เงินบาททยอยแข็งค่า จับตาการเจรจาสงครามการค้าจีนกับสหรัฐ

แฟ้มภาพ
เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น ขณะที่ ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น โดยเงินบาทขยับแข็งค่าในช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของค่าเงินและตลาดหุ้นในภูมิภาค ท่ามกลางความหวังว่า สหรัฐฯ และจีนอาจสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันได้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมระหว่างสัปดาห์จากความคิดเห็นที่สนับสนุนการชะลอเวลาการขึ้นดอกเบี้ยจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณอ่อนแอ โดยเฉพาะยอดค้าปลีก และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

ในวันศุกร์ (15 ก.พ.) เงินบาทกลับมาอยู่ที่ระดับ 31.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.47 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (8 ก.พ.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.15-31.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 4/61 และตัวเลขการส่งออกเดือนม.ค. ของไทย ขณะที่ จุดสนใจเพิ่มเติมในต่างประเทศน่าจะอยู่ที่ความคืบหน้าของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ประเด็นทางการเมืองภายในของสหรัฐฯ สถานการณ์ BREXIT และดัชนี PMI (เบื้องต้น) สำหรับเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ และประเทศชั้นนำอื่นๆ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ดัชนีแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนก.พ. ยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนธ.ค. รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง และบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 29-30 ม.ค.

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับที่ 1,636.94 จุด ลดลง 0.89% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 6.57% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 43,180.35 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ลดลง 0.56% มาปิดที่ 383.22 จุด

Advertisment

ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงในช่วงต้นสัปดาห์ จากแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันและกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ก่อนจะฟื้นตัวได้ในเวลาต่อมาตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะชัตดาวน์ และมีปัจจัยหนุนจากความคาดหวังเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ปรับลดลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศแกนหลักของโลก หลังสหรัฐฯ และจีนเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ตลาดยังรอผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (18-22 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,630 และ 1,610 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,665 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง รวมถึงสถานการณ์ BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ บันทึกการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค. ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดฟิลาเดลเฟียและดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนก.พ. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ รายงานการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป ดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนก.พ. ของยูโรโซน และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. ของญี่ปุ่น

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

Advertisment

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!