดิมมีบางกรณีที่ธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยอาจจะปฏิบัติไม่เหมือนกัน ในฉบับแก้ไขก็จะกำหนดให้ต้องปฏิบัติเหมือนกัน

แหล่งข่าว คปภ.กล่าวว่า ขณะนี้ คปภ.อยู่ระหว่างจัดทำร่างสัญญาประกันสุขภาพ ซึ่งแล้วเสร็จไปประมาณ 80% โดยแผนงานเรื่องนี้ คปภ.อยากทำให้เสร็จภายใน 6 เดือน

นายตัน ฮาค เลห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอ ประเทศไทย ในฐานะกรรมการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การปรับปรุงระบบประกันสุขภาพภายในสมาคม ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการทำงาน จึงยังตอบอะไรมากไม่ได้ แต่ธุรกิจประกันสุขภาพถือเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญมาก ซึ่งทางสมาคมกำลังเช็กว่าจะสามารถทำอย่างไรให้ประกันสุขภาพมีความคุ้มครองที่ดีในราคาที่เหมาะสม ซึ่งการประชุมครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้

นายเอกรัตน์ ฐิติมั่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด เอไอเอ ประเทศไทยกล่าวว่า ปัจจุบันในอุตสาหกรรมกำลังพิจารณาว่าทำอย่างไรที่จะดูแลลูกค้าในระยะยาวได้ ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราการขึ้นค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างเร็ว ซึ่งบริษัทเองพยายามคุมอัตราความเสียหาย (ลอสเรโช) ของประกันสุขภาพเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน

“การคุยกันเรามองระยะกลางถึงระยะยาว ส่วนแผนระยะสั้นประกันทุกเจ้าจะไม่ค่อยมองกันแล้ว เพราะเรามองว่าถ้าสถานการณ์ความท้าทายบางอย่างที่กระทบเราในระยะกลางและระยะยาวจะกระทบความเสียหายน้อยกว่า ซึ่งอาจต้องรอข้อสรุปอีกสักนิดหนึ่ง เพราะภายในอุตสาหกรรมเพิ่งเริ่มประชุมกัน” นายเอกรัตน์กล่าว

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!